เข้าใจผู้บริโภคยุคดิจิตอล

วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้บริหารเซ็นทรัลออลไลน์
“การทำธุรกิจเราควรเป็นลูกค้าก่อน แล้วเราจะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร” วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้บริหารเซ็นทรัลออลไลน์

ไม่น่าเชื่อว่าเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคสมัยที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยอินเตอร์เน็ตได้รวดเร็วถึงเพียงนี้ซึ่งปัจจุบันถ้ามองไปแล้วแทบไม่มีธุรกิจไหนไม่เชื่อมโยงกับโลกออนไลน์เลยและใครจะไปนึกว่าแม้กระทั่งธุรกิจอาหารก็ยังสามารถที่จะทำให้ผู้คนอิ่มท้องได้โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องไปนั่งรับประทานที่ร้านหรือไม่ต้องให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อเองเพราะตอนนี้ผู้บริโภคสามารถช้อปปิ้งออนไลน์ได้แม้กระทั่งอาหารสั่งซื้อออนไลน์แล้วก็มีบริการส่งแบบเดลิเวอรี่แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังคงคุ้นชินกับการเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบประกอบอาหารจากตลาด ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ แต่จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่าปัจจุบันผู้บริโภคราว 20% ซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวซื้ออย่างน้อยเดือนละครั้งด้วยนี่คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดคำถามตามมาว่าอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจที่จะสั่งซื้ออาหารแบบออนไลน์ ? คำตอบก็คือความสะดวก ความรวดเร็วอีกทั้งการสั่งซื้อออนไลน์ยังมีส่วนลดและโปรโมชั่นดีกว่าการไปสั่งซื้อหรือรับประทานที่ร้านอีกด้วย

ผลสำรวจของ SCB EIC เมื่อเดือนกันยายน 2016
พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มในการสั่งซื้ออาหารออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นก็คือผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20-40 ปีโดยเฉพาะพนักงานบริษัทและผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยจะสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายเป็นหลัก รองลงมาคือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือ

บริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์

เมื่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่าผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วยสังเกตได้จากร้านอาหารชื่อดังอย่าง KFC และ MK Restaurant ต่างหันมาเพิ่มบริการช้อปปิ้งอาหารออนไลน์ให้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับลูกค้าและไม่เพียงแค่นั้นยังได้นำกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มยอดการใช้งานเช่นมอบส่วนลดแก่สินค้าบางชนิดหรือออกโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริการเมื่อรายใหญ่ ๆ ปรับตัวกันขนาดนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่าแนวโน้มตลาดอาหารออนไลน์ “กำลังมา” เป็นรูปแบบธุรกิจที่มองเห็นอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วเหตุนี้ Startup ทั้งหลายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโมเดลธุรกิจและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้สอดรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปถ้านึกไม่ออกให้ลองดูตัวอย่างจาก Happy Fresh ที่มีการปรับกลยุทธ์ทำตัวเป็นคนกลางรับซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านจำหน่ายวัตถุดิบประกอบอาหารที่ไม่มีบริการจัดส่งสินค้าเป็นของตนเอง เช่น Big C และ Home Fresh Mart สิ่งที่ Happy Fresh ทำก็คือเน้นอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยบริการจัดส่งที่รวดเร็วหรืออีกกรณีก็คือ Food Panda ที่หันมาเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้ออาหารตามสั่งและอาหารปรุงสำเร็จจากร้านต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านอาหารจานด่วนไปจนถึงภัตตาคารโดยใช้ Facebook Messenger เป็นช่องทางในการสั่งซื้ออาหารทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้สะดวกโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแยกต่างหากกรณีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ Startup ควรนำไปศึกษาและปรับใช้ปัจจุบัน Startup หลายเจ้าเริ่มหาพันธมิตรทางธุรกิจและนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจอาหารของตนเองอย่าง Wongnai แอพพลิเคชั่นรีวิวและแนะนำร้านอาหารได้ร่วมมือกับแอพพลิเคชั่นรับส่งสินค้าอย่าง Lineman เพื่อให้บริการจัดส่งอาหารจากร้านชื่อดังเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเตรียมพร้อมรับมือกับผู้บริโภคยุคใหม่อย่างเต็มที่ถึงอย่างไรก็ดีแม้จะน่าสนใจและเป็นไอเดียธุรกิจที่สอดรับกับสภาพสังคมและไลฟ์สไตล์ก็จริงแต่ธุรกิจช้อปปิ้งอาหารออนไลน์ในไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการและความไม่มั่นใจของผู้บริโภคอยู่นั่นเองจึงทำให้ไม่สามารถที่จะบุกตลาดรุดหน้าไปได้อย่างเต็มที่นั่นจึงยังเป็นปัญหาที่ต้องค่อย ๆ แก้กันต่อไปแต่ก็ต้องบอกว่าแนวโน้มกับธุรกิจอาหารออนไลน์และเดลิเวอรี่ส่งสัญญาณในเชิงบวกให้ได้เห็นแล้วมองเห็นอนาคตอยู่ข้างหน้าไม่ไกลดังนั้นจึงต้องให้ Startup อย่าเพิ่งหมดกำลังใจและพยายามคงไว้ซึ่งคุณภาพของอาหารความรวดเร็วในการส่งไว้เช่นเดิมนี่ละทางเลือกธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจใครกำลังตัน ๆ ไม่รู้จะไปทางไหนลองมาทางนี้ดูก็ได้นะ

จับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาทำธุรกิจ

เมื่อสังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมทางสังคมรวมถึงความรู้ความเข้าใจการวางแผนครอบครัวของหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันทำให้แนวโน้มของโลกเป็นไปแบบนั้นอีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ก็มีส่วนทำให้คนเรามีอายุยืนมากขึ้นจึงไม่แปลกเลยว่าอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้น 9.4 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากรโดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคนคาดว่าภายในในปี 2568 ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะมีประมาณ 14.4 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดกล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คนในประชากรทุก ๆ 5 คน (ที่มา: นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

ธนินท์ เจียรวนนท์
“มนุษย์ในยุคต่อไปจะมีความสุขสบายมากขึ้น และอายุยืนขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามถึงจุดหนึ่งคนสูงอายุจะทำอะไรเองไม่ได้ อาบน้ำไม่ได้ จะหาคนที่ไหนมาดูแล เพราะคนสูงอายุมีปัญหาที่ต้องดูแลมากกว่าเด็ก เราศึกษาแล้วว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์ทันสมัยมากของญี่ปุ่น มาตอบโจทย์ตรงนี้แล้ว ช่วยให้คนสูงอายุทำอะไรก็คล่องตัวขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีเตียงที่กดปุ่มก็เคลื่อนตัวได้ เราจึงสนใจในเรื่องนี้มาก” ธนินท์ เจียรวนนท์

จากตัวเลขการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุนี่เองทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ขึ้นมาเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าที่สูงอายุเป็นหลักซึ่งโดยทั่วไปจะมีตลาดอยู่ 3 กลุ่มประเภทหลัก ๆ คือ 1. เรื่องสุขภาพอาหารการกิน 2. เรื่องที่พักและการดูแลและ 3. เรื่องการท่องเที่ยว

ซึ่งแน่นอนเลยว่าคงไม่รอดพ้นสายตาและวิสัยทัศน์อันเฉียบขาดของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ไปได้สิ่งที่เกิดขึ้นกับแนวโน้มของโลกนี้ทำให้เกิด Business Trends ขึ้นมาปัจจุบันมี Startup มากมายกำลังมุ่งมาสู่ธุรกิจนี้ เจ้าสัวธนินท์ มองแล้วว่าภาพรวมของโลกขณะนี้เป็นเศรษฐกิจที่จะไม่มีพรมแดนอีกต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของทุกส่วนธุรกิจในโลกจะเป็นช่วงที่มีช่องว่างของการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจใหม่ ๆ ธุรกิจขนาดใหญ่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นก้าวสู่การใช้แรงงานหุ่นยนต์

อุปสรรคและความท้าทาย

ด้วยผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความคุ้มค่าที่มาพร้อมกับความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาจึงทำให้แนวโน้มของการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ของผู้บริโภคกำลังส่งสัญญาณที่ดีแต่ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างมากมายจากผู้บริโภคก็เพราะด้วยปัจจัยความท้าทายอยู่ 2 ประการคือ

  1. พื้นที่ให้บริการยังไม่ครอบคลุม
  2. คุณภาพและปริมาณที่ลูกค้ายังไม่เชื่อมั่น

แนวทางการแก้ไข

  • กระจายสาขาเพิ่มพื้นที่การให้บริการหรือหา Partner
  • คัดสรรวัตถุดิบและพยายามควบคุมคุณภาพทั้งเรื่องของสินค้าและการจัดสั่ง
  • นำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆอย่างการรับคืนสินค้าการจัดอาหารเฉพาะกลุ่มหรืออาหารตามเทศกาลเหล่านี้เป็นต้น

Passion in this story