Checklist ฉบับมนุษย์เงินเดือน คุณเจ๋งพอที่จะขอขึ้นเงินเดือนหรือยัง?

ทำงานมาตั้งนานไม่ว่าใครก็ต้องการความก้าวหน้าในบริษัทกันทั้งนั้น ตำแหน่งอาจปรับยากอันนั้นเข้าใจได้ แต่อย่างน้อยก็ควรปรับเงินเดือนให้สมน้ำสมเนื้อกับการทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มศักยภาพกันสักหน่อย จนทำให้หลายคนคิดน้อยใจว่า หากปีนี้เงินเดือนยังไม่ขึ้นคงต้องขอลาออกไปหางานใหม่ที่พร้อมจ่ายมากกว่านี้ แต่หากคุณยังสนุกกับงาน การเดินทางก็สะดวกสบาย แถมเพื่อนร่วมงานก็แสนดี การหางานใหม่คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด สิ่งที่ควรทำคือการเดินเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าเพื่อขอขึ้นเงินเดือนแบบตรงไปตรงมาจะดีกว่า แต่ก่อนจะทำอย่างนั้นมา เรามี Checklist ดีๆ ที่จะช่วยให้คุณประเมินตัวเองได้ว่า ที่ผ่านมาคุณทำงานอย่างเต็มศักยภาพและพัฒนาตัวเองแบบเต็มความสามารถจริงๆ หรือแค่มโนไปเอง!

1. วินัยการทำงาน

เป็น KPIs พื้นฐานที่ทุกบริษัทใช้ในการประเมินปรับเงินเดือน คุณจึงควรเช็กตัวเองว่าที่ผ่านมาวินัยการทำงานของคุณเป็นอย่างไร เช่น ใช้วันหยุด-วันลาเกินกำหนดหรือไม่? มาเข้างานสายบ่อยแค่ไหน? รวมไปถึงการกลับบ้านก่อนเวลาที่ควรต้องแจ้ง HR ทุกครั้ง คุณเคยทำมั้ย? สิ่งเหล่านี้มีข้อกำหนดหรือกฏของบริษัทที่ชัดเจน ดังนั้นหากที่ผ่านมาคุณเคารพกฎกติกาทุกข้อ ไม่เคยทำผิดข้อตกลงใดๆ ก็ถือว่าข้อนี้ ผ่าน!

2. ตีราคาความสามารถของตัวเอง

ก่อนจะขอขึ้นเงินเดือน คุณควรที่จะลองเช็กดูว่า คนที่ทำตำแหน่งและหน้าที่เดียวกันกับที่คุณทำอยู่ ในบริษัทอื่นๆ นั้น ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่กันบ้าง เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณไม่ตั้งเป้าในการขอปรับเงินเดือนที่สูงหรือต่ำจนเกินไป และคาดหวังได้ใกล้เคียงกับความจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากเช็กแล้วปรากฏว่าค่าตอบแทนที่คุณได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป ก็เดินหน้าขอขึ้นเดินเดือนต่อได้เลย

3. ทำงานหนักเกินกว่าหน้าที่

อาจมีหลายครั้งที่คุณจะถูกขอให้ทำในสิ่งที่เกินหน้าที่ ไม่ว่าจะเพราะพนักงานไม่พอหรือเพราะถูกกว่าการจ้างคนข้างนอก ซึ่งหากเป็นการช่วยเหลือกันชั่วครั้งชั่วคราวระหว่างรอหาพนักงานใหม่ ก็คงไม่เป็นไร เพราะคิดในแง่ดีได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสให้คุณได้เรียนรู้งานใหม่ๆ และได้พัฒนาตัวเอง แต่ถ้าผูกขาดจนกลายเป็นหน้าที่ประจำของคุณ มันก็ดูไม่ยุติธรรม หากคุณจะไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงานเหล่านั้น ลองเช็กดูว่าคุณต้องทำงานที่ไม่ได้ตกลงกันไว้มากเกินไปจนไม่มีเวลาทำงานของตัวเองแล้วหรือยัง? ถ้าใช่ คุณก็มีอีกหนึ่งเหตุผลที่จะขอขึ้นเงินเดือนได้แล้ว

4. สร้างผลงานที่ดีเป็นประโยชน์ต่อบริษัท

ที่ผ่านมาคุณเคยสร้างผลงานหรือนำเสนอแนวคิดใหม่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากน้อยแค่ไหน? เพราะคนที่กล้านำเสนอไอเดียที่จะช่วยพัฒนาให้บริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่นั้นเจริญก้าวหน้า และเป็นตัวตั้งตัวตีในโปรเจ็คที่สร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทอย่างเต็มที่นั้น แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท มุ่งมั่น จัดเป็นบุคลากรชั้นดีที่บริษัทควรมองเห็นคุณค่า ดังนั้นหากที่ผ่านมาคุณสร้างผลงานที่โดดเด่นและสร้างรายได้ให้กับบริษัท คุณก็ควรได้รับผลตอบแทนจากสิ่งเหล่านั้น อย่าลืม take credit จากสิ่งที่คุณทำ และอย่าลืมพูดถึงเรื่องนี้ตอนขอขึ้นเงินเดือนด้วย

5. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน

ทุกบริษัทย่อมต้องมีทั้งขาขึ้นและขาลง วันหนึ่งอาจเคยปิดดีลด้วยยอดขายทะลุเป้า แต่ไม่นานอาจโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนแทบล้มละลาย จนต้องลดเงินเดือน ตัดทอนสวัสดิการ หรือควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ จนพนักงานหลายคนเลือกที่จะหนีเอาชีวิตรอดจากเรือที่กำลังจะจมด้วยการหางานใหม่ แต่บางคนอาจอดทนอยู่ต่อและร่วมฝ่าวิกฤตินั้นด้วยกัน เพื่อให้บริษัทผ่านพายุไปได้ อย่าให้หัวหน้าของคุณลืมไปว่าคุณคือผู้ที่ยึดมั่นหนักแน่นและไม่เคยทิ้งพวกเขาไปไหน ดังนั้นเมื่อผลประกอบการกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง คุณก็ควรที่จะได้รับการปรับเงินเดือนตามสมควร

ถ้าหากคุณเช็กตัวเองแล้ว มีคุณสมบัติผ่านตาม 5 ข้อด้านบน
มาลองดูกันว่า อะไรควรทำและไม่ควรทำตอนเจรจาขอขึ้นเงินเดือน

DOs & DON’Ts เมื่อเจรจาขอขึ้นเงินเดือน

ดูจังหวะและโอกาส

ก่อนเข้าไปพูดคุยเรื่องการปรับเงินเดือนกับหัวหน้า ควรหาโอกาสที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา สถานที่หรือบรรยากาศต่างๆ ที่เอื้อกับการขอเงินเดือนขึ้น เช่น หัวหน้าอารมณ์ดี ไม่ตึงเครียด และเป็นช่วงที่ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในขาขึ้น

สุภาพและพูดจาอย่างมีเหตุผล

เมื่อได้โอกาสเข้าหาเจ้านายแล้ว ก็ควรดูบรรยากาศและเริ่มเกริ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจถามถึงมุมมองของหัวหน้าที่มีต่อการทำงานของคุณ สร้างโอกาสด้วยการขอคำแนะนำว่าคุณควรพัฒนาตัวเองด้านไหนอีกบ้าง รวมถึงพูดเชื่อมโยงไปยังผลงานของคุณที่ผ่านมา ให้หัวหน้ารับรู้ถึงช่วงเวลาที่ทำงาน ว่าคุณได้ให้ความทุ่มเทมากแค่ไหน และใส่ความเป็นเหตุเป็นผลเข้าไป เพื่อบอกหัวหน้าเป็นนัยๆ ว่า ต้องการขอขยับปรับเงินเดือน

พูดคุยอย่างมั่นใจแต่ไม่โอ้อวด

ถึงแม้ผลงานที่ผ่านมาผลงานของคุณจะดีมากขนาดไหนก็ตาม หากคุณพูดคุยแบบโอ้อวดและรุกเร้าจนเกินพอดีก็อาจทำให้การพูดคุยครั้งนี้ดูน่าหมั่นไส้ จนหัวหน้าอาจจะเซย์โนให้กับการเจรจาขอขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ก็เป็นได้

  • ไม่เจาะจงตัวเลข
    หากหัวหน้าถามคุณเรื่องความก้าวหน้าในบริษัทที่คุณต้องการและตัวเลขที่ขอขึ้นเงินเดือน ก็ไม่ควรโพล่งบอกเจาะจงตัวเลขไปเลย ควรบอกไปว่าขอให้เพิ่มขึ้นตามผลงานที่ผ่านมา หรือเป็นไปตามความเห็นของหัวหน้าและฝ่าย HR จะดีที่สุด
  • ไม่ควรก้าวร้าวกับหัวหน้า
    เมื่อพูดคุยกับหัวหน้าจนถึงจุดที่คุณพอมองออกว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในการขอปรับเงินเดือนคือการเซย์โน ก็ควรจะใจเย็น ไม่แสดงกิริยาที่เสียมารยาทหรือก้าวร้าว ถึงแม้ครั้งนี้เงินเดือนยังไม่ขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหัวหน้าจะไม่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาในภายในหลัง ส่วนคุณเอง ลองย้อนกลับไปอ่าน 5 Checklists นั้นอีกครั้งแล้วดูว่ารอบหน้าเราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร เพื่อให้ 5 ผ่านจากทุก 5 ข้อ
Key Take Away
  • ชีวิตคนทำงานทุกคนย่อมต้องการความก้าวหน้าในบริษัทและค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ หากรู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบควรเลือกที่จะเจรจาขอขึ้นเงินเดือนแบบตรงไปตรงมาดีกว่าการชิงลาออกเพราะคิดว่าบริษัทไม่เห็นค่า
  • ก่อนเข้าพบหัวหน้าเพื่อขอขึ้นเงินเดือนต้องแน่ใจว่าที่ผ่านมาคุณมีศักยภาพในการทำงานที่ดีมากพอ ด้วยการทำ Check list เช็กตัวเอง 5 ข้อ ดังนี้
  1. วินัยการทำงาน : ขาด ลา มาสาย บ่อยแค่ไหน?
  2. ตีราคาความสามารถของตัวเอง : เช็กเรทเงินเดือนของตำแหน่งงานเดียวกับที่คุณทำอยู่ในบริษัทอื่นๆ จะได้รู้ถึงอัตราเงินเดือนที่ควรใช้ต่อรอง
  3. ทำงานหนักเกินกว่าหน้าที่ : หากต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ที่ตกลงกันไว้มากจนเบียดบังเวลาของงานหลัก คุณควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม
  4. สร้างผลงานที่ดีเป็นประโยชน์ต่อบริษัท : ที่ผ่านมาคุณสร้างผลงานที่มีประโยชน์ต่อบริษัทบ้างหรือไม่?
  5. ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน : ในช่วงที่บริษัทเกิดวิกฤติ หากคุณยังคงยืนคียงข้างและช่วยเหลือบริษัท เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ คุณก็ควรได้รับการตอบแทน

เมื่อตัดสินใจเข้าเจรจาเพื่อขอขึ้นเงินเดือน ควรเลือกช่วงเวลาที่หัวหน้าอารมณ์ดี โดยเข้าไปพบและพูดคุยด้วยเหตุและผล ไม่ควรโอ้อวดผลงานที่ผ่านมามากเกินไป และหากหัวหน้าเปิดโอกาสให้บอกตัวเลขที่ต้องการ ไม่ควรเจาะจงตัวเลขแต่ขอให้พิจารณาตามผลงานที่ผ่านมา หรือหากผลการเจรจาการขอขึ้นเงินเดือนไม่สำเร็จ ก็ไม่ควรเสียมารยาทเพราะหัวหน้าอาจจะต้องนำไปพิจารณาก่อนจึงจะแจ้งคุณอีกครั้งก็ได้

 

 

 

Passion in this story