เตรียม mindset อย่างไร ให้ทันยุค disruption

Digital Disruption กำลังเข้ามาป่วนโลก พบกับ mindset ที่น่าสนใจในปรับองค์กรธุรกิจให้ทันต่อการแทรกแซงของเทคโนโลยี เพื่อจะก้าวผ่านและนำความสำเร็จมาสู่องค์กร

เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพทำให้โลกก้าวไปข้างหน้าก็จริง แต่ในอีกด้านเทคโนโลยีที่ “เร็ว” และ “แรง” ก็เข้ามาแทรกแซงวิถีการทำงานของมนุษย์ไปด้วยในขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่รายบุคคล แต่กระทบไปยังรูปแบบการทำธุรกิจของทั้งองค์กร ผู้นำองค์กรธุรกิจใดไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนความคิด และปรับเกมเตรียม mindset การแข่งขันเสียใหม่ ก็ยากที่จะนำพาองค์กรก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในปี 2018 นี้เราจึงได้เห็นองค์กรธุรกิจชั้นแนวหน้าต่าง ๆ เริ่มขยับปรับตัวหาแนวทางและแนวคิดใหม่ ที่สอดรับกับการเข้ามาแทรกแซงของเทคโนโลยี โดยการปรับแนวทางการทำงานขององค์กรให้เข้าสู่รูปแบบ Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ มาดูกันว่าวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำเหล่านั้นพวกเขาเตรียม mindset ของตนเองกันอย่างไรเพื่อจะนำพาองค์กรต่อสู้กับ Digital Disruption ที่กำลังเกิดขึ้น

ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คือ การสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ

กลุ่มมิตรผล เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจชั้นนำของไทย ที่ตระหนักถึงปัญหา Disruption ของเทคโนโลยีที่ก้าวไปเร็ว คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานของกลุ่มมิตรผลที่มองสถานการณ์ด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำว่าไม่อาจหลีกหนีหรือปฏิเสธเทคโนโลยีที่เข้ามาได้ จึงเตรียม mindset เอาไว้รับมือในเรื่องนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลง คือ ความท้าทายใหม่ของธุรกิจ” ความท้าทายในการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ก็คือ การครองใจผู้บริโภค แต่ธุรกิจยุคใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนความคิดว่า ความท้าทายไม่ใช่แค่การครองใจผู้บริโภค แต่จะต้องรับมือกับผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วให้ได้ เทคโนโลยีที่รวดเร็วนั้นส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว ฉะนั้น ธุรกิจจะเหนือคู่แข่งได้ก็จะเป็นที่จะต้องมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วด้วย ถึงจะสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ สร้างตลาดใหม่ ๆให้กับธุรกิจได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในองค์กร แต่ยังหมายถึงการที่จะต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มเพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการควบคุมกำกับเทคโนโลยีในอีกขั้นตอนหนึ่งด้วย ซึ่งการวาง mindset ไว้แบบนี้ นอกจากจะทำให้องค์กรสามารถเดินต่อไปได้แล้วยังเป็นการลดผลกระทบจากการ Disruption ของเทคโนโลยีได้ดีอีกระดับหนึ่งด้วย

ปรับลดขนาดองค์กร แต่ไม่หยุดพัฒนาบุคลากรเพิ่ม

กลุ่มธุรกิจที่เรียกว่าเรียกเสียงฮือฮาและสะท้อนความชัดเจนถึงผลกระทบจากปัญหา Disruption ของเทคโนโลยีมากที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยก็คือ กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร เทคโนโลยีช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งการเข้ามาของ Cryptocurrency และเทคโนโลยี Blockchain ยิ่งกระตุ้นให้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการเงินบนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จะเห็นได้จากเทคโนโลยี Mobile banking ในปัจจุบันที่สามารถช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินของผู้คนบนโลกเร็วและง่ายขึ้น สามารถทำธุรกรรมการเงินต่างธนาคารได้เสร็จสิ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที นั่นจึงทำให้กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคารของไทยเรา ต้องหากลยุทธ์และแนวคิดใหม่ ๆ ในการปรับตัวรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน ทั้งการสร้างระบบพร้อมเพย์ การจับมือร่วมกันของทุกธนาคารลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงิน ไม่จะฝาก ถอน โอน เติม จ่าย ไร้ค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น ไปจนถึงขั้นการเตรียมปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งเป็น mindset สำคัญที่ใช้เป็นกลยุทธ์ในการปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformation อย่างเต็มรูปแบบ

SCB ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแบบอย่างผู้นำในการนำ mindset ปรับลดขนาดองค์กรมาใช้เพื่อปรับองค์กรให้ก้าวเข้าสู่แพลทฟอร์มดิจิทัลเป็นรายแรก ๆ หลายคนอาจจะมองว่าการปรับลดขนาดองค์กรจำเป็นต้องปลดพนักงานออกบางส่วน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น คุณอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB เผยวิสัยทัศน์ผู้นำในเรื่องนี้ว่า

“แท้จริง mindset ในเรื่องปรับลดขนาดองค์กร คือ การลบภาพจำว่าองค์กรขนาดใหญ่จะต้องทำงานเชื่องช้า ทุกอย่างต้องเป็นกระบวนการและตามขั้นตอนทิ้งออกไปจากความคิดของลูกค้าและพนักงานทุกคน ทุกสิ่งจะแทนที่ด้วยความสะดวกรวดเร็วและสร้างสรรค์ และในขณะที่องค์กรกำลังลดขนาดลงเราจะหันไปพัฒนาบุคลากรของเราเพิ่ม เพื่อให้พนักงานมีศักยภาพที่มากขึ้น เราไม่ได้ถอดถอนอาชีพของพวกเขา แต่เราจะสร้างอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัยให้พวกเขาแทน”

นี่จึงเป็นแนวคิดผู้นำธุรกิจที่ล้ำลึก สามารถปรับทั้งโครงสร้างองค์กร แผนธุรกิจ ระบบการทำงานและพนักงานไปได้ในการปรับเปลี่ยนเพียงครั้งเดียว หลังจากนี้เทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างไรองค์กรและพนักงานก็จะเริ่มปรับตัวรับมือได้ทันในทุกสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

Disrupt แค่ไหนไม่ต้องกลัว ถ้าชัวร์เรื่องสร้างโอกาส

ปัญหา Disruption ของเทคโนโลยีส่งผลกระทบไปทั้งยักษ์เล็กและยักษ์ใหญ่ แม้กระทั่งองค์กรของสุดยอดนักธุรกิจไทย อย่างธนินท์ เจียรวนนท์เองก็ยังไม่รอด หลาย ๆ ธุรกิจในเครือของคุณธนินท์เองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบในเชิงลบไม่น้อย แต่ด้วยวิสัยทัศน์แห่งความเป็นผู้นำในด้านการทำธุรกิจของคุณธนินท์มีสูง ด้วยประสบการณ์ที่มากมายในการธุรกิจที่หลากหลายมายาวนาน ทำให้คุณธนินท์ จัดวาง mindset ในการนำพาองค์กรรับมือกับการแทรกแซงของเทคโนโลยีได้อย่างลงตัว ซึ่ง mindset สำคัญนั้นก็คือ “ธุรกิจจะยั่งยืน ต้องเริ่มจากการสร้างโอกาส” ซึ่งการสร้างโอกาสที่กล่าวมานี้ไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพราะในขณะที่วิกฤตเทคโนโลยีกำลังป่วนโลกอยู่นี้โอกาสทางธุรกิจแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปรับตัวไม่ทัน แต่การสร้างโอกาสในความหมายของคุณธนินท์นั้นมี 2 นัยยะ คือ

  • “สร้างโอกาสให้คน” ถ้าองค์กรสามารถพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพก้าวทันเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ต่อให้เทคโนโลยีจะล้ำหน้าแค่ไหน พวกเขาก็จะปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิดและพัฒนาตนเอง ให้สามารถเข้ากับเทคโนโลยีที่ก้าวไปได้อยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นจากผู้นำองค์กร ที่จะต้องรู้จักสร้างและมอบโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ หน้าที่ของผู้นำก็เพียงกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งสถาบันฝึกคนรุ่นใหม่ในองค์กรของคุณธนินท์ และโครงการอบรมและสร้างนักธุรกิจมืออาชีพรุ่นใหม่ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในองค์กรของคุณธนินท์อยู่เสมอ
  • “สร้างโอกาสให้สังคม” ไม่ว่าจะองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทุกสิ่งล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ฉะนั้น ถ้าเราดำเนินธุรกิจไปให้สอดคล้องกับสังคม เราจะไม่กลัวปัญหา Disruption ของเทคโนโลยี เพียงแต่จุดเริ่มต้นต้องเริ่มจากแนวคิดผู้นำ One Idea แต่เห็นชัดรอบด้าน หยิบจับเทคโนโลยีที่เข้ามานั้นให้มาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างโอกาสและสร้างอาชีพให้คนในสังคม ผลักดันเทคโนโลยีเหล่านั้นไปให้ถึงชาวบ้านและผู้คน แบบนี้ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ ตั้งแต่หน่วยสังคมเล็ก ๆ ที่เป็นฝ่ายผลิตเรื่อยไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า หากเป็นดังนี้เทคโนโลยีจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องกลัวอีกต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์การบริหารงานองค์กรที่คุณธนินท์ใช้อยู่เป็นประจำ จนก่อเกิดอาณาจักรธุรกิจอันยิ่งใหญ่อย่างที่เราเห็นในวันนี้นั่นเอง

“เทคโนโลยีในปัจจุบันไม่ได้แค่เข้ามา ‘ป่วน’ อาชีพของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะ ‘เปลี่ยน’ อาชีพของคนเราได้เลยทีเดียวหากเราปรับตัวไม่ทัน ฉะนั้น เราจะต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาสร้างโอกาสให้สังคม ถ้าคนจำนวนมากได้รับความสะดวกรวดเร็วและประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เราใช้ โอกาสทางธุรกิจก็จะเกิดขึ้นเอง” ธนินท์ เจียรวนนท์

เหล่านี้ทั้งหมดคือ mindset ที่น่าสนใจ เป็นทั้งแนวทางและแนวคิดใหม่ ที่ช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤต Digital Disruption ที่กำลังเกิดขึ้นได้ เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งน่ากลัว ถ้าเรารู้ตัวและตั้งรับมันให้ทัน

แนวทางการปรับตัวรับมือ Digital Disruption

  • ปรับเปลี่ยนความคิดยอมรับความเปลี่ยนแปลง เตรียมตนเองให้พร้อมที่จะสลัดกลยุทธ์เก่า ๆ ออกไป แม้กลยุทธ์เหล่านั้นจะเคยใช้ได้ผลมาแล้วก็ตาม และเปิดใจ ปรับตัวให้พร้อมจะเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆที่จะเข้ามา
  • ลดทอนสิ่งที่หน่วงเหนี่ยวองค์กรให้เชื่องช้า และนำเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้ผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลดทอนกำลังคน ในทางกลับกันต้องสร้างคนให้มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและพร้อมจะปรับตัวอยู่เสมอ
  • คิดถึงผู้อื่นให้มากขึ้น คิดถึงตนเองให้น้อยลง มองไปที่ “คน” และ “สังคม” และหยิบฉวยเอาเทคโนโลยีที่เข้ามาไปสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้พวกเขา ธุรกิจก็จะยั่งยืนเพราะมีสังคมเป็นฐานรากที่คอยสนับสนุน

 

 

Passion in this story