ผู้บริหารทุกคน ไม่ว่าจะระดับสูงหรือกลาง ต่างมีภาระรับผิดชอบที่หนักหน่วง เพราะนอกจากต้องบริหารธุรกิจให้ได้อย่างราบรื่นแล้ว พวกเขายังต้องแบ่งเวลาไปบริหารชีวิตส่วนตัวพร้อมๆ กันด้วย ผู้บริหารหลายคนจึงพยายามผ่อนคลายความเครียดด้วยการเล่นกีฬา เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรามาติดตามกันว่า ผู้บริหารองค์กรดังๆ แต่ละคนชื่นชอบกีฬาชนิดใด เพราะอะไร และใช้กีฬาในการพัฒนาตัวเองแบบไหนกันบ้าง
ไมค์ ดาวี ผู้ก่อตั้ง Quadrant Protocol บริษัทให้บริการฐานข้อมูลในสิงคโปร์
ไมค์ ดาวี (Mike Davie) หลงใหลกีฬาเอ็กซ์ตรีมมาอย่างยาวนาน ตอนแรกเขาเล่นสกี และปีนเขา ก่อนจะหันมาวิ่งระยะทางไกลเพื่อเลิกบุหรี่
“ผมเริ่มจากการวิ่ง 10 กิโลเมตร ก่อนพัฒนาไปเป็นการวิ่งฮาล์ฟมาราธอน จากนั้นก็เปลี่ยนไปเล่นไตรกีฬา (Triathlons) ก่อนที่จะไปลองลงแข่งในทัวร์นาเม็นต์ไตรกีฬาแบบออฟโรด ซึ่งบริหารจัดการ โดย เอ็กซ์เทอร์ร่า (XTERRA)”
เมื่อแข่งรายการหนึ่งเสร็จ เขาจะเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
“ไตรกีฬาช่วยให้ผมสามารถพัฒนาตนเองไปได้ถึงขีดสุด ผมต้องฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต้องหาวิธีการพัฒนาตัวเอง ต้องทำหลายๆสิ่ง ที่ในเวลาปกติแล้วผมจะไม่ทำ และผมยังได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของชีวิตและการทำงานด้วย”
ดาวี กล่าวว่า การเล่นไตรกีฬาเปรียบเสมือนการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งเป็นการเดินทางอันแสนยาวไกล และเหน็ดเหนื่อย ผ่านเส้นทางสวยงามที่เต็มไปอุปสรรคทุกย่างก้าว แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่การไปให้ถึงเส้นชัย หากเป็นการเดินถึงเส้นชัยพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมทาง ซึ่งก็คือ เพื่อนของเขา ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และหุ้นส่วนของบริษัท
“ทั้งการแข่งไตรกีฬาแบบออฟโรด และการตั้งบริษัทสตารท์อัพให้ประสบความสำเร็จนั้น ภายในหัวของคุณจะมีความคิดอยู่สองอย่างคือ ความคิดที่อยากจะหยุด กับความคิดที่อยากจะลุยต่อ”
Rohith Murthy ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหารประจำภูมิภาค SingSaver บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินในสิงคโปร์
เด็กที่เกิดในประเทศอินเดียช่วงยุคทศวรรษ 80 ย่อมโตขึ้นมาพร้อมๆ กับกีฬาคริกเกต (Cricket) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากประเทศอินเดียได้แชมป์โลกในการแข่งขัน
“ตอนนั้นครอบครัวผมยังไม่มีโทรทัศน์ ผมกับพ่อเลยต้องฟังเสียงผู้บรรยายพูดทางวิทยุ นักกีฬาคริกเกตสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ของผมเลย” นายโรหิต เมอร์ธี่ (Rohith Murthy) กล่าว
หากเมอร์ธี่ก็มิได้เติบโตเป็นนักกีฬาคริกเกต เพราะในช่วงที่เขาเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขาได้รู้จักกับกีฬาเทนนิสผ่านทางโทรทัศน์ และตกหลุมรักมันเข้าอย่างจัง
“หลังจากผมได้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ และจบออกมาทำงานอยู่ในโรมาเนีย เทนนิสก็ได้กลายเป็นกีฬาโปรดของผมไปแล้ว”
Murthy เล่าว่าโดยปกติเขาจะเล่นเทนนิส 2-3 วันต่อสัปดาห์ในช่วงเช้าก่อนเริ่มงาน ส่วนวันที่เหลือจะเข้ายิมไปออกกำลังกาย
“ผมสามารถลบเรื่องงานออกจากหัวไปทั้งหมด ระหว่างการออกกำลังกายเรียกเหงื่อ 1 ชั่วโมงในช่วงเช้า การสูบฉีดของอะดรีนาลีนทำให้ร่างกายของผมรู้สึกกระปรี้กระเปร่าไปตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังสามารถช่วยคุณในเรื่องการตั้งเป้าหมายด้วย เช่น เมื่อ 4 ปีก่อน ผมสามารถทำ pull-up ได้แค่ ครั้งเดียว แต่ผมตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่าจะต้องสามารถทำเพิ่มขึ้นได้ 1 ครั้ง ต่อทุกๆ เดือนที่ผ่านไป จนตอนนี้ ผมสามารถทำ pull-up ได้ถึง 10-20 ครั้งในยกเดียวแล้ว”
เดวิด หว่อง (David Wong) ผู้ก่อตั้ง Deemples ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Deemples” แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์สำหรับนักกอล์ฟ
เดวิด หว่อง (David Wong) เริ่มเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ขณะมีอายุ 25 ปี เหตุผลที่หว่องเลือกเล่นกอล์ฟ เนื่องจาก เขาเห็นว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนค่อนข้างนานกว่าจะชำนาญ นอกจากนี้ หัวไม้ และลูกกอล์ฟยังมีขนาดเล็ก ทำให้การตีลูกยากยิ่งกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ ที่เล่นโดยใช้ลูกบอล และไม้”
ความชื่นชอบกีฬากอล์ฟนี่เอง เป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาแอพ “Deemples” เพื่อเป็นตัวช่วยให้นักกอล์ฟสามารถติดต่อ-พูดคุยกัน และนัดออกรอบด้วยกันได้
“ผมชอบกอล์ฟเพราะว่ามันเป็นกีฬาที่ท้าทายทั้งร่างกาย และจิตใจของผม ในการตีกอล์ฟนั้น การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้คุณเหวี่ยงไม้พลาด”
หว่องกล่าวต่อไปว่า “การออกรอบ 1 ครั้งมีประโยชน์ยิ่งกว่าการเข้าประชุมทางธุรกิจหลายๆ ครั้ง ผมได้เพื่อนใหม่ๆ มากมายจากการเล่นกอล์ฟ”
สำหรับหว่อง ช่วงเวลาที่ได้หวดไม้ร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลาอันมีค่ามาก และยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกด้วย ซึ่งเขาชอบพูดเสมอว่า “ถ้าหากธุรกิจประสบความสำเร็จก็ไปออกรอบฉลองกัน และถ้าธุรกิจล่มก็จะไปออกรอบเช่นกัน เพราะคงไม่มีอะไรจะทำแล้ว”
……………………………………..
แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.entrepreneur.com/article/334686
Category: