งานสัมมนา The Givers Network 2019, Bangkok” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงเทพมหานคร โดยเครือข่าย The Givers Network” คือเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ซึ่งเชื่อมั่นในพลังแห่งการให้ มาร่วมพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และคิดเพื่อช่วยกันตอบโจทย์ปัญหาสังคม

ไฮไลท์ของงานปีนี้ คือ การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของการเป็นผู้ให้ โดยวิทยากรผู้มีชื่อเสียงจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายวัย และหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ มร.บิลล์ โซเมอร์วิลล์ ผู้ให้จากแคลิฟอร์เนีย คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ปฏิวัติการวางแผนครอบครัว ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร นักสิ่งแวดล้อมรุ่นจิ๋ว ด.ญ.ไหน แซ่เติ๋น เด็กหญิงที่ใช้ชีวิตในทุกวันด้วยการให้ และ น.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ หรือ หมอตุ่ย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ผู้อุทิศตัวเพื่อผู้ป่วยหลากเชื้อชาติ

หมอตุ่ยปันเวลานั่งคุยสบายๆ กับ Passion Gen เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นผู้ให้ ในฐานะแพทย์ชนบทที่ทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ และยังสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านและผู้ป่วยยากไร้ด้วย “หัวใจและมนุษยธรรม”

น.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ หรือ หมอตุ่ย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก

ดินแดนแห่งความห่างไกล โรคภัย และการสู้รบ

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2534 หมอตุ่ย บัณฑิตหนุ่มหมาดๆ จากคณะแพทยศาสตร์ รุ่น 1 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มีโอกาสเดินทางไปยัง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในฐานะแพทย์บรรจุใหม่ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่ง อยู่ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาร์

เวลานั้น อุ้มผางได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เดินทางลำบาก และค่อนข้างเงียบสงัด จนเขาตั้งใจว่าจะทำงานที่นี่เพียงปีเดียว แล้วขอย้ายไปที่โรงพยาบาลอื่น

ชาวบ้านอุ้มผางส่วนใหญ่เป็นคนหลากหลายชาติพันธุ์ ไร้สัญชาติ และมีชีวิตอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า โรคภัยที่พบส่วนใหญ่จึงเป็นโรคเกี่ยวกับป่า โดยชาวบ้านรักษากันตามมีตามเกิด เพราะการเดินทางมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งยากลำบาก

“เด็กๆ ที่นี่จะตัวเล็ก เพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร คนแก่ส่วนใหญ่เป็นโรคคอพอก โรคภัยไข้เจ็บเยอะมาก ตอนผมไปอยู่ใหม่ๆ จ.ตาก เป็นแชมป์มาลาเรียประเทศไทย แต่มีโรคอื่น ๆ ที่พบบ่อยด้วย เช่น โรคคอตีบ ไข้รากสาด ไข้กาฬหลังแอ่น วัณโรค ส่วนอหิวาตกโรคเคยระบาดใหญ่เมื่อปี 2539 เพราะชาวบ้านขับถ่ายของเสียลงน้ำ ทำให้เชื้อแพร่กระจายไปทั่ว จนมีคนป่วย 550 กว่าคน เสียชีวิต 77 คน” หมอตุ่ยทวนความหลังให้ฟัง

หมอยังเล่าถึงโรคที่ฟังแล้วอาจดูแปลกสำหรับคนเมืองแต่พบเจอเป็นประจำในพื้นที่ นั่นคือ โรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวบ้านกะเหรี่ยงยังนิยมคลอดลูกที่บ้านกับหมอตำแย แต่ด้วยความที่หมอตำแยมักหยิบฉวยของมีคมใกล้มือมาตัดสายสะดือเด็ก แต่ละปีจึงมีเด็กแรกเกิดเป็นบาดทะยักเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนับร้อยคน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจพอสมควร

เพียงไม่นานที่หมอตุ่ยได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านอย่างใกล้ชิดจนเข้าใจปัญหาและความเดือดร้อนมากมายของชาวบ้าน โดยเฉพาะการขาดหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ หมอตุ่ยก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะขอย้ายไปที่อื่น และมุ่งมั่นขอทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่ อ.อุ้มผางต่อไป เพราะเขาตระหนักว่าคนที่นี่ “ต้องการความช่วยเหลือ” 

ถึงวันนี้ หมอตุ่ยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่า 28 ปีแล้ว 

หมอนักคิดกับโปรเจกท์เพื่อผู้ป่วย

ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง หมอตุ่ยบอกว่ามีเรื่องต้องให้ขบคิดมากมายในแต่ละวัน ตั้งแต่เรื่องการรักษาผู้ป่วยทั่วไป ไปจนถึงการรักษาผู้ป่วยยากไร้ที่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล ไม่มีหลักประกันสุขภาพ และผู้ป่วยไร้สัญชาติ

หมอตุ่ยต้องคิดโครงการต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรค ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านที่มาเป็นผู้ป่วย

โครงการหลักๆ เช่น การก่อตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผาง ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันวิจัยและเฝ้าระวังภาวะไร้รัฐกับโรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ การผลักดันให้สร้างสถานบริการสาธารณสุขชุมชน สุขศาลาพระราชทาน และสุขศาลาหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างสุขศาลาข้ามแดนในประเทศเมียนมาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยชาวเมียนมาร์ และเพื่อช่วยควบคุมโรคไม่ให้ข้ามฝั่งมายังประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ หมอตุ่ยยังทำน้ำมันไบโอดีเซลขึ้นเองจากน้ำมันพืชใช้แล้วสำหรับรถโรงพยาบาล และสำหรับฉีดพ่นฆ่ายุงเพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก ทั้งยังตั้งโรงงานผลิตขาเทียมเพื่อผู้พิการจากเหตุการณ์สู้รบตามชายแดน ซึ่งปัจจุบันผลิตขาเทียมมากกว่า 1,000 ขาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังผลิตชุดกระเป๋าหมอตำแย แจกหมอตำแยในพื้นที่ทุกคนพร้อมอบรมการทำคลอดอย่างถูกหลักสุขอนามัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็ก โดยในกระเป๋าดังกล่าว บรรจุชุดทำคลอดและอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ ผ้าอ้อม น้ำมันมะกอกสำหรับเช็ดตัวเด็ก ใบมีดสำหรับตัดสายสะดือ จนปัจจุบันไม่มีโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิดที่ อ.อุ้มผาง อีกแล้ว

อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ รับบริจาคยาเหลือใช้จากทั่วประเทศ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการที่หมอตุ่ยมองว่า ยารักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาผู้ป่วย โดยมีการศึกษาพบว่า แต่ละปีคนไทยทิ้งยาอย่างเปล่าประโยชน์มากมาก ไม่ว่าจะเป็นจากการทานยาไม่หมดหรือจากการเปลี่ยนยาใหม่ หมอตุ่ยจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ถ้าขอบริจาคยาเหลือใช้เหล่านั้นมาแจกผู้ป่วยยากไร้

“แต่ละปี ประเทศไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงถึงปีละ 5 – 6 พันล้านบาท แต่ทิ้งยาดีๆ ไปเพียงเพราะกินไม่หมด คิดเป็นเงินนับพันล้านบาท ผมจึงทำโครงการขอรับบริจาคยาขึ้น ซึ่งก็ได้รับความสนใจ มีการส่งยาเหลือใช้มาให้โรงพยาบาลมากมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระค่ายาและช่วยต่อชีวิตของคนไข้แล้ว ยังช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณในการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้อีกด้วย” หมอตุ่ยเล่า

ยิ่งช่วย ยิ่งให้ ยิ่งมีความสุข

บุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตนของหมอตุ่ย ทำให้เขามักปฏิเสธคำยกย่องจากใครต่อใครที่บอกว่าเขาเป็นคนมีอุดมการณ์และเป็นผู้เสียสละ

“ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน ถ้าเขาป่วยมาหาเรา แล้วเราไม่รักษา เขาก็ตาย มันเป็นหน้าที่ที่ผมต้องดูแลในฐานะแพทย์ เป็นเรื่องมนุษยธรรม ส่วนอีกข้อคือ ถ้าผมไม่รักษาเขา ปล่อยให้เขาแพร่เชื้อโรคต่อ คนอื่นก็จะป่วยตาม” หมอตุ่ยอธิบาย

ไม่ว่าการช่วยเหลือชาวบ้านโดยไม่เลือกสถานะ-สัญชาติ-เชื้อชาติ ของหมอตุ่ย จะมาจากเหตุผลใด หมอตุ่ยก็บอกว่า เป็นสิ่งที่เขาทำแล้วมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ยิ่งเขาเห็นคนที่เขาช่วยเหลือมีความสุขก็เพียงพอสำหรับเขาแล้ว


https://youtu.be/fj-mee1fbx4

 


Category:

Passion in this story