อย่างที่รู้กันดีว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพ นั้นเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากไอเดีย และ Business Model ที่ต้องทำซ้ำได้สามารถสร้างผลกำไรได้สูงแบบก้าวกระโดดซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าการทำธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ SME สิ่งที่สำคัญในการต่อยอดไอเดียและแผนธุรกิจที่วางไว้ให้สามารถขับเคลื่อนได้จริงก็คือเงินลงทุน

ในขั้นต้นเจ้าของกิจการมักเริ่มจากใช้ทุนส่วนตัวแต่เมื่อถึงจุดที่ต้องการก้าวกระโดดตาม Business Model ที่วางไว้ไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจให้ไปถึงจุดหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาทำความรู้จักกับ 5 แหล่งเงินทุนสุดเจ๋งที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตกันดีกว่า

“ถ้าคุณทำ 10 อย่าง สำเร็จ 3 อย่าง ก็ถือว่าเก่งแล้วคนที่ยิ่งทำเยอะก็ยิ่งผิดเยอะ แต่คนที่ไม่เคยคิดทำผิด คือคนที่ไม่คิดทำอะไรเลย” แนวคิดผู้นำที่ดี ธนินท์ เจียรวนนท์

1. GSB สุดยอด SMEs STARTUP

เป็นโครงการสนับสนุน ธุรกิจสตาร์ทอัพ และ SMEs ของธนาคารออมสิน ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันเพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจ SMEs หรือ Startup ที่สามารถทำได้เลย ทำได้เร็วและทำได้จริง ช่วยสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้ตาม Business Model ที่เจ้าของกิจการได้วางไว้ โดยช่วยเปิดช่องทางการพบกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหม่กับแหล่งเงินทุนหรือ Venture Capital ( VC ) เพื่อทำการขอทุนในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้โครงการของ GSB สุดยอด SMEs STARTUP ยังช่วยส่งเสริมความรู้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เจ้าของธุรกิจโดยทางโครงการมีเงินทุนประเดิมในการสนับสนุน หรือต่อยอดธุรกิจมอบให้เป็นมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านบาทเลยทีเดียว

หากเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ SMEs คนไหน มั่นใจว่าธุรกิจที่ทำอยู่เป็นธุรกิจที่มีความสุดยอดทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ แผนธุรกิจมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่าลังเลใจรีบสมัครกันได้เลย

2. AddVentures

บริษัทในรูปแบบ Corporate Venture Capital  ของเอสซีจี อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ You Innovate, We Scale” มีเป้าหมายเพื่อดึงศักยภาพสตาร์ทอัพทั่วโลก ให้มาร่วมกันยกระดับ Ecosystem ด้วยองค์ความรู้เครือข่าย และฐานลูกค้าทั่วอาเซียนซึ่งรูปแบบการลงทุนในช่วง 3-5 ปีแรก จะวางงบประมาณในการลงทุนเฉลี่ยครั้งละ 1-5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเทคโนโลยีเป้าหมายที่ AddVentures สนใจลงทุน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Enterpris 2.Industrial และ 3.B2B  โดยภายใต้แต่ละกลุ่มหลัก ยังมีกลุ่มย่อย ๆ เช่น Logistics & Supply Chain Tech, Smart Packaging Tech, Chemicals Tech, Construction Tech, Industrial & Manufacturing Tech, Industrial & Construction Product Marketplace เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดจะเป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่มของเอสซีจี ได้แก่

  1. ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  2. ธุรกิจเคมิคอลส์ 
  3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ขณะที่รูปแบบการลงทุนจะเปิดกว้างทั้งการสร้างโอกาสให้แก่สตาร์ทอัพได้เรียนรู้และใช้คอนเนคชั่นของทาง SCG เพื่อพัฒนาและเติบโตรวมไปถึงการสนับสนุนธุรกิจของสตาร์ทอัพในด้านความร่วมมือเชิงพาณิชย์ (Commercial Deal) ทั่วไป การอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Licensing) การร่วมทุน (Joint Venture) ไปจนถึงการเข้าซื้อกิจการในสตาร์ทอัพนั้น ๆ

