แจ็คหม่า ชายผู้ร่ำรวยเบอร์ 1 ของเอเชีย บอกว่าจะเข้ามาช่วย SME ในประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกผ่านธุรกิจออนไลน์ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศจีน ผ่านวิสัยทัศน์ของเค้าในเรื่อง Sharing Economy เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลก แต่ก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ถึงกรณีการมาของเค้าอาจกินรวบธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทย แท้จริงแล้วแจ็คหม่า จะมาผูกขาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซแล้วเอาเปรียบรายย่อย หรือจะมาเสริมศักยภาพให้ธุรกิจไทยกันแน่
“The more we understand Thailand and the more we want Thailand people’s business can understand Alibaba, so They can leverages ecommerce and Alibaba facilitate” – Jack Ma
“Thailand people’s business can understand Alibaba” จากคำให้สัมภาษณ์ของแจ็คหม่า ได้บอกนัยยะสำคัญให้คนไทยฟังเพื่อนำมาพิจารณาอย่างหนึ่งว่า “ถ้าคนไทยรู้จัก Alibaba มากขึ้น คุณก็จะเห็นโอกาสที่รออยู่”
รู้จักอาณาจักร Alibaba
ย้อนกลับไปกว่า 19 ปีที่ Alibaba เริ่มเกิดขึ้นในประเทศจีน ปัจจุบัน Alibaba group มีเครือธุรกิจอยู่ในมือครอบคลุมตั้งแต่ e-commerce ไปจนถึงธุรกิจการเงิน มีมูลค่าธุรกิจรวมกันทั้งสิ้น 114.326 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล Financial report เดือนมีนาคม 2561) ซึ่งการเติบโตขึ้นของ Alibaba อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์อันทรงพลังของ Jack Ma ด้วยแนวคิด Sharing Economy เพื่อทำให้สินค้าของคนจีนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
จากความมุ่งมั่นนั้นส่งผลให้ปัจจุบัน Alibaba group มีธุรกิจอยู่ในอาณาจักรทั้งสิ้น 4 กลุ่ม
- กลุ่มธุรกิจ ecommerce
- กลุ่มธุรกิจ cloud computing
- กลุ่มธุรกิจสื่อดิจิตอล และความบันเทิง
- กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี
Alibaba เอาชนะ ebay ได้อย่างไร
ช่วงที่ Alibaba เริ่มเข้าสู่ตลาด ขณนั้น ebay ครองตลาด eCommerce ในจีนถึง 90% ความท้าทายนี้แจ็ค หม่า เอาชนะได้อย่างไร…คำตอบนี้คุณคงทราบแล้วว่า “จะมีใครรู้จักคนจีนได้ดีเท่าคนจีน” Jack Ma ผู้ซึ่งได้ไปเห็นโอกาสอันมหาศาลของชาวจีนในครั้งที่เขาเดินทางเป็นตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่นเมืองหังโจว เพื่อไปทวงถามสัญญารับจ้างการทำถนนจากบริษัทในอเมริกา ในครั้งนั้น Jack Ma ได้ค้นหาคำว่า “Beer” ในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่พบเบียร์จากประเทศจีนเลย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เขาได้เห็นโอกาสอันมหาศาลที่รออยู่ที่ประเทศจีนซึ่งเขารู้ดีว่า ปัญหาสำคัญที่สุด ที่สินค้าจีนยังไม่สามารถไปได้ในระดับโลกคือ อุปสรรคทางภาษา
Jack Ma ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ และมีความเข้าใจปัญหา และความต้องการของคนจีนอย่างลึกซึ้ง เขาจึงใช้กลยุทธ์ Sharing Ecomony ในการเริ่มต้นธุรกิจ Alibaba โดยอาศัยความได้เปรียบทางภาษา และความเป็นชาตินิยมไปนำพาธุรกิจท้องถิ่นให้หันมาใช้ Alibaba แทน ebay
“ถ้าสมมุติว่าเราสามารถใช้สิ่งที่ใช้ Platform หรือสิ่งที่เค้าจะมาทำกับประเทศไทยให้ Match กัน ให้เป็นประโยชน์ ผมคิดว่าเราจะได้ประโยชน์จากตรงนั้น” – ชาญ ธนประกอบ ผู้แปลหนังสือชุด แจ็คหม่า
Sharing Economy คืออะไร
คุณเคยได้ยินคำว่า gig economy มาก่อนหรือเปล่า ซึ่งเป็นรูปแบบการแชร์ทรัพยากรบุคคลในรูปแบบ Freelance ในบางตำแหน่งมาแทนที่การจ้างประจำ ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันรูปแบบธุรกิจในลักษณะนี้กำลังเอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ระหว่างผู้ว่าจ้างและคนทำงาน
จาก gig economy ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งของ Sharing Economy ซึ่ง Alibaba ใช้เป็นนโยบายนำพาสินค้าจากธุรกิจ SME ให้สามารถจำหน่ายไปได้ทั่วโลก ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง มีต้นทุนการจัดการถูกลง และอีกทั้งได้ช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นให้เติบโต Sharing economy จึงเป็นรูปแบบธุรกิจแบบแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของเบ็ดเสร็จ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ซึ่งเราจะเห็นว่า Uber, Grab หรือ Airbnb ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้แนวทางนี้ และเติบโตขึ้นมาในระดับโลก
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Sharing economy: Sharing economy จาก SCB economic intelligence center
ความร่วมมือของไทย กับ Alibaba group
“แจ็คหม่า มา…ไทยได้อะไร” เร็ว ๆ นี้ Jack Ma ได้เดินทางมาเซ็นต์ MOU กับรัฐบาล 4 ฉบับเพื่อเป็นข้อตกลงในเบื้องต้นที่จะร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา
- ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ(Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กรมศุลกากร และ บริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited
- ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริม การค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS)
- ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาลีบาบา เพื่อจัดทำไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ
อ้างอิง: กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
“เราก็บอกว่า Alibaba ไม่มาทำร้ายธุรกิจอีคอมเมิร์ชท้องถิ่น Lazada ที่เค้าซื้อมานี่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลา 3 ปี Lazada ขึ้นเป็นเบอร์ 1 แล้วก็ฆ่าธุรกิจอีคอมเมิร์ชท้องถิ่นตายเรียบ” – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง Tarad.com
แจ็คหม่า กินรวบ ธุรกิจออนไลน์ของไทยหรือไม่
คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข่าว และอยู่ในแวดวงธุรกิจต่างวิพากษ์ในประเด็น “กินรวบ” หรือ “ผูกขาด” ธุรกิจออนไลน์ของ Alibaba ที่จะมาส่งผลกระทบกับธุรกิจท้องถิ่น
ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนไทยไม่น้อย ทั้งนี้ หากคนไทยลองมองในมุมกลับกัน ประเทศไทยเป็นเสมือนอู่ข้าว อู่น้ำของคนจีนไม่น้อย คนจีนกับคนไทยมีสายสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งทั้งทางเครือญาติ และทางเศรษฐกิจมานานเป็นร้อยปี
“ผมคิดว่าผู้คนอาจจะรู้จักโมเดิลธุรกิจของอาลีบาบาไม่มาก อย่างแรกคือ เราไม่สนใจ (ไปแข่งขัน) ตลาดในประเทศ เราสนใจนำสินค้าท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลก สู่ประเทศจีนต่างหากครับ คือสิ่งที่เรามุ่งเน้นตลอดมาครับ” – แจ็ค หม่า บทสัมภาษณ์โดยสุทธิชัย หยุ่น
อ้างอิง https://youtu.be/ojBC4xLkOUQ
ดังนั้น หากคนไทยเองจะใช้ช่วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึงเรานี้ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อมองหาโอกาสที่คนไทยจะได้รับ และหันมาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเราเองให้ก้าวหน้า ลดความเสียเปรียบที่จะเกิดทางการแข่งขันในด้านต่าง ๆ ก็จะทำให้การมาของแจ็คหม่า เป็นเสมือนจิ๊กซอสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กลไกเศรษฐกิจไทย ให้กับคนไทย และประเทศไทยไม่น้อย
ว่าด้วย พรบ. ป้องกันกินรวบทางการค้า
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ได้ “เพิ่มความชัดเจน” สำหรับกำกับดูแลป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจนก่อให้เกิดการผูกขาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่อง “การควบรวม หรือกินรวบธุรกิจ” หากอ้างอิง พรบ. ฉบับเดิมนั้นยังไม่สามารถตีความได้อย่างชัดเจนว่าการควบรวมธุกิจลักษณะใดจึงเข้าข่ายกินรวบ ยกตัวอย่างกรณี เทสโก้ฯ ควบรวมแม็คโคร มักมีการตั้งคำถามว่า จำเป็นต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่?
ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับ 2560 จึงให้ความสำคัญกับการควบรวมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งแยกการควบรวมธุรกิจออกเป็น 2 แบบ
- แบบที่ 1 การควบรวมที่ส่งผลให้มีการจำกัด/ลดการแข่งขัน ให้แจ้งภายใน 7 วัน
- แบบที่ 2 หากควบรวมแล้วทำให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับ “อนุญาต” จากคณะกรรมการการแข่งขันฯ
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
“พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 นั้น “ตอบโจทย์” ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะการแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาเป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเทียบเท่า “กรม” จากเดิมมีฐานะเป็น “สำนัก” อยู่ภายใต้สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ตัว “กรรมการ” เดิม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน และกรรมการมาจากการแต่งตั้ง” สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน
อ้างอิง: กฎหมายแข่งขันทางการค้า 2560 – แก้ผูกขาด กินรวบทางการค้าได้จริงหรือ!
แนวคิดผู้นำ สร้างความสำเร็จ
“ความเปลี่ยนแปลง” คือสิ่งที่เป็นสัจธรรมอยู่คู่กับโลกนี้ ไม่มีสิ่งไหนคงอยู่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันคำว่า Sharing Economy เป็นรูปแบบธุรกิจที่ได้รับการยอมรับ และทั่วโลกนำมาใช้จนหลาย ๆ ธุรกิจประสบความสำเร็จ และ Alibaba group ก็เป็นหนึ่งในเครืองธุรกิจของชาวเอเชียที่ผงาดขึ้นมายืนอยู่ในเวทีโลก ท้าทายทุกข้อจำกัดที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง
การมาของแจ็คหม่า จึงเป็นเสมือนจิ๊กซอทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของคนไทย ซึ่งหากเราไม่มุ่งไปวิพากษ์กันเฉพาะในเรื่อง “กินรวบตลาด” หรือ “ผูกขาดตลาด” แล้วนั้น คนไทยก็จะพบกับโอกาสอันมหาศาลที่รอให้ไขว่คว้าอยู่เบื้องหน้าเหมือนคำสัมภาษณ์ที่แจ็คหม่าเคยพูดไว้ว่า
“The more we understand Thailand and the more we want Thailand people’s business can understand Alibaba, so They can leverages ecommerce and Alibaba facilitate” – Jack ma
อ้างอิง: https://youtu.be/ojBC4xLkOUQ | https://youtu.be/GawtnsYeyps | ฐานเศรษกิจ