Categories: INSPIRENews

CareerVisa บัตรผ่านสู่อาชีพที่ใช่ของเด็กไทย

4.1 / 5 ( 21 votes )

อาจเพราะปัญหาการว่างงานที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงทำให้เด็กหลายคนเลือกที่จะเรียนในคณะหรือสายงานที่หางานได้ง่าย โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Passion ของตัวเองคืออะไร สิ่งไหนคือความถนัดและอะไรคือศักยภาพที่ซ่อนอยู่ หวังแค่ได้อยู่ใน Safe Zone ที่จะไม่ต้องเตะฝุ่นหลังเรียนจบเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อยิงคำถามไปยังเด็กจบใหม่ถึงอาชีพที่จะทำหลังเรียนจบ คำตอบที่มักได้กลับมาก็คือ “ยังไม่รู้” PassionGen จึงอยากแนะนำธุรกิจเพื่อสังคมแนวคิดใหม่ CareerVisa –บัตรผ่านสู่อาชีพที่ใช่ เปลี่ยนโลกการทำงานให้มีความสุข ที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตของน้อง ๆ นักศึกษาที่ยังไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ทดลองลงมือทำงานก่อนที่จะได้ไปใช้ชีวิตในสนามจริง ตาม PassionGen ไปรู้จักธุรกิจนี้ให้มากขึ้นผ่านคุณพิน-เกษมศิริ Co-Founder ของ CareerVisa กันเลยดีกว่า

คุณพิน เกษมศิริ ผู้ก่อตั้ง CareerVisa

คุณพินจบการศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ University of California, Berkeley – Walter A. Haas School of Business รวมทั้งมีโอกาสได้ฝึกงาน และเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ มากมาย ด้วยดีกรีการศึกษาและความสามารถที่โดดเด่น ทำให้คุณพินมีโอกาสที่จะได้ทำงานในบริษัทชั้นนำจำนวนมาก แต่เธอเลือกทิ้งโอกาสที่จะเติบโตในบริษัทใหญ่ๆ มาทำงานที่เป็นประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาให้กับเด็ก ๆ และสังคม ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเธอเอง ซึ่งจุดเปลี่ยนเกิดจากที่เธอพบว่าเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันสมัยมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายคนเปลี่ยนงานมาหลายงานแล้ว ทำให้เธอคิดว่า เพื่อนๆ เธอล้วนเป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดี ๆ แต่ยังขาดทักษะการรู้จักตนเอง ไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะทำอะไรในชีวิต หรือเมื่อมารู้ตัวตอนอายุมากขึ้นก็ไม่กล้าที่จะออกจาก comfort zone ไปยังในเส้นทางใหม่ เธอจึงอยากช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำแบบนี้อย่างจริงจัง เธอเลยคิดว่า ในเมื่อสิ่งที่ควรจะมีมันยังไม่มี เธอก็ต้องทำมัน และสร้างมันให้เกิดด้วยตัวเอง

เด็กหลายคนไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนมานั้นเอาไปทำอะไรได้บ้าง และใบปริญญาที่ได้รับมานั้นมีคุณค่ากับตัวเองมากแค่ไหน เราจะรู้สึกดีทุกครั้งถ้าหากได้พูดคุยกับเด็กสักคนหนึ่ง แล้วได้เห็นประกายอะไรบางอย่างจากเด็กคนนั้น ที่แสดงออกว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารออกไป
คุณพิน-เกษมศิริ Co-Founder ของ CareerVisa

แนะนำบทความน่าอ่าน

CareerVisa คำตอบของอาชีพที่ใช่

CareerVisa จึงเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของ Co-Founder 4 คน ได้แก่ คุณพิน-เกษมศิริ, คุณพลอย-วสุธร, คุณเม-ศศิพร และคุณเอ็ม-ธีรยา ซึ่งทุกคนล้วนมีงานประจำในบริษัทที่มั่นคง แต่ทุกคนมี Passion เดียวกันนั่นคือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่เชื่อมชีวิตนักศึกษาสู่โลกการทำงานผ่านประสบการณ์จริง เพื่อให้ได้ทำงานที่ใช่ มี Passion และมีความสุขกับการทำงานอย่างแท้จริง โดย CareerVisa จะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษากับน้อง ๆ นักศึกษา ให้เขารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และรู้จักที่จะวาง Mindset ของชีวิตให้มีเป้าหมายมากขึ้น พัฒนาตัวเองได้ถูกทาง ไม่ต้องมัวหลงทางกับการทำงานที่ไม่ใช่ จนพลาดที่จะใช้ศักยภาพที่ตัวเองมี ทำให้ต้องเสียเวลาชีวิตไปแบบฟรีๆ โดยไม่เกิดประโยชน์กับใคร เพราะปัญหาเด็กไทยค้นหาตัวตนของตัวเองไม่เจอเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่สังคมควรต้องใส่ใจและร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง

“ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เมื่อถามเด็กว่า จบแล้วจะทำงานอะไร คนประมาณ 80 คน จาก 100 คน บอกว่า ‘ไม่รู้’ คนส่วนหนึ่งอาจโชคดีที่รู้คำตอบ แต่เรื่องนี้ไม่สมควรจะเกี่ยวกับโชค เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเป็นอย่างนี้น้อยลง และมีส่วนช่วยให้เด็กมหาวิทยาลัยที่กำลังจะก้าวสู่โลกการทำงาน ให้เขาได้ทำงานที่ใช่และมีความสุขมากขึ้น”
คุณเม-ศศิพร Co-Founder ของ CareerVisa

ทำไมเด็กไทยจึงหาตัวเองไม่เจอ?

จากการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่าเด็กจบใหม่มักตกงานหรือหางานทำได้ยาก เพราะนักศึกษาไม่ค้นพบตนเอง ไม่มีทักษะพื้นฐานติดตัว ไม่รู้ว่าอยากเรียนมาแล้วจะเอาไปทำอะไร และไม่มีเป้าหมายในอนาคต เมื่อเรียนจบและไปสมัครงานก็เลยหว่านใบสมัครแบบไม่รู้จุดหมาย

ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงการไม่รู้จักตัวตนของเด็กไทยได้เป็นอย่างดี แต่เพราะอะไรถึงทำให้การค้นหาตัวตนเป็นเรื่องยาก?

  • การเลี้ยงดูแบบตีกรอบ – พ่อแม่คนไทยมักรักและเป็นห่วงลูกเกินไปจึงมักคิดแทน วางแผนการเรียนและคาดหวังให้ลูกมีอนาคตที่ดีในรูปแบบที่สังคมยอมรับ เช่น เรียนเก่งต้องเป็นหมอ ชอบคำนวณต้องเรียนวิศวะ ทั้งที่ความจริงแล้วควรเปิดกว้างให้เด็กได้ค้นหาในสิ่งที่ชอบและดึงศักยภาพที่มีออกมาโดยการแนะนำจะดีกว่า
  • ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันมากกว่าเรียนรู้ – การแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีโอกาสสูงในการได้เข้าเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ คือแรงกดดันที่กวาดต้อนเด็กๆ เข้าสู่สังคมการแข่งขัน ปิดกั้นความคิด จินตนาการ เน้นเรียนรู้แต่วิชาการเพื่อได้เป็นที่หนึ่ง แต่ไม่เคยให้เด็กได้ถามตัวเองว่าแท้จริงแล้วอะไรคือตัวตนและสิ่งที่พวกเขาต้องการ
  • ขาดการแนะนำและสนามแห่งการเรียนรู้ – ในต่างประเทศจะมี Career Center ที่ช่วยให้คำปรึกษากับเด็ก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางและมีความสามารถในการพูดคุยเพื่อดึงศักยภาพของตัวเด็กออกมาได้  นอกจากนี้สิ่งที่เด็กๆ ยังขาดคือสนามแห่งการเรียนรู้นอกเวลา กิจกรรมด้านอาชีพต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงทำแบบ “Learning by Doing” ที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีกลุ่มคน หรือหน่วยงานที่จริงจังกับกิจกรรมเช่นนี้น้อยมาก

CareerVisa ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

ทาง CareerVisa จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนของคำแนะนำดีๆ การดึงศักยภาพที่เด็กๆ มีอยู่ในตัวออกมาต่อยอดและพัฒนาตัวเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กค้นพบตัวเอง  การจัดฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ เช่น การเขียนเรซูเม่ ทักษะการนำเสนอ  ทักษะพื้นฐานอย่างการใช้โปรแกรม Microsoft Excel ฯลฯ เพื่อให้เด็กมีความรู้ติดตัว ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง โดยทั้งหมดนี้เปิดให้เด็กเข้าร่วมฟรี

โดยทาง CareerVisa จะหารายได้จากสปอนเซอร์ซึ่งเป็นบริษัทต่างๆ ที่มีคอร์แวลูเดียวกัน คืออยากเตรียมพร้อมเด็กเข้าสู่โลกการทำงาน เช่น เว็บไซต์จัดหางานต่างๆ เป็นต้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือที่ win-win โดยทำการคิดโปรเจคร่วมกัน แล้วแทรกแบรนด์ของบริษัทเข้าไปอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ด้วย

ธุรกิจเพื่อสังคมจะเติบโตและไปได้ไกลแค่ไหน?

หลายคนอาจมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมมักขาดทุนและสุดท้ายก็ต้องปิดตัวไป แต่เพราะ CareerVisa เป็นการรวมตัวของคนที่มีทั้งดีกรี ประสบการณ์ และ Passion จึงใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  โดยหลังดำเนินธุรกิจมาประมาณ 2 ปี รายได้ในปี 2558 เติบโตขึ้นจากปี 2557 ถึง 254% ขยายจากทีมเล็กๆ เพิ่มมามีสมาชิกรวม 7 คน ทั้งยังมีแผนการดำเนินงานที่จะเปิดคอร์สเทรนนิ่งสำหรับการพัฒนาตัวเองแบบเฉพาะทางเพิ่มขึ้น โดยจะเก็บค่าใช้จ่ายผู้เข้าเรียนในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย

CareerVisa เชื่อว่าการตั้งเป้าหมายทางด้านอาชีพที่ชัดเจน ต้องอาศัยการได้ลองลงมือทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะอยู่ควบคู่ไปกับการศึกษาในห้องเรียน หากน้อง ๆ เข้าใจวิธีการวางแผนอาชีพ และรู้จักพัฒนาตนเองตั้งแต่ขณะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย พวกเขาก็จะค้นพบเป้าหมาย และมุ่งมั่นพัฒนาตนเองเพื่อสร้างอนาคตที่ดีหลังเรียนจบ และกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมได้ในที่สุด

นี่เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจดี ๆ ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมแนวคิดใหม่ ที่ไม่ได้แค่หวังผลกำไรแต่ยังเน้นการแบ่งปันและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ สู่สังคม เพราะการยิ่งให้คุณก็จะยิ่งได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ในรูปแบบของตัวเงินแต่ก็จะกลับมาในรูปแบบของความสุขใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนในการสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้ในสังคมของเรา

Passiongen

View Comments

Recent Posts

Young SME หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ชู Soft Power เสริมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดหลักสูตร “Young SME” สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เน้นเชื่อมโยง Soft Power เสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และประธานคณะกรรมการ หลักสูตร Young…

9 months ago

Driving People’s Actions แนวคิดธุรกิจยุคใหม่ กับ มุมมองด้านความยั่งยืน

บุรินทร์เจอนี่ พาไปรู้จักกับแนวคิด Driving People’s Actions ของบริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด และการรูปแบบการทำงานในองค์กรที่สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในทุก ๆ กิจกรรมรอบตัว โดยคุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…

1 year ago

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล “ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี” จากงาน DG Awards 2023

อธิบดีกรมสรรพสามิตรับรางวัล "ผู้นำองค์กรดิจิทัลดีเด่นแห่งปี" พร้อมอีก 2 รางวัล จากงาน DG Awards 2023 โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ดร.…

1 year ago

Driving People’s Actions แนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์แบรนด์ สไตล์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส

ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ฉลองความสำเร็จครบรอบ 20 ปี เผยกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจจากประสบการณ์และ ความสำเร็จที่เน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ Driving People’s Actions คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท…

1 year ago

พิธีปิดการอบรมหลักสูตร SML รุ่นที่ 4 ปี2566

พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานมอบใบประกาศนียบัตร หลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ รุ่นที่ 4 แก่ผู้สำเร็จการอบรม 241 คน 27 มิถุนายน 2566, กรุงเทพ:…

1 year ago

เมื่อสูงวัยต้องไปทำฟัน

ห่างหายไปนานสำหรับคอลัมน์ HiGen by Je Supaluck การกลับมาครั้งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟัง "ผู้สูงวัย" น่าจะนับได้จากผู้มีอายุ 50 ขึ้นไป (วัยกลางคน) นั่นล่ะคือคนที่เริ่มเข้าสู่คนยุคสูงวัย (HiGen) โดยแท้ ไม่เว้นว่าเป็นหญิงหรือชายนับแต่คริสต์ศักราช…

2 years ago

This website uses cookies.