แนะนำบทความน่าอ่าน

3. SCB Digital Ventures

บริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ โดย ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารฯ โดย ดิจิทัล เวนเจอร์ส จะร่วมสร้างโอกาสและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตผ่านทาง

  • LAB/Products  : ห้องแลปพัฒนาดิจิตัลเทคโนโลยีทางด้านการเงินโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่อง IoT Biometric Blockchain Machine Learning ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมวิถีชีวิต และโลกของเราอย่างแน่นอนในอนาคตโดยแลปจะมีที่ปรึกษาให้สตาร์ทอัพ ว่าสิ่งที่คุณคิดทำอยู่เป็นไปได้แค่ไหนมีเทคโนโลยีอะไรที่จะสนับสนุนธุรกิจของคุณได้บ้างจนเป้าหมายของคุณเป็นจริง
  • Digital Ventures Accelerator : โปรแกรม Digital Ventures Accelerator ของ SCB จะเป็นที่สำหรับให้เหล่าสตาร์ทอัพได้มาเข้าร่วมเป็นเวลา 6 เดือน โดยจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบติดจรวดทางธุรกิจของสตาร์ทอัพให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ และ Business Model โดยจะมี Mentor ทางธุรกิจมาวิจารณ์และให้คำแนะนำว่าแผนธุรกิจ หรือ Business Model ของสตาร์ทอัพยังต้องปรับปรุงแและเพิ่มเติมอะไรบ้างเพื่อให้สตาร์ทอัพเป็นรูปเป็นร่าง และพัฒนาไปด้วยกันนอกจากนี้ยังมีเงินตั้งต้นให้อีก 300,000 บาท และมีโอกาสได้ไปพิชชิ่งงานกับลูกค้าแถวหน้าของ SCB รวมถึงคอนเน็คชั่นกับ VC Funders และนักลงทุนอีกมากมาย ตัวอย่างสตาร์ทอัพรุ่นแรก ๆ ของ DVA ก็เช่น Refinn สตาร์ทอัพรีไฟแนนซ์, Flowaccount ระบบบัญชีออนไลน์, Petinsure ประกันภัยออนไลน์สำหรับสัตว์เลี้ยง, Peer power บริการสินเชื่อ, Convolab สตาร์ทอัพพัฒนาแชทบอทสำหรับธุรกิจ เป็นต้น

4. DTAC Accelerate

เป็นโครงการบ่มเพาะ Startup จากค่ายมือถือ DTAC ที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพมานานถึง 6 ปีแล้ว ซึ่งนอกจะเป็นแหล่งเงินทุนและขุมความรู้ด้านสตาร์ทอัพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวจริงในการปั้นสตาร์ทอัพในไทยแล้ว DTAC Accelerate ยังมีพันธมิตรระดับโลก เช่น Google Developers, LINE, Facebook และนักลงทุนจากองค์กรธุรกิจใหญ่ หรือ Corporate Venture Capital อย่าง เมืองไทยประกันชีวิต และ ไทยวา ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งให้ Startup ที่เข้าร่วมโครงการสามารถเติบโตทางธุรกิจได้เร็วขึ้นโดยสตาร์ทอัพใน Portfolio ของที่นี่มีตั้งแต่ Agritech (เทคโนโลยีทางการเกษตร) Edtech (เทคโนโลยีทางการศึกษา) ไปจนถึง Deep Tech (เทคโนโลยีเชิงลึก) ซึ่งเปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพในทุกขั้นไม่ว่าจะมีแค่ไอเดียหรือมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ใช้แล้วก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการของ DTAC Accelerate ได้

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ DTAC Accelerate ดีกว่าที่อื่น ๆ และ Startup ควรสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ คือ

  1. รวม Startup Hero มาทำหน้าที่ Mentor : มีเหล่า Mentor เก่ง ๆ สุดเจ๋งในไทยมารวมตัวกันมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้มารวมตัวกันด้วย “ใจ”  ที่อยากช่วยสตาร์ทอัพน้องใหม่ให้แจ้งเกิดอย่างแท้จริง
  2. ที่นี่ให้มากกว่าแค่เงินลงทุน : สตาร์ทอัพ ต้องการแหล่งเงินลงทุนสำหรับเริ่มต้นธุรกิจ แต่สิ่งที่ประเมินมูลค่าไม่ได้คือ ความช่วยเหลือทางธุรกิจอื่น ๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาทางการตลาดทางกฎหมาย ทางการเงิน การได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูกและหากเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจะมีโอกาสได้ไปที่ Silicon Valley ถิ่นกำเนิด Startup อันดับ 1 อีกด้วย
  3.  สร้าง Connection มุ่งสู่ VC : เงินทุนจาก VC คือสิ่งที่จะมาสนับสนุนธุรกิจทำให้สตาร์ทอัพ เติบโตซึ่ง dtac accelerate เป็นโครงการปั้นสตาร์ทอัพที่เป็นที่รู้จัก และเห็นแล้วว่าที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพ ดาวรุ่งเกิดขึ้นดังนั้นการได้ชื่อว่าผ่าน accelerate แห่งนี้มา จะมี VC ให้ความสนใจอย่างแน่นอน
  4. ผลงานที่ผ่านมา พิสูจน์ความสำเร็จที่ไม่ธรรมดา : ปัจจุบันโครงการ dtac Accelerate มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จถึง 34 บริษัท มีมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ และในปี 2017 สตาร์ทอัพ ของ dtac Accelerate ได้รับการลงทุนในระดับซีรี่ส์ A ถึง 3 บริษัท และมีอีก 8 บริษัทได้รับเงินลงทุนในระดับด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 9.5 ล้านดอลลาร์ 

5. True Incube

เป็นโครงการที่บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด การเป็นระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อสร้างธุรกิจนวัตกรรมในระดับภูมิภาคโดยมุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการให้บริการแบบครบวงจรแก่สตาร์ทอัพ ในอาเซียน และให้เงินทุนสนับสนุนกับธุรกิจ Tech Startup โดยเฉพาะ E-commerce, Digital Marketing, CRM, Payment, Logistic หรือ Agriculture จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

โดยจะเป็นโครงการสำหรับสตาร์ทอัพ ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นที่ เรียบร้อยแล้วมีสินค้าและบริการ หรือสินค้าต้นแบบที่สามารถใช้งานได้จริง (Functioning Prototype) ที่กำลัง ให้บริการอยู่ในตลาดในปัจจุบันและกำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจซึ่งหลักสูตรบ่มเพาะสตาร์ทอัพ 3 เดือนของ TRUE Incube มอบโอกาสในการที่สตาร์ทอัพจะได้รับเงินลงทุนเป็นจำนวน 2 ล้านบาท สูงสุด 4.5 ล้านบาท รวมถึงได้รับการสนับสนุนทางด้านสื่อในเครือมูลค่า 1 ล้านบาทต่อทีม การสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเช่น cloud service นอกจากนี้สตาร์ทอัพ ยังจะได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนระดับโลกผ่านเครือข่ายของเราในวัน Synergy Day และโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของ ทรู ดิจิทัลพาร์ค และสถานที่ทางานฟรีเป็นเวลา 1 ปีอีกด้วย

แนวคิดผู้นำเพื่อความสำเร็จ

ได้รู้จักกับ 5 แหล่งเงินทุนที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพกันไปแล้วจะเห็นได้ว่าการเข้าร่วมโครงการเหล่านนี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนธุรกิจในด้านของการเป็นแหล่งการหาเงินทุนจาก VC และการให้เงินทุนเริ่มต้นผ่านรูปแบบเงินรางวัลแล้วสิ่งที่จะได้รับมากยิ่งกว่าคือการได้เข้าร่วมฝึกอบรมกับ mentor หรือเจ้าของกิจการสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพรูปแบบต่าง ๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปต่อยอดในการวางแผนธุรกิจและ Business Model ของคุณทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้คุณได้เจอกับคอนเน็คชั่นใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพของคุณเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในอนาคตอีกด้วย

Passion in this story