ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ มุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน : Growing Together for Sustainability โดยดำเนินธุรกิจควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามหลักการ ESG (Environmental Social และ Governance) สอดคล้องกับกรอบการทำงานและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก โดยนำเป้าหมายดังกล่าวมาเป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน เพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับพนักงาน สละเวลา อุทิศตน เพื่อทำหน้าที่ จิตอาสา ให้การช่วยเหลือ สร้างคุณูปการต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันกรุงไทยสู่การเป็น ธนาคารแห่งความยั่งยืน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “จิตอาสา VVE Vayu Volunteer” ที่พร้อมอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้คนในสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
ภารกิจพลิกฟื้นพื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออก
ธนาคารกรุงไทย เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างสมดุลทางธรรมชาติกับการอยู่ร่วมกันของสัตว์ป่าและคนในชุมชน และเชื่อว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต สอดคล้องกับการดำเนินงานของ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนพัฒนา ฟื้นฟู และบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นำไปสู่แนวทางพัฒนาการจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด การแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ชลบุรี และสระแก้ว
.
พื้นที่ป่ารอยต่อภาคตะวันออก ที่หมู่บ้านคชานุรักษ์ บ้านหนองกระทิง และหมู่บ้านคชานุรักษ์บ้านคลองมะหาด จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ากว่า 400 ตัว ซึ่งกว่า 300 ตัวอยู่บริเวณอำเภอสนามชัยเขตและอำเภอท่าตะเกียบ กำลังประสบปัญหาแหล่งน้ำและอาหารในธรรมชาติของช้างลดน้อยลง ส่งผลให้ช้างออกจากพื้นที่ป่าเข้ามาในเขตพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ จึงมีการรวมพลังระหว่างอาสาสมัคร VVE Vayu Volunteer กว่า 100 คน กับชาวบ้านในชุมชน ภาคีเครือข่าย และนักเรียนกว่า 300 คน ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสา ปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารของช้าง ได้แก่ ข่า ตะไคร้ สะเดา ชะอม รวมกว่า 3,000 ต้น ในพื้นที่ชุมชน โดยใช้กุศโลบายในการปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบ เป็นแนวกันชนช้างให้กับแปลงเกษตรชุมชน และปลูกพืชแหล่งอาหารช้างบริเวณป่าธรรมชาติ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ช้างป่าหากินอยู่ภายในบริเวณป่าธรรมชาติ สร้างสมดุลระหว่างคนในชุมชนกับช้างให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
สานพลังชุมชนเพื่อความยั่งยืน
ธนาคารและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง นนทรี ขี้เหล็ก สะเดา และเทพา เพื่อสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ โดยเข้าไปช่วยเหลือแบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ การปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
ภารกิจในครั้งนี้ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างรากฐานที่มั่นคง ต่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนร่วมคิด กำหนดแนวทางพัฒนาชุมชน ผลักดันให้เกิด Creating Shared Value หรือการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับกิจการและสังคมไปพร้อมกัน
.