6 เทรนด์การลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดี พร้อมเทคนิคจัดพอร์ทการลงทุน

เทรนด์การลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดีในปัจจุบันมีหลากหลายทางเลือก โดยนักลงทุนต้องวางเป้าหมายการลงทุนควบคู่ไปกับการประเมินอัตราความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และการศึกษาเงื่อนไขของการลงทุนแต่ละประเภทโดยละเอียด

คนที่มีเงินก้อนแล้วกำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผล ไม่ว่าจะเพื่อนำเงินก้อนนี้ไปสร้างครอบครัว เก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลาน นำผลกำไรและผลตอบแทนที่ได้ไปลงทุนต่อยอดในธุรกิจของตัวเอง หรือเก็บเงินที่งอกเงยเหล่านี้เอาไว้ใช้ในยามเกษียณ วันนี้เรา 6 เทรนด์ลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดี รวมถึงเทคนิคการจัดพอร์ทการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการมาฝากกัน

6 เทรนด์การลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดี

  • ฝากประจำแบบปลอดภาษี หากคุณมีเงินก้อนที่สามารถตัดฝากได้ในแต่ละเดือน ดอกเบี้ยของเงินฝากประจำก็ถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นดอกเบี้ยแบบปลอดภาษี ซึ่งจะให้ดอกเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละธนาคาร ซึ่งการลงทุนประเภทนี้จะเป็นการการันตีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะได้รับในอัตราคงที่แน่นอน แต่อาจจะมีความยุ่งยากเนื่องจากต้องตัดฝากเงินเป็นประจำทุกเดือนและต้องฝากให้ครบตามกำหนดระยะเวลาจึงจะได้ผลตอบแทนตามเงื่อนไข คือ 2 ปี
  • ฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ล้วนให้ผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลรายปี ในอัตราที่มากกว่าเงินฝากธนาคารทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหากคุณทำงานอยู่ในหน่วยงานที่มีรูปแบบการฝากเงินลักษณะนี้ การจัดสรรปันส่วนเงินในสหกรณ์เพื่อรอรับปันผลเป็นเงินก้อนรายปี ก็ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมเข้าร่วมประชุมและติดตามข้อมูลข่าวสารการบริหารจัดการสหกรณ์อยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยงด้วย
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประเภทนี้คนที่ส่งเงินเข้าจะได้รับผลตอบแทนแบบ 2 ต่อ คือ เงินสบทบจากนายจ้างและดอกผลจากการลงทุนของกองทุน เนื่องจากนักลงทุนยังสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนของกองทุนตามความเสี่ยงที่รับได้แต่ละคน เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับมากขึ้นตามความเสี่ยงที่เลือก ซึ่งแนะนำว่าควรนำส่งเงินให้เต็มจำนวนเพดานที่สามารถส่งเงินเข้าไปได้คือ 15% เพราะนักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าเงินก้อนนี้จะเป็นเงินเก็บระยะยาว ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

กองทุนรวม (Mutual Fund) ได้แก่
กองทุนรวมตราสารหนี้

ความเสี่ยง – เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากกองทุนจะเงินนำไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ผลตอบแทน – ดอกเบี้ยประจำในอัตราที่กองทุนกำหนดและผลตอบแทนที่เป็นส่วนต่างจากการลงทุน
ระยะเวลาการลงทุน – มีทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นและกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป


กองทุนรวมแบบคุ้มครองเงินต้น

ความเสี่ยง – เป็นรูปแบบของกองทุนรวมที่ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีการการันตีเงินต้นให้กับนักลงทุน
ผลตอบแทน – กำไรที่ได้จากการลงทุนซึ่งไม่ต่ำกว่าเงินต้นที่ได้ลงทุนไป
ระยะเวลา – ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนด


กองทุนรวมแบบมีประกัน

 ความเสี่ยง – เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากมีการรับประกันว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ผลตอบแทนที่ได้จะไม่น้อยกว่าเงินต้นที่ลงทุนไปอย่างแน่นอน
ผลตอบแทน – ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินต้นหรือเงินต้นพร้อมผลตอบแทนที่มีการรับประกัน
ระยะเวลา – ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนด


กองทุนรวมตลาดเงิน

ความเสี่ยง – ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ระยะสั้น
ผลตอบแทน – ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินฝากประจำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาด
ระยะเวลา – ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี


กองทุนรวมตราสารทุน

ความเสี่ยง ความเสี่ยงสูงเนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65%
ผลตอบแทน ผลตอบแทนได้จากส่วนต่างของมูลค่าการลงทุนและเงินปันผลตามเงื่อนไขของกองทุน
ระยะเวลา ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนด


กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ์

ความเสี่ยง – ความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนในใบแสดงสิทธ์ที่จะซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนมากกว่า 65%
ผลตอบแทน – ส่วนต่างจากมูลค่าของหน่วยลงทุน
ระยะเวลา – ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนดกองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ


กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ

ความเสี่ยง – ความเสี่ยงสูง เนื่องจากนำเงินไปลงทุนในตราสารของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน
ไม่น้อยกว่า 65%
ผลตอบแทน – ส่วนต่างจากมูลค่าการลงทุน
ระยะเวลา – ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่กองทุนกำหนด

  1. ตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้
    นักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า การเลือกลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ภาคเอกชนเสนอขายเพื่อระดมทุนไปใช้ในธุรกิจของตัวเอง ถือเป็นทางเลือกของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลตอบแทนในหลายรูปแบบ ได้แก่ ดอกเบี้ยที่แบ่งจ่ายแบบคงที่ ดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือตราสารหนี้แบบทบ ดอกเบี้ย ซึ่งจะได้รับทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคืนเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน เป็นต้น แต่ทั้งนี้นักลงทุนก็ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจองหรือซื้อหน่วยลงทุนได้ทันเมื่อมีการประกาศขายหุ้นกู้ด้วย เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทนี้จะขายไวหมดไว เพราะให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
  2. เล่นหุ้นหรือออมหุ้น
    ผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูงและเป็นผู้ที่เวลาติดตามข่าวคราวในแวดวงทางการเงินและแวดวงธุรกิจอยู่เสมอ การนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง ตลาดโลก และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยงในพอร์ทหุ้นของตัวเอง ด้วยการเล่นหุ้นในหลายตลาด นอกจากตลาดหุ้นไทยแล้ว อาจจะต้องศึกษาการไปเล่นหุ้นในตลาดต่างประเทศด้วยเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน โดยอาจจะจัดเริ่มต้นสรรเงินลงทุนเล่นหุ้นในตลาดไทย 70% และตลาดในประเทศ 30% โดยเล่นทั้งหุ้นปันผลระยะยาวและเล่นหุ้นระยะสั้นควบคู่กันไปเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงอีกต่อหนึ่ง

เทคนิคการจัดพอร์ทการลงทุน

ก่อนวางแผนจัดพอร์ทการลงทุน นักลงทุนต้องมีการประเมินตัวเองถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ ว่าต้องการผลตอบแทนระยะสั้นเพื่อนำเงินไปใช้จ่าย ต้องการนำเงินไปลงทุนหมุนเวียนในธุรกิจของตัวเอง หรือต้องการเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ หลังจากนั้นก็ประเมินความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ต่อด้วยการศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของการลงทุนแต่ละประเภทโดยละเอียด แล้วเริ่มจัดพอร์ทการลงทุน

ตัวอย่างการจัดพอร์ทลงทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและต้องการผลตอบแทนเพื่อไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจของตัวเอง

  • ฝากประจำ 30%
  • หุ้นกู้ 30%
  • กองทุนรวมตราสารทุน 20%
  • กองทุนรวมตลาดเงิน 20%

สุดท้ายนอกจากเงินที่นำเอาไปลงทุนแล้ว ต้องอย่าลืมจัดสรรปันส่วนเงินอีก 1 ก้อน แยกเอาไว้ต่างหาก นั่นคือเงินสดซึ่งเป็นเงินเก็บที่สามารถถอนได้เผื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ง่าย ๆ โดยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ฝากไว้ในธนาคาร ถึงปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์จะอยู่ที่อัตราสูงสุดไม่เกิน 2% แต่เงินจำนวนนี้ที่สามารถออกได้ตลอดเวลาจะช่วยให้คุณมีสภาพคล่องในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินสดได้เป็นอย่างดี

“การลงทุนต้องเริ่มต้นจากการวางเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการลงทุน ประเมินความเสี่ยง ศึกษาข้อมูล เลือกลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้และต้องมีการจัดสรรเงินสดเผื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน”

Key Takeaway

  1. วางเป้าหมายและวัตถุประสงค์การลงทุนว่าต้องการผลตอบแทนระยะสั้นหรือระยะยาว
  2. ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  3. ศึกษาข้อมูลการลงทุนแต่ละประเภทโดยละเอียด
  4. จัดพอร์ทและจัดสรรปันส่วนเงินสำหรับการลงทุน
  5. ฝากเงินสดแบบออมทรัพย์เผื่อเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 

Passion in this story