นับแต่วันแรกที่นวนิยายผจญภัย เรื่อง “เพชรพระอุมา” ของ”พนมเทียน” ได้รับการตีพิมพ์ในปลายปี พ.ศ. 2507 จนถึงวันสุดท้ายที่นวนิยายจบลงอย่างสมบูรณ์ในต้นปี พ.ศ. 2533 กินเวลา 25 ปี 7 เดือน
ปัจจุบันชื่อของ “พนมเทียน” ซึ่งเป็นนามปากกา ของคุณ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” ยังเป็นที่จดจำของผู้คน ซึ่งยกให้ “เพชรพระอุมา” เป็นนวนิยายแนวผจญภัยที่มีผู้ติดตามยาวนานที่สุด รวมถึงมีความยาวที่สุดในโลกด้วย เนื่องจากเมื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก เนื้อหาของ “เพชรพระอุมา” ทั้งหมด จะรวมได้ถึง 48 เล่ม
“พนมเทียน” เป็นนักเขียนผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขาได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2540” และนอกจาก “เพชรพระอุมา” แล้ว เขายังได้เขียนนวนิยายที่โด่งดังไม่แพ้กันอีกหลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคูณ, เล็บครุฑ, ศิวาราตรี และ กัลปังหา เป็นต้น
รวมถึงงานเขียนอื่น ๆ ในรูปแบบงานวิชาการ บทความ และ สารคดี อีกจำนวนมาก ภายใต้นามปากกาแตกต่างกันไป
วันนี้ “พนมเทียน” ในวัย 88 ปี หยุดเขียนนวนิยายแล้ว แต่ยังคงรักที่จะถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง ล่าสุด “พนมเทียน” ได้ให้สัมภาษณ์รายการ “บุรินทร์ เจอนี่” ถึงรื่องราว ชีวิต ความเป็นมา และแรงบันดาลใจการเขียนหนังสือไว้อย่างละเอียด
ทั้งยังแนะนำหลักการเขียนง่าย ๆ ตามสไตล์ “พนมเทียน” ที่สามารถครองใจคนอ่านทุกเพศทุกวัยมาเป็นเวลานานอีกด้วย โดย “พนมเทียน” ย้ำว่า พื้นฐานง่าย ๆ ของการเขียนนวนิยายทุกเรื่อง คือ คำนึงถึง “ผู้อ่าน” นักเขียนต้องคิดก่อนว่าผู้อ่านจะได้รับความสนุก ถ้าคิดว่าเขียนแล้วผู้อ่านไม่สนุกก็ไม่ต้องเขียน
สำหรับ “พนมเทียน” ความสนุกมิได้มีความหมายเพียง เนื้อหาเข้มข้น แต่ยังรวมถึงรูปแบบการใช้สำนวนเขียนที่เข้าถึงทุกอารมณ์ เช่นงานเขียนเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่ “พนมเทียน” สามารถถ่ายทอดบุคลิก ลักษณะท่าทางของทุกตัวละคร ให้ผู้อ่านจินตนาการตามได้ทุกอารมณ์ ความรู้สึก กระทั่งผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมหรือเกิดความรักในตัวละคร
หาก “พนมเทียน” ก็ย้ำว่าสิ่งสำคัญไม่แพ้การเขียนให้สนุก คือแทรกหลักคำสอนเพื่อสังคมลงไปในนวนิยายแต่ละเรื่องเสมอ โดยเฉพาะหลักของ “มนุษยธรรม จริยธรรมและคุณธรรม” ไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย ทุกตัวละครต้องมี “มนุษยธรรม” เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อคนมีมนุษยธรรม ย่อมมีจริยธรรมและคุณธรรมตามมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม
“พนมเทียน” เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า ข้อมูลในงานเขียนของ “พนมเทียน” เกือบทั้งหมด มาจากประสบการณ์ และความชำนาญ เรื่องไหนที่ไม่รู้ก็ต้องหาข้อมูลศึกษา หรือสอบถามผู้รู้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงเรื่องลี้ลับ เรื่องเก่าแก่โบราณและประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น งานเขียนที่เกี่ยวกับอินเดีย ก็มาจากความคุ้นเคยและรู้จักอินเดียพอสมควรจากการที่เขามีโอกาสได้ไปเรียนที่นั่นหลายปี
“พนมเทียนเขียนนวนิยายได้ทุกชนิด แต่ชีวิตนี้ ยอมรับว่าไม่กล้าเขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์ประเทศไทย เพราะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก โดยเฉพาะวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในยุคต่างๆ ดังนั้นเมื่อไม่รู้ ก็ไม่กล้าที่จะเขียน”
“เพชรพระอุมา” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ “พนมเทียน” อาศัยข้อมูลจากประสบการณ์เช่นกัน เนื่องจากเขาเป็นนักสำรวจป่าตัวยงตั้งแต่เด็ก ทำให้มีโอกาสพบเจอเรื่องน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผจญภัย วิชาความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับป่า และแม้แต่นิสัยใจคอของสัตว์แต่ละประเภท
เรื่องราวเหล่านั้น มีทั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงและการดัดแปลงเรื่องเล่าของพรานป่า ตลอดจนเรื่องเล่าประจำท้องถิ่นต่างๆ แล้วนำมาแต่งเติมเพิ่มสีสัน ผ่านการบรรยายรายละเอียดให้มีอรรถรสมากขึ้น สนุกยิ่งขึ้นและเข้าใจง่ายขึ้น
“การเข้าป่า เป็นสิ่งที่รักและชอบ จนกระทั่งกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีผลบังคับใช้ จึงได้หยุดไป แต่ก็ยังนำเอาประสบการณ์ก่อนหน้ามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนและถ่ายทอดให้คนอ่านเห็นภาพ ซึ่งบางเรื่องก็มาจากเรื่องแปลกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น การเผชิญหน้ากับช้าง ที่เป็นสัตว์ใหญ่และเคยอธิษฐานไว้ว่าจะไม่ทำร้ายเขา ดังนั้นแม้ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในภาวะยืนเผชิญหน้ากันอย่างจัง แต่เมื่อเราตั้งจิตสื่อถึงเจตนาของเราที่ไม่ต้องการทำร้ายกัน สุดท้ายเขาก็ยอมหลีกทางให้ผ่านไปด้วยดี”
ทุกวันนี้ “พนมเทียน” มีปัญหาสายตาที่ฝ้ามัวไปตามวัย และหยุดเขียนนวนิยายแล้ว หากยังคงเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของวงการหนังสือในเมืองไทยมาโดยตลอด และทราบดีด้วยว่าขณะนี้กระแส E-book กำลังจะมาแทนที่หนังสือ แต่สำหรับเขาแล้ว แม้ E-book จะเป็นเทคโนโลยีน่าสนใจ ก็คงได้รับความนิยมเพียงชั่วคราว ซึ่งเขาเชื่อว่า อีกไม่เกิน 3-4 ปีนี้ กระแสการอ่านหนังสือจะกลับมา
“การอ่านบนโทรศัพท์มือถือหรือในคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับการอ่านอะไรสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ไม่เหมาะกับการอ่านนวนิยายที่มีความยาวมาก และต้องใช้เวลานาน เพราะแสงจากโทรศัพท์ หรือคอม จะมีผลต่อสายตา”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ของ “พนมเทียน” ส่วนใครที่ต้องการพิสูจน์ว่า “เพชรพระอุมา” สนุกจริงสมกับคำกล่าวอ้างนี้หรือไม่ แนะนำว่า คงต้องใช้วิธีสรรหากันอย่างจริงจัง เพราะแว่ว ๆ มาว่าปัจจุบันหาอ่านแบบครบทั้ง 48 เล่ม เป็นไปได้ยากมาก
Category: