โลกโซเชียลของสหรัฐอเมริกาช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีแฮชแท็กหนึ่งที่กำลังเป็นกระแสคือ #BoysDanceToo หรือ “เด็กผู้ชายก็เต้นบัลเล่ต์ได้นะ” ดูกันว่าแฮชแท็กนี้มีที่มาอย่างไร ?
เหตุการณ์นี้เกิดจากการที่ ลารา สเปนเซอร์ (Lara Spencer) ผู้สื่อข่าวของรายการ กู๊ด มอร์นิ่ง อเมริกา (Good Morning America) รายงานข่าวเจ้าชายจอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ ทายาทลำดับ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ พระโอรสองค์โตในเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท โดยพูดล้อเลียนเชิงขบขันที่เจ้าชายน้อยสนใจเรียนเต้นบัลเล่ต์ และพูดเสียดสีปิดท้ายทำนองว่าเจ้าชายจะสนใจ (บัลเล่ต์) ได้นานแค่ไหนกันเชียว
เมื่อคลิปรายการนี้ถูกเผยแพร่ออกไป โลกโซเชียลอเมริกาก็ร้อนถึงขั้นเดือดภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะการล้อเลียนความชอบส่วนบุคคลของผู้อื่นแบบที่สเปนเซอร์ทำนั้น เป็นเรื่องรับไม่ได้อย่างยิ่งในสังคมลิเบอรัลอย่างอเมริกา
ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มนักบัลเลต์มืออาชีพ เขียนว่าเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งและสเปนเซอร์ทำให้พวกเขาไม่พอใจอย่างมาก ส่วนคนทั่วๆไป ก็บอกทำนองว่า
” ทำไมเด็กผู้ชายจะชอบบัลเลต์ไม่ได้ “
พวกเรายังอยู่ในยุคที่เด็กผู้ชายต้องตกเป็นเป้าการล้อเลียนเพียงเพราะชอบการเต้นอยู่อีกหรือไง ความคิดของคุณมันช่างล้าสมัยติดกรอบ คุณควรละอายใจกับจิตใจคับแคบของคุณ และรายการกู๊ด มอร์นิ่ง อเมริกา ก็ควรละอายใจเช่นกันที่ยอมให้เกิดการกระทำแบบนี้ขึ้น
ส่วนพวกเหล่านักเต้นชายที่ไม่ได้เต้นเฉพาะบัลเลต์อีกหลายคน ก็พร้อมใจกันโพสต์ภาพถ่ายและคลิปวิดิโอของตัวเองในทวิตเตอร์ โดยติดแฮชแท็ก #BoysDanceToo เพื่อแสดงการสนับสนุนเจ้าชายจอร์จ และสร้างความตระหนักแก่สังคม
เท่านั้นยังไม่พอ กระแสแฮชแท็ก #BoysDanceToo ยังนำไปสู่การรวมตัวทำกิจกรรมที่ไทม์ สแควส์ ในเมืองนิวยอร์ค ของกลุ่มนักบัลเล่ต์ชายหลากหลายวัยนับร้อย โดยพวกเขาได้ร่วมกันเต้นบัลเล่ต์ เพื่อส่งข้อความถึงผู้คนทั่วโลกว่าทุกคนมีสิทธิ์เต้นบัลเลต์
ในที่สุด สเปนเซอร์ จึงต้องออกมากล่าวขอโทษผ่านทางรายการว่าได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ไปแล้ว “สิ่งที่ดิฉันพูดเกี่ยวกับการเต้นนั้นงี่เง่า และไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังเลย ดิฉันต้องขอโทษอย่างสุดซึ้ง”
เธอบอกว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เธอมีโอกาสสัมภาษณ์นักบัลเล่ต์ชายชื่อดังของอเมริกา 3 คน และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ เพราะคนบางกลุ่มยังมีแนวคิดแบบโบราณว่าเพศไหนควรทำและไม่ควรทำอะไร
คนที่เคยต่อว่าเธอจึงยอมให้อภัย และขอบคุณที่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง
สรุปว่า เรื่องนี้จบแบบแฮบปี้ทุกฝ่ายเพราะคนทำผิดยอมรับผิด ยอมรับฟังเสียงวิจารณ์และเอ่ยปากขอโทษอย่างจริงใจนั่นเอง
วิธีนี้ปรับใช้ได้กับการทำธุรกิจและการบริหารงานเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก tanksgoodnews
Category:
Tags: