เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆเหรอ?

ฝุ่นพิษกำจัดได้หรือไม่?

รัฐบาลมัวแก้ไขปัญหาอะไร ?

.

นั่นเป็นคำถามที่ค้างคาใจประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในกรุงเทพและ 17 จังหวัดภาคเหนือ…ในเมื่อหน่วยงานรัฐก็ระบุได้ถึงปัญหา สาเหตุของการเกิด PM2.5  แต่เพราะเหตุใดปัญหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง

.

หรือชีวิตของชาวบ้าน ตาสีตาสานั้น ไร้ค่า..ไม่เทียบเท่าเหล่าผู้บริหารบ้านเมือง….

.

ต้องยอมรับว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นแค่มาตรการชั่วครั้ง ชั่วคราว…. ทั้งการพ่นละอองไอน้ำ เพื่อลดฝุ่น ล้างพื้นล้างถนน ขอความร่วมมือให้ชาวบ้านหยุดเผาไร่ เป็นต้น แค่ฟังดูก็รู้ว่า ทำเป็นครั้งเป็นคราว แก้ไขเป็นครั้งๆ ตามเสียงบ่นของชาวบ้านตาดำๆ  พอเวลาผ่านพ้นไป อากาศดีขึ้นก็เลิกสนใจ เลิกทำ… ทำให้ประเทศไทยวนเวียนกับปัญหาเหล่านี้ มาอย่างน้อย 3-4 ปี และเชื่อสิ ปีหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก….แล้วก็จะเห็นผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารเมืองทำแบบเดิมๆ จนกว่าอากาศจะดีขึ้น

.

รู้ไหมว่า ฝุ่นพิษที่ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลร้ายต่อร่างกายเท่าบุหรี่