Categories: FeaturedINSPIRE

เทคนิควางแผนภาษีก่อนสิ้นปีเพื่อมนุษย์เงินเดือน อยากได้ทั้งเงินออม ลดหย่อน เงินเพื่อธุรกิจสำหรับอนาคต รวมมาไว้ให้แล้ว

เทคนิควางแผนภาษีก่อนสิ้นปีเพื่อมนุษย์เงินเดือน อยากได้ทั้งเงินออม ลดหย่อน เงินเพื่อธุรกิจสำหรับอนาคต รวมมาไว้ให้แล้ว

การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์เงินเดือนทุกคน ซึ่งหากมีการวางแผนลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างถูกต้องแล้ว เงินเหล่านี้ยังสามารถเป็นเงินเก็บในอนาคตเพื่อการลงทุนในธุรกิจของตัวเองได้อีกด้วย

ช่วงใกล้สิ้นปีคงเป็นช่วงที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายกำลังวางแผนลดหย่อนภาษี ด้วยการลงทุนกันอยู่ วันนี้เราจึงนำเทคนิคและแนวทางของการใช้ตัวช่วยซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือนต้องเสียมาฝากกัน ซึ่งแนวทางการลงทุนเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการใช้ลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นเงินออมและเงินเก็บเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ รวมถึงยังสามารถนำดอกผลและผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนมาสร้างธุรกิจของตัวเองให้เป็นจริงตามเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคตได้อีกด้วย

5 แนวทางการลงทุน เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี แถมยังเป็นเงินเก็บและเงินลงทุนในธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้

  • เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เป็นกองทุนที่ทำหน้าที่เก็บเงินแบบสะสมทั้งส่วนของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนนี้ เพราะฉะนั้นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนฯ เพื่อทำการเก็บสะสมเงินเอาไว้ใช้ในอนาคต โดยสามารถลงทุนจ่ายเงินสะสมเข้าไปได้ในอัตราตั้งแต่ 2-15% ส่วนนายจ้างก็จะจ่ายสมทบเป็นเงินออมเข้าไปอีกเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์เท่ากับที่เราสะสมเข้าไป และไม่ใช่เป็นเพียงการสะสมเงินเท่านั้น เงินก้อนนี้ยังถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวม เงินฝาก หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ เพื่อให้เกิดดอกออกผลเพิ่มเติมเกิดเป็นผลประโยชน์ตอบแทน ที่เมื่อมนุษย์เงินเดือนลาออกจากงานประจำ หลังจากที่ได้ทำงานมาครบระยะเวลาตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด จะได้รับเงินก้อนนี้พร้อมทั้งส่วนที่เป็นเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทน 100% เพื่อเป็นเงินไว้ใช้ในยามเกษียณหรือใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจของตัวเองได้
  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long term Equity Fund : LTF) ใช้เป็นเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท กองทุนรวมหุ้นระยะยาวนี้นอกจากจะเป็นการวางแผนเพื่อประหยัดภาษีแล้ว ยังเป็นกองทุนที่นำเอาเงินจากการซื้อหน่วยลงทุน ไปลงทุนในหุ้นหรือออมหุ้นในสัดส่วน 65% ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดี เหมาะกับการใช้เป็นเงินเก็บระยะยาว เมื่อถือครบ 5 ปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนพร้อมรับผลตอบแทนได้เต็มจำนวน อีกทั้งบางกองทุนรวมยังมีผลประโยชน์ในรูปแบบของเงินปันผลรายปีให้อีกด้วย แต่มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการซื้อ LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีก็ต้องรีบหน่อยเพราะมีข่าวล่าสุดจากประธานสภาตลาดทุนไทยออกมายืนยันว่าในปี 2562จะไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อหน่วยลงทุน LTF อีกต่อไป แต่จะมีการจัดตั้งกองทุนรวมรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทน
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้และเมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน กบข. (ถ้ามี) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพถือเป็นการออมระยะยาว ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนมีเงินออมและเงินเก็บเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยเป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงคละเคล้ากันไป ทั้งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ตั๋วเงินคลัง ไปจนถึงการออมหุ้น ซึ่งเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนี้ มนุษย์เงินเดือนจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซื้อ RMF อย่างน้อยปีละครั้ง ขั้นต่ำเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาทและต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน ในส่วนของการขายคืนหน่วยลงทุน จะสามารถขายได้เมืองผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีและต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเท่านั้น ถือเป็นทางเลือกของการลงทุนที่สามารถใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีได้ในระยะยาวอีกทั้งยังเป็นแนวทางสำหรับการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณได้เป็นอย่างดี
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่กรมธรรม์มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากจะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังเป็นการลงทุนระยะยาวที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมที่แน่นอนพร้อมความคุ้มครองชีวิต โดยมนุษย์เงินเดือนจะต้องจ่ายเงินซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ทุกปีตามเงื่อนไขระยะเวลาที่กำหนด จึงจะได้รับผลตอบแทน เงินคืนพร้อมความคุ้มครองชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกัน ประกันชีวิตแบบนี้เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมั่นคง และสามารถมั่นใจได้ว่าเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับเงินก้อนคืนเพื่อไว้ใช้จ่าย เป็นเงินเก็บ หรือเพื่อการลงทุนในธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้อย่างแน่นอน
  • ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้และใช้ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เป็นการลงทุนเพื่อเงินเก็บสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยมนุษย์เงินเดือนต้องทำการส่งเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนถึงกำหนดการเกษียณอายุตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ เช่น ส่งเงินไปจนถึงอายุ 55 ปี แล้วหลังจากนั้นจะได้รับเงินคืนในรูปแบบของเงินก้อนเป็นจำนวนเงินที่ได้กำหนดไว้ตามเงื่อนไขของประกันไปจนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี เป็นต้น

แนวทางการลงทุนอีก 2 ประเภทที่สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้

  • ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เงินที่ใช้ไปเพื่อเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง สามารถใช้หักลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนต่อเนื่องกันได้ 5 ปีภาษีเป็นจำนวนปีละเท่า ๆ กัน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของมนุษย์เงินเดือนจึงย่อมไม่เสียเปล่า ได้ทั้งที่อยู่อาศัยในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้ถึง 5 ปี ไม่เพียงเท่านั้นอสังหาริมทรัพย์ชิ้นนี้ยังสามารถใช้เป็นสินทรัพย์หลักประกันเพื่อการลงทุนสร้างธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มนุษย์เงินเดือนที่มีการกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจของตัวเอง ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นซึ่งจ่ายไปแล้วก็สามารถนำมาใช้ลดหย่อนเพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายภาษีประจำปีได้เช่นเดียวกัน

เทคนิคการวางแผนภาษีเหล่านี้ไม่ได้เป็นการวางแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีในแต่ละปีเท่านั้น แต่ยังเป็นเงินลงทุนที่สามารถใช้เป็นเงินเก็บเพื่อการใช้จ่ายในอนาคตยามเกษียณ รวมถึงยังเป็นเงินเก็บสำหรับใช้ในการลงทุนธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย

เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่กำลังวางแผนออกจากงานประจำเพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง ก็ควรเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์ให้กับตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้มีเงินเพื่อสานฝัน สร้างธุรกิจของตัวเองให้เป็นจริงได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่อิสรภาพทางการเงินและมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในอนาคตเพื่อการเกษียณได้เร็วยิ่งขึ้น

“การวางแผนลดหย่อนภาษี ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อการลดค่าใช้จ่ายทางภาษีเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่อนำไปสู่การมีธุรกิจของตัวเองในอนาคตและเป็นเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณได้อีกด้วย”

Key Takeaway

  1. รู้จักวางแผนภาษีแต่เนิ่น ๆ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษี และมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ
  2. แนวทางการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีแล้ว ยังเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลตอบแทน เพื่อนำมาต่อยอดสร้างธุรกิจของตัวเองในอนาคตได้

 

Passiongen

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

6 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

9 months ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

10 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

10 months ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

1 year ago

This website uses cookies.