“ถ้าคุณทำงานแค่สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง คุณเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก” – Elon Musk เขียนบน Twitter เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ คือคุณจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และแค่ 5 วันต่อสัปดาห์ มันไม่พอจะทำให้คุณเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ซึ่งผมเห็นด้วยว่า หากคุณอยากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือทำธุรกิจให้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ คุณจำเป็นต้องทุ่มเทมากกว่า
แต่ถ้าคุณจะให้ทั้งบริษัททำงานหนัก 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ระดับ Elon Musk นั้น อาจระห่ำเกินไป และเป็นที่มาของสภาวะหมดไฟ (Burnout) หากบริษัทองคุณไม่มีวิธีรับมือกับภาระความรับผิดชอบจำนวนมหาศาลที่ถามโถมเข้ามาในเวลาเดียวกัน
ลองใช้ Appropriate Challenge Chart ทบทวนแนวคิดของตัวเองลงบนกระดาษ แล้วคอยจัดสรรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผมอยากนำเสนอให้คุณลองนำมาใช้ปรับสมดุล เพราะเจ้าเครื่องมือตัวนี้ใช้ง่าย และในแวดวง Start Up ก็เห็นนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจกันพอสมควร
Appropriate Challenge Chart
ก่อนจะไปประยุกต์ใช้กับองค์กรของคุณ ลองทำความเข้าใจกันก่อน
ความท้าทาย (Challenge) = ความยากของงาน ซึ่งยิ่งความยากมาก หากคุณทำได้ก็ยิ่งได้เรียนรู้
ความสามารถของคุณ (Ability) = ระดับชำนาญหรือความสามารถขององค์กร
Flow Channel = ช่วงที่ทำให้องค์กรกำลังทำงานได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องเผชิญความเครียดจนเกินไป และหรือไม่น่าเบื่อจนเกินไป
ถ้าคุณทำงานที่มีลักษณะสูงกว่า Flow Channel เป็นจำนวนมากเกินไป ก็อาจเข้าสู่สภาวะหมดไฟ (Burnout) แต่ถ้ามีงานที่้ต่ำกว่า Flow Channel บ่อยๆ ไม่นานก็จะเกิดความเบื่อหน่าย (Boreout) ซึ่งทั้งสองภาวะมันก็ไม่ดีต่อจิตใจ
ทั้งนี้ความกว้างขอ Flow Channel ขึ้นอยู่แต่ละองค์กร ว่ามีวัฒนธรรมเป็นอย่างไร รับความกดดันได้แค่ไหน ซึ่งตรงนี้ผมขอไม่ลงรายละเอียดมาก คุณสามารถไปค้นหาหาบน Google ได้ว่าทำอย่างไร จึงจะลดภาวะ Burnout (หรือ Boreout) ได้ แล้วก็จัดรูปแบบการทำงานในบริษัทให้เป็นเอื้อต่อสุขภาพจิตที่ดีของคนทำงาน
สิ่งที่นักธุรกิจหน้าใหม่ชอบทำพลาด
ความจริงที่ว่าการทำธุรกิจคือการมุ่งโฟกัสทำให้องค์กรโตเร็ว/โตมากกว่าคู่แข่ง สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน แต่ละเดือน นั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ประกอบกับนิสัยของนักธุรกิจที่เป็นคนคิดใหญ่ ชอบทำสิ่งที่ท้าทาย
พอเขียนชาร์ตแล้ว จึงมักจะได้หน้าตาประมาณนี้
นักธุรกิจใหม่มักโฟกัสแต่กับการลงมือทำสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ไม่มีความรู้ความสามารถซักเท่าไหร่ โฟกัสแต่จุดสีแดงกับเขียว (เข้าใจว่างานยากๆ ยิ่งทำยิ่งได้เรียนรู้ เลยอยากทำ)
ซึ่งหากเรามองดูให้ดีแล้ว ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับโลก มีการโฟกัสกับกิจกรรมที่ทำต่างออกไป คือให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว แต่หาทางนำความสามารถของตัวเองมาพัฒนาให้ล้ำขึ้นไปอีก (กล่าวคือให้ความสำคัญกับจุดสีฟ้าด้วย)
กระจายความสำคัญแบบโตโยต้า
ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้า (Toyota) บริษัทที่กล่าวได้ว่าเป็นเบอร์ 1 ของโลก ในทั้งยอดขายเป็นจำนวนคัน และยอดขายเป็นจำนวนเงิน
ถ้าโตโยต้าเอาแต่ทุ่มเงินกับการวิจัย พัฒนานวัตกรรมเพียงอย่างเดียว (มุ่งแต่จุดสีแดง) พวกเขาคงไม่สามารถเป็นที่ 1 ได้
แต่การให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ท้าทายน้อยกว่า แต่เพิ่มพูนความสามารถที่องค์กรมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่นการผลิตที่โตโยต้าทำได้เร็วอยู่แล้ว ก็ยังหาวิธีที่ทำให้ผลิตได้เร็วขึ้นไปอีก (กระจายความสำคัญมายังจุดสีฟ้าด้วย)
ทุกวันนี้ ไม่ถึง 1 นาที รถของโตโยต้าก็ผลิตได้ 1 คัน และกลายเป็นรากฐานที่ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการที่มีเข้ามาจากทั่วโลก
Tip
เพื่อให้ทั้งองค์กรเข้าใจความสำคัญของแต่ละโปรเจ็ค คุณอาจจะลองปรับเปลี่ยนแกนซักเล็กน้อยเพื่อให้เป็นมาตราวัดที่คนทั้งองค์กรเข้าใจได้ตรงกัน โดยลองเปลี่ยนความท้ายทาย เป็นผลตอบแทนที่คุณจะได้รับต่อโปรเจ็คนั้นๆดูซิ
โดยผมขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นผ่านกรณีคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ที่มีเงินทุนไม่มากนัก และขายอยู่บริเวณกรุงเทพและปริมณฑล
พอมีหน่วยวัดเป็นตัวเลขแล้ว อาจจะตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะคนในองค์กรเข้าใจตรงกัน
ทำธุรกิจอย่างมีสติ หมั่นทบทวน และเลือกลงมือทำงานที่มีให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ากับแรงที่เสียไป รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทุ่มสุดตัว และต้องมีงานเบาๆมาให้ผ่อนแรงบ้าง
คิดใหญ่คิดได้ แต่ต้องค่อยๆทำ อย่าคิดว่าทุกอย่างจะประสบความสำเร็จตามที่หวังอย่างราบรื่น ทุกอย่างต้องใช้แรงและเวลา
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการทำธุรกิจ