“ทุกครั้งที่บิด ค่ามลพิษเป็นศูนย์” คือหนึ่งในหลายสิ่ง “ว้าว” ที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า KRAF Limited Edition แบรนด์ ETRAN ผลงานสตาร์ทอัพ สัญชาติไทย โดยคุณเอิร์ธ “สรณัญช์ ชูฉัตร” จะได้สัมผัส

เอิร์ธ – สรณัญช์ ชูฉัตร

สภาพการจราจรที่หนาแน่นในเมืองกรุง และการหวนคิดว่า เราทุกคนต้องอยู่และหายใจเอาควันพิษ “ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์” เข้าปอด ทำให้ คุณเอิร์ธ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ที่เคยเรียนการออกแบบรถ จากภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรมมาก่อน เลือกนำความรู้ที่มีมาศึกษาวิจัย และผลิตรถจักรยานยนต์ดังกล่าว และได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็มียอดสั่งจองเข้ามาแล้ว 90 คัน และมีกำหนดส่งมอบได้ในต้นปีหน้า

คุณเอิร์ธบอกว่า กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ถนนเพียง 7 เปอร์เซนต์ จึงไม่แปลกที่เราเห็นรถแน่นขนัดเต็มท้องถนน และประมาณ 14 เปอร์เซนต์ของก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาพอากาศก็เป็นผลมาจากการขนส่งจราจรนี่เอง เพราะเราใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน

นอกจากนี้ สำหรับคนเมืองแล้ว หนึ่งในค่าใช้จ่ายก้อนโตของเราทุกคน คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง เขาจึงคิดว่า หากสามารถพัฒนา และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นทางเลือกให้ผู้คนได้ใช้กัน จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือ

1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่คนเมือง

โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าว เมื่อชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ใช้เวลาชาร์จแค่ 1-2 ชั่วโมงก็ได้แบตเต็มลูก สามารถวิ่งได้ระยะทาง 180 กิโลเมตร ด้วยต้นทุนการชาร์จครั้งละ 10 บาท หรือเท่ากับ 0.04 บาทต่อการวิ่งเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร

2. ช่วยลดมลพิษในอากาศ

จากการใช้พลังงานสะอาดนี้ โดยเปรียบเทียบว่า รถใช้น้ำมันจะปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่ 45 กรัมต่อการวิ่งเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร ถ้าใช้รถวิ่งเป็นระยะทาง 50 กิโลกรัมต่อวัน จะมีการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับ 2 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนราว 22 ล้านคัน หากรถเหล่านี้วิ่งวันละ 50 กิโลเมตร ก็จะปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศวันละ 5 หมื่นตัน หรือปีละ 18 ล้านตัน !!!!

cr : facebook – ETRAN

ในมุมมองของคุณเอิร์ธ คนไทยมีความสามารถและประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกรถจักรยานยนต์อันดับ 6 ของโลก ดังนั้น ชิ้นส่วนต่างๆ เราสามารถผลิตได้ เพราะมีองค์ความรู้ แต่การประกอบเป็นรถทั้งคัน ยังหาคนทำได้น้อยมาก เขาจึงคิดจับตลาดนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตลาดรถไฟฟ้า ที่กำลังเป็นจริงในทุกพื้นที่ทั่วโลกจากภาวะวิกฤตด้านสภาพอากาศที่คนทั้งโลกเผชิญกันอยู่

ประเทศไทยเอง โดยกระทรวงพลังงาน ก็มีการตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2579 จะมีรถ “ไฟฟ้า” วิ่งบนท้องถนน อย่างน้อย 1.2 ล้านคัน คุณเอิร์ธบอกว่า หากสิ่งที่เขาคิดค้นพัฒนาและผลิตออกมา มีส่วนช่วยลดมลพิษในอากาศลงได้สักหนึ่งเปอร์เซนต์เขาก็พอใจแล้ว

การกำหนดรายละเอียดในแต่ละจุดของรถเป็นไปอย่างพิถีพิถัน คำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้ เช่น มอเตอร์เป็นแบบ in wheel motor ขนาด 7 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่ากับ 150 ซีซี ซึ่งในแง่การใช้งานในเมือง เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอในการทำความเร็วแล้ว สำหรับแบตเตอรี ตัวจ่ายพลัง ก็เลือกใช้ แบตเตอรี ลิเทียม แมงกานีสออกไซด์ แบบเดียวกับที่ใช้ในรถ นิสสัน ลีฟ การันตีได้ทั้งในแง่ความปลอดภัยและการประหยัด

cr : facebook – ETRAN

ขณะที่หัวชาร์จที่อยู่บนตัวถังรถ เป็นแบบ Euro Type 2 ทำให้สามารถนำไปชาร์จไฟกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน รวมถึงในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง โดยมีการพัฒนาระบบฟาสต์ชาร์จ จึงชาร์จแบตฯ เต็มลูกได้ในเวลาเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น และในส่วนของแบตเตอรี่นั้น ก็ถอดออกได้ ทำให้เปลี่ยนเอาแบตฯ ที่เต็มมาใส่แทนได้ รวมถึงยังมีแบบหัวปลั๊กให้ชาร์จกับไฟที่บ้านได้ สะดวกสบายทุกอย่าง

ยังมีการติดตั้ง Regenerative Brake ไว้ ทำให้ทุกครั้งที่เบรกรถ ก็จะมีการชาร์จไฟกลับเข้ามาในแบตเตอรี และเหนือสิ่งอื่นใด ชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบเป็นตัวรถ ก็ทำมาจากวัสดุทีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือ เป็น “ไบโอพลาสติก” ที่ทำมาจากเส้นใยสับประรด โดยใช้มากถึง 52 เปอร์เซนต์ของชิ้นส่วนรถ ที่เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพราะเขาหวังว่า เมื่อชิ้นส่วนเหล่านี้กลายเป็นขยะในที่สุด จะไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ใช้น้ำมันทั่วไป

นอกจากนี้ ทางผู้ผลิตยังให้ความสำคัญกับการออกแบบ เพื่อให้เป็นรถที่ผู้ใช้ จะ “ภาคภูมิใจ” ได้ คุณเอิร์ธอธิบายว่า  “เพราะสำหรับใครหลายคนรถก็เป็นเครื่องประดับฐานะ” ไม่เพียงเท่านั้น เขายังตั้งใจดูแลเรื่องบริการหลังการขาย โดยขณะนี้ได้เตรียมจัดทำแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้ใช้งานแจ้งเรื่องเข้ามา เมื่อรถเสีย หรือติดขัดใดๆ เพื่อให้ทีมบริการเข้าช่วยเหลือได้ ณ พื้นที่ที่เกิดเหตุ ถือเป็นการเข้าหาลูกค้าผู้ใช้บริการ ใส่ใจกับความต้องการและทำให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้งานมากที่สุด

คนหนุ่มที่มุ่งมั่นจริงจัง และแปลงฝันให้เป็นการลงมือทำเมื่อ 4 ปีก่อน (2016) ยังมีแผนก้าวไปข้างหน้า หาแนวทางว่าจะพัฒนายานพาหนะไฟฟ้าให้ออกมาในรูปแบบใดได้อีกบ้าง เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 

 

Category:

Passion in this story