“กลัวจังเลย ว่าเขาจะไม่ชอบเรา….”  

“ทำแบบนี้น่าจะไม่เหมาะ หัวหน้าคงไม่ชอบ….” 

“อยากเสนอความเห็นนี้จัง ทำแล้วต้อง “ปัง” แน่ๆ แต่อย่ายกมือเลย เดี๋ยวเพื่อนร่วมงานจะหาว่า “โชว์ออฟ” แถม “งานงอก” อีก……

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือสิ่งที่คุณกำลังคิดอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่… คุณกำลังอยู่ในภาวะ FOPO หรือ Fear of Other People’s Opinions แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่กำลังประสบภาวะนี้เช่นกัน เพียงเพราะกระหายอยากเป็นที่รัก ได้รับการยอมรับจากสังคม

แต่…. ถ้าปล่อยให้ความคิดนี้ครอบงำคุณอยู่ตลอดเวลา ผลเสียอาจจะรุนแรงเกินกว่าที่คาดคิด เพราะมันทำให้คุณสูญเสียความเป็นคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น หลักคิด และความปรารถนาที่จะมีชีวิตในแบบที่คิดฝันไว้

Michael Gervais นักจิตวิทยาผู้มากประสบการณ์ และมีลูกค้าเป็นบุคคลชั้นนำระดับโลกในหลากหลายวงการ อาทิ ศิลปิน นักดนตรี ผู้เล่นค่าตัวสูงสุดในแวดวงกีฬานานาชนิด รวมถึงซีอีโอในบริษัทที่ติดโผ “ฟอร์จูน 100” กล่าวว่า หากอยากเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำอะไรได้เต็มศักยภาพ พึงระลึกไว้ว่า การกังวลต่อความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้อื่นต่อตัวคุณ มีแต่จะฉุดรั้งคุณไว้

เมื่อคุณเริ่มละเลยสิ่งที่ทำให้ “คุณเป็นคุณ” (พรสวรรค์ ความเชื่อมั่น และคุณค่าที่คุณยึดโยง) และเริ่มคล้อยตามสิ่งที่คนอื่นคิด หรือรู้สึก และแสดงออกต่อคุณ เมื่อนั้น คุณกำลังทำลายศักยภาพของตัวคุณเอง คุณเลือกที่จะเพลย์เซฟ ไม่พูด ไม่แสดงออกอย่างที่ใจคิด เพราะกลัวผลลบจากคำวิจารณ์ของคนอื่นๆ คุณไม่กล้าแม้แต่จะเดินไปขอปรับขึ้นเงินเดือนหรือตำแหน่ง เพราะคุณคิดว่า คุณมีคุณสมบัติไม่พอ ไม่สมควรกับสิ่งนี้

 

ปัญหาเหล่านี้ แก้ไขได้…………

เพียงแต่คุณต้องหาหลักยึดประจำตัวให้ได้ นั่นคือ คุณต้องมี “ปรัชญาประจำตัว” (Personal Philosophy) ที่คุณจะใช้มันเป็น “เข็มทิศ” เป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต

คุณสามารถสร้างปรัชญาประจำตัวได้ ด้วยการตอบคำถามต่อไปนี้

  1. เมื่อคุณทำเต็มที่แล้ว ลองย้อนคิดสิว่า อะไรคือความคิด ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้
  2. ใครคือตัวแทนที่คุณนึกถึง ที่มีบุคลิกและความเชื่อแบบเดียวกับคุณ
  3. อะไรคือคุณภาพที่คุณให้ความสำคัญ
  4. ใดที่ตรงใจ หรือ โค๊ตคำพูดใดที่คลิกกับคุณ

เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้แล้ว ให้วงกลมคำที่แทนตัวคุณ อะไรที่ไม่ใช่ให้ตัดออก แล้วดูคำที่เหลือทั้งหมด เอามาประมวลเป็นประโยค หรือวลี ที่จะเป็นนิยามบ่งบอกความเป็นคุณ และวิถีชีวิตที่คุณปรารถนา จากนั้น อย่าเก็บไว้กับตัว ให้แบ่งปัน ให้คนอื่นๆ รับรู้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่คุณรัก และขอให้พวกเขาช่วยผลักดันคุณให้ทำตามปรัชญาประจำตัวนี้ รวมถึงนำปรัชญานี้มาใช้กับชีวิตในแต่ละวันทุกๆ วัน

Pete Carroll โคชทีม Seattle Seahawks มีปรัชญาประจำตัวว่า “พร้อมเสมอกับการแข่งขัน” สำหรับเขาแล้ว การแข่งขันหมายถึงการใช้เวลาแต่ละวันกับการทำงานหนักเพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่า และเข้าใกล้ศักยภาพสูงสุดของตัวเองให้มากที่สุด นี่ไม่ใช่แค่การพร่ำพูดถ้อยคำอะไรสักอย่าง แต่เขาถือมันเป็นเข็มทิศสำหรับการกระทำ ความคิด และการตัดสินใจ ไม่ว่าจะในฐานะโคช คุณพ่อ เพื่อน เขาใช้มันในทุกโอกาสของชีวิต

หนี่งในประสบการณ์ประทับใจเมื่อ Gervais ไปทำหน้าที่อบรมการสร้างปรัชญาประจำตัวให้แก่ทีมผู้บริหาร เขาเล่าว่า โดยปกติเขามักจะเริ่มด้วยการให้ผู้บริหารแต่ละคนเขียนสิ่งที่พวกเขายึดถือเป็นหลักคิดและดำเนินชีวิต แล้วมาแลกเปลี่ยนกันฟัง และมีผู้บริหารรายหนึ่ง เล่าว่า ปรัชญาประจำตัวของเขาคือ “การทำทุกย่างก้าวให้มีคุณค่า” เขาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า พ่อแม่ของเขาเป็นผู้อพยพซึ่งต้องผ่าฟันอย่างหนักกว่าจะได้รับโอกาสดีๆ ในชีวิต การทำงานหนักและการอุทิศตนของพ่อแม่ ทำให้เขาตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องดำเนินชีวิตพร้อมๆ กับรักษาเกียรติของครอบครัวไว้ อีกทั้งยังต้องทำตัวเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังด้วย

หรือ ความมุ่งมั่นอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของคนดังในแวดวงกีฬาฟุตบอล และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ติดอันดับ ฟอร์จูน 100 ที่จะทำผลงานให้ดีขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ ชัดเจนกับ “ปรัชญาประจำตัว” ของตนเอง และพร้อมที่จะผลักดันตนเองมากขึ้นๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนโอบรับความไม่สะดวกสบายต่างๆ ที่จะตามมา พวกเขาจะตัดเสียงวิจารณ์และความเห็นที่หลากหลายจากเหล่าแฟนคลับและสื่อต่างๆ และเพ่งความสนใจ รับฟังเฉพาะเสียงจาก “ปรัชญาประจำตัว” ที่เป็นเข็มทิศภายในของตัวเองเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้น เป็นอย่างที่เราได้เห็นและนึกชื่นชม

“ปรัชญาประจำตัว” ที่คุณมี จะแสดงผลอย่างงดงามต่อชีวิตของคุณ ก็ต่อเมื่อคุณนำไปใช้จริงในทุกจังหวะของชีวิต ทำให้คุณเป็นคุณได้อย่างจริงแท้ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายอย่างที่คุณต้องการที่สุด

Category:

Passion in this story