ประกัน โควิด19 เรื่องวุ่นๆ ที่คนทำประกันต้องเผชิญ…เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ ได้กล่าวถึง กรณีศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำร้องที่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกยื่นฟ้องเลขาธิการ คปภ. ให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยระบุว่ากรมธรรม์ยังคงมีผลบังคับใช้ ผู้เอาประกันสามารถเคลมประกันได้ และคปภ.จะอยู่เคียงข้างเพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดของตนเอง และผลักภาระกลับไปให้กับประชาชน ทำให้กรณีดังกล่าวเป็นการที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่..
การยืนยันให้บริษัทประกันภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ดูจะเป็นการกระทำที่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำที่ทำลายธุรกิจประกันภัยไปพร้อมกัน เพราะยอดเคลมที่สูงกว่า 40,000 ล้านบาทและยังเพิ่มขึ้นทุกวันควบคู่กับตัวเลขการติดเชื้อโอมิครอนนั้น คงหนักหนาเกินกว่าที่บริษัทประกันใด ๆ จะรับไหว ซึ่งสุดท้ายแน่นอนว่าคงล้มทั้งกระดาน….
การล้มของบริษัทประกันภัย ไม่ได้มีผลกระทบแต่บริษัทเพียงอย่างเดียว แต่กระทบถึงลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีซัพพลายเชนที่ยาวไม่ใช่น้อย เพราะมีทั้งประกันภัยรถยนต์ และประกันสุขภาพ แน่นอนธุรกิจเหล่านั้นต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งสุดท้ายภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือตามความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ยังไม่นับถึงยอดเคลมประกันภัยโควิด-19
Passion gen จึงชวนให้ขบคิดกันว่า ทางออกและทางออกของปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหนกันแน่…
แม้วันนี้ คปภ. จะยึดมั่นในการยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนและทำเพื่อรักษาระบบของการประกันภัย…แต่ คปภ.ลืมที่จะพูดถึงความรับผิดชอบ ในการพิจารณาอนุมัติออกกรมธรรม์ แน่นอนกรมธรรม์ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบและการประเมินความเสี่ยงจาก คปภ. เสียก่อน และสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์ก็เป็นสิ่งที่ คปภ.พิจารณาอนุมัติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัย กรณีที่โควิดระบาดรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
ประกันภัยโควิด-19 เป็นประกันภัยรูปแบบใหม่ที่ คปภ.เองเป็นผู้อนุมัติให้กรมธรรม์ออกจำหน่าย ซึ่งแน่นอนว่าปฏิเสธความรับผิดชอบส่วนนี้ไม่ได้ ในขณะที่บริษัทประกันภัยก็ยังไม่มั่นใจนัก และประกันโควิด-19 แบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ก็เห็นจะมีแต่บริษัทประกันของไทยที่รับทำ นั่นทำให้บริษัทประกันไทยต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมด ไม่สามารถส่งให้กับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้…แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกไม่รุนแรง บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันต่างกำไรกับถ้วนหน้า ทุกคนจึงลืมพูดถึงความเหมาะสมและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการระบาดรุนแรงภายในประเทศ
ขณะที่ คปภ. ที่ทำหน้าที่กำกับควรจะส่งสัญญาณเตือนภัย และกำกับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ความผิดพลาดรุนแรง แล้วผลักให้เป็นความผิดของบริษัทประกันภัยแต่เพียงฝ่ายเดียว แน่นอนว่าเรื่องนี้บริษัทประกันภัยผิดที่ประเมินความเสี่ยงผิดพลาด แต่คปภ.ก็ปฏิเสธความผิดพลาดไม่ได้เช่นกัน…
คปภ.ในฐานะองค์กรกำกับควรจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นกับระบบ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่ควรจะลอยแพปัญหาให้เอกชนแก้ไขอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่สำนักงานคปภ.ก็อยู่ได้ด้วยเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากบริษัทประกันภัย….ท้ายที่สุดแล้ว “อำนาจที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” คปภ.จึงควรมีบทบาทที่ชัดเจนในการร่วมกับเอกชนในการร่วมหาทางออกของปัญหานี้
สุดท้ายทางออกทางรอดของวิกฤตในครั้งนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ยืนหยัดยึดมั่นกับความถูกต้องเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรอมชอมอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้ “จะถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ” หรือ “ทั้งถูกใจและถูกต้อง” คงต้องอยู่ที่การตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกของเรื่องนี้… ซึ่งทีมบรรณาธิการเชื่อว่า ความอยู่รอดหรือไม่ของบริษัทประกันภัยนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของธุรกิจ แต่อาจจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตระลอกใหม่ ที่หมายถึงความอยู่รอดของเศรษฐกิจทั้งระบบก็ได้ ดังนั้นจะทำอะไรต้องคิดใคร่ครวญให้ดี
Category: