Categories: INSPIRE

เพราะความสุขนั้นสำคัญ ชวนทุกคนตามหาความสุขให้กับชีวิต

เพราะว่าเราเป็นมนุษย์และมนุษย์ก็ปรารถนาที่จะมีความสุขในทุก ๆ ขณะของชีวิต แต่กระนั้นเราก็หลีกเลี่ยงความทุกข์กันไม่ได้ ความสุขและความทุกข์ต่างเป็นส่วนประกอบสร้างตัวตนของความเป็นมนุษย์ขึ้น แค่เริ่มเดินออกจากบ้านความทุกข์ก็วิ่งพุ่งเข้าหาราวกับเราเป็นคู่แท้ที่หากันเจอ รถติด มลพิษเยอะ แท็กซี่ไม่รับ รถเมล์ไม่มา รถไฟฟ้าเสีย คนแซงคิว ฟุตบาธพัง ของแพง เศรษฐกิจไม่ดี สารพัดสารพันปัญหาที่ถาโถมเข้ามาใส่ แต่ความสุขก็ไม่ยากที่จะตามหา เหมือนที่เราต่างตามหาความรักและสุดท้ายก็เจอ

ความสุขไม่เพียงจะทำให้เรามีชีวิตที่ดี มีรอยยิ้ม สดชื่น กระชุ่มกระชวย ทำอะไรก็น่ายินดีปรีดาไปเสียทั้งหมด  แต่ความสุขยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน เมื่อเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ผลของมันย่อมออกมาดีตามไปด้วย และเมื่อการทำงานกินเวลากว่าค่อนชีวิต เพราะฉะนั้นการทำงานอย่างมีความสุขจึงสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งต่อตัวเราเองและต่อองค์กรบริษัทที่เราทำงานอยู่

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะทำต่อไปนี้  ไม่ใช่การเขียนคู่มือ “ทำอย่างไรให้มีความสุข” หรือมาแนะนำวิธีการสร้างความสุขแต่อย่างใด เพราะความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน ความสุขของบางคนอาจจะขึ้นอยู่กับจำนวนตัวเลขในบัญชี บางคนความสุขเกิดขึ้นได้จากการทำงานที่รัก หรือความสุขก็เกิดขึ้นง่าย ๆ ในชั่วขณะที่ตักอาหารใส่ปาก ผู้เขียนคงมิบังอาจมาชี้นำท่านผู้อ่านว่าความสุขของเราๆ ท่านๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกเล่า คือ เรื่องราวของความเอิ้ออารีที่จะสร้างความสุขให้กับคนรอบข้าง โดยผู้เขียนได้หยิบยกและสรุปประเด็นหนึ่งที่อยู่ใน “รายงานเจาะเทรนด์ 2020” ของ TCDC มาบอกเก้าเล่าสิบให้ผู้อ่านได้เรียนรู้กัน

ความสุขสำคัญไฉน

ความสุขที่เรากำลังจะพูดถึงกันอยู่นี้ไม่ใช่ความสุขในเชิงศาสนา แต่เรากำลังพูดถึงความสุขในทางโลกที่ช่วยทำให้สุขภาวะทางอารมณ์ของเราสมบูรณ์พร้อม ทำให้เราไม่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ ความสุขยังช่วยให้เรามีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้น ช่วยเหลาทักษะการเข้าสังคมให้แหลมคมมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดสิ่งที่ความสุขได้สร้างขึ้นก็จะกลับมาช่วยสร้างความสุขให้เราอีกทอด และจะกลายเป็นวงจรแห่งความสุขที่ช่วยสนับสนุนให้เรามีความสุขต่อไปเรื่อยๆ

รายงาน World Happiness Report 2019 โดย Sustainable Development Solutions Network (UNSDSN) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้คนจากประเทศต่างๆ เพื่อศึกษาตัวแปรอันจะนำไปสู่ความสุข ความสุขได้กลายมาเป็นข้อบ่งชี้รัฐบาล หรือเกณฑ์วัดความสำเร็จของประเทศต่างๆ ที่ก้าวหน้ามากกว่าแค่เรื่องของ GDP สังคมนั้นพัฒนาแค่ไหน ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ดูเหมือนว่านอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง ความสุขก็เป็นอีกเรื่องที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญที่เผลอๆ อาจจะมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจเสียด้วยซ้ำ (อนึ่ง เศรษฐกิจที่ดีและท้องที่อิ่มก็ทำให้เรามีความสุขได้เหมือนกัน) และดูเหมือนว่า

หนึ่งในตัวแปรที่สำคัญในการวัดความสุขของ UNSDSN คือเรื่องของการมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อกันของคนในสังคมและความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แปลว่าทักษะการเข้าสังคม มิตรภาพ ไมตรีจิต และความอาทรซึ่งกันและกัน สามารถสร้างความสุขให้กับมนุษย์และส่งผลในทางบวกแก่สังคม ทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้นั่นเอง

หันมาใส่ใจกับความสุข

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงาน จากรายงานเจาะเทรนด์โลก 2020 ของ TDCD โดยอ้างอิงการศึกษาจากองค์กรไม่แสวงกำไร Kindlab ระบุว่าความเอื้ออารีส่งผลให้มนุษย์มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี ซึ่งมหาวิทยาลัยวอร์ริคในอังกฤษศึกษาพบว่าพนักงานที่มีความสุขจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้นถึง 12% แสดงให้เห็นว่าความสุขนอกเหนือจากจะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสำหรับเจ้านายแล้วนั่นหมายถึงความเจริญก้าวหน้าของบริษัทที่ตามมาอีกด้วย

ในรายงานฉบับเดียวกันของ TCDC ได้ยกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทที่ใส่ใจกับสุขภาวะทางอารมณ์ของพนักงาน และเชื่อว่าความเอื้ออารีจะช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน บริษัท Mercedez-Benz ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกลยุทธ์ในการพัฒนาพนักงานผ่านการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ “ความเอื้ออารีเป็นการส่งต่อ (Kindness is Contagious)”

จากการศึกษาของบริษัทพบว่า 70% ของพนักงานไม่มีโอกาสได้ขับรถยนต์ของแบรนด์ที่ตัวเองจำหน่าย บริษัทจึงริเริ่มโปรแกรมที่ให้พนักงานสามารถหยิบยืมรถยนต์ของแบรนด์ไปขับขี่ได้ฟรี 48 ชั่วโมง ผลคือพนักงานได้มีโอกาสได้รู้จักกับรถยนต์ที่ตนจำหน่ายมากขึ้น และช่วยแนะนำให้ลูกค้ารู้จักกับรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการส่งต่อความทรงจำและประสบการณ์ดีๆ ที่พนักงานได้รับและถ่ายทอดให้กับลูกค้า ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือพนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทและมีความภาคภูมิใจกับงานที่ทำ ความเอื้ออารีที่ถูกส่งต่อจากบริษัทถึงพนักงานและถึงลูกค้าได้สร้างความสุขที่ถูกส่งผ่านต่อเป็นทอด ๆ เมื่อพนักงานมีความสุขย่อมบริการลูกค้าได้ดีขึ้นและส่งผ่านพลังงานบวกแก่ลูกค้า ทำให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภคและเติบโตขึ้นบนพื้นฐานของความอารีและความสุขที่ถูกส่งต่อมา

เมื่อคนเรามีความสุข เราก็มักจะเผื่อแผ่ความสุขให้กับคนรอบข้างและใส่ใจกับผู้คนรอบตัวมากกว่าเดิม

เช่นเดียวกับพนักงานที่มีความสุข พวกเขาจะใส่ใจกับบริษัทมากขึ้นและต้องการที่จะผลักดันเป้าหมายของบริษัทให้สำเร็จ ความสุขนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่มากขึ้น พนักงานที่มีความสุขจะใส่ใจกับความต้องการของลูกค้ามากเป็นพิเศษ และตื่นตัวมากขึ้นกับกระบวนการทำงานรวมถึงระบบของบริษัท ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก่อให้เกิดผลผลิตและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งดี ๆ ที่เริ่มต้นจากพนักงาน

ความสุขในการทำงานยังทำให้พนักงานมีความจงรักภักดีต่อองค์กรมากขึ้น ความจงรักภักดีต่อองค์กรหรือบริษัทเป็นสิ่งสำคัญ มันหมายถึงความรู้สึกเคารพต่อองค์กร เต็มใจที่จะทำงานและอุทิศตนเพื่อองค์กร มีความผูกผัน มีความภูมิใจ รู้สึกเป็นเจ้าของ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและต้องการทำให้องค์กรที่พวกเขารัก พัฒนาและมีผลประกอบการที่ดีขึ้น

นอกจากนี้พนักงานที่มีความสุขย่อมต้องการที่จะอยู่กับนายจ้างในระยะยาว ซึ่งหมายถึงเวลาและเงินที่ใช้ไปกับการจ้างงานและการฝึกอบรมพนักงานใหม่น้อยลงด้วย จากการศึกษาของ Boston Consulting Group พบว่า

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนต้องการจากการทำงาน คือ การได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าในผลงานที่พวกเขาทำ ใครกันที่จะมองหางานใหม่ในเมื่อพวกเขามีความสุขกับงานที่ทำและได้รับการยอมรับในคุณค่าของผลงานที่พวกเขาทำ

ความสุขเป็นสิ่งที่ส่งต่อได้ พนักงานที่มีความสุขจะปล่อยพลังงานบวกให้เพื่อนร่วมงาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความสุขในที่ทำงาน เมื่อพนักงานมีความสุขและมีทัศนคติที่ดีก็มีแนวโน้มที่จะเต็มใจสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานบรรลุเป้าหมายการทำงานของบริษัท และสิ่งที่สำคัญมากที่ตามมาเมื่อพนักงานมีความสุข คือ การที่พวกเขากล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานเมื่อต้องการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลการผลิตของบริษัทได้ เพราะพนักงานหลายคนรู้สึกเขินอายเกินกว่าจะขอการสนับสนุนเมื่อพวกเขาต้องการ

การมีความสุขในการทำงานยังหมายถึงพนักงานที่มีสุขภาพดี ความเครียดจากการทำงานนอกจากจะส่งผลในเชิงลบกับสุขภาพจิตของพนักงานแล้ว ยังส่งผลกับสุขภาพร่างกายของพนักงานอีกด้วย จากสถิติที่เปิดเผยโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของ Safe Work Australia ระบุว่ามีชาวออสเตรเลียมากกว่า 7,500 คน เรียกร้องค่าชดเชยสำหรับความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการทำงานในแต่ละปีประมาณ 480 ล้านดอลลาร์ ยิ่งไปกว่านั้น มีพนักงานที่ต้องป่วยจากภาวะซึมเศร้าอันเนื่องมาจากความเครียดในการทำงานมากกว่า 20 วันต่อเดือน

สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานของพนักงานหรือลูกค้า ก็คือ ความสุขของพนักงาน เพราะงานจะออกมาดีหรือลูกค้าจะพึงพอใจหรือไม่ มาจากการทำงานอย่างมีความสุขและเต็มไปด้วยประสิทธิภาพของลูกค้า

ถ้าอยากให้บริษัทของคุณเติบโตและเต็มไปด้วยผลกำไร ลองหันกลับมาใส่ใจพนักงานให้มากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้พนักงานของคุณมีความสุขที่สุด ไม่แน่ผลประกอบการของคุณอาจจะเขยิบตัวสูงก็ได้นะ

ไม่ผิดที่เราอยากจะมีความสุข

ในบางครั้งที่คนเราเจอปัญหารุมเร้าและมองไม่เห็นทางออก ความสุขที่เคยมีหายไปราวกับไม่มีเคยมีอยู่ เราอาจจะต้องการใครสักคนเป็นที่ระบายและให้คำปรึกษา “The School of Life” บริการทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้คำปรึกษาและออกแบบทางออกให้กับชีวิต เราสามารถถึงเข้าไปในร้านเพื่อระบายปัญหาที่หนักอกหนักใจ โดยพนักงานจะแนะนำหนังสือดี ๆ สักเล่ม หรือคอร์สอบรมที่มีประโยชน์ ช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาตัวร้ายและเชิดหน้าขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับมันได้

หรือถ้าไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ลองหันหลังกลับไปมองคนที่อยู่รอบตัว บ่อยครั้งที่เรามักจะมองหาคนที่เราต้องการจนลืมมองกลับไปหาคนใกล้ตัวที่ไม่เคยทิ้งเราไปไหน ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือใครสักคนในชีวิตที่เราลืมนึกถึง หรือถ้าความทุกข์และปัญหาที่เราเผชิญหน้ามันยากเกินจะรับมือ ลองไปปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญดู ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมองว่าเราบ้า เพราะตอนที่เรามีปัญหาพวกเขาไปอยู่ไหนกันล่ะ

แม้ความสุขจะเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนปัจจัย 4 ที่เป็นรูปธรรม แต่ความสุขก็เป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ปรารถนาและโหยหามันมาตลอดทั้งชีวิต ความสุขไม่ได้ยากเกินจะไขว่คว้าและความทุกข์เองก็ไม่ได้ยากเกิดจะรับมือ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา และขอยืนเคียงข้างร่วมกับใครก็ตามที่รู้โดดเดี่ยวและเหนื่อยหน่ายกับชีวิต เราจะต่อสู้กับความทุกข์และไล่ตามหาความสุขไปด้วยกัน ผู้เขียนคร่ขออนุญาตแนะนำภาพยนตร์ดี ๆ เรื่องหนึ่ง “Hector and the Search for Happiness” ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยช่วยให้ผู้เขียนตามหาความสุขจนเจอในที่สุด และหวังว่าท่านผู้อ่านจะตามหาความสุขของตัวจนเจอในเร็ววัน

“ We all have an obligation to be happy. ”

เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะมีความสุข

– Hector and the Search for Happiness –

 


 

อภินัทธ์ เชงสันติสุข

เด็กหนุ่มที่กำลังเรียนรู้ชีวิตและถูกเฆี่ยนตีด้วยความเป็นผู้ใหญ่

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

9 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

1 year ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

1 year ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

1 year ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

2 years ago

This website uses cookies.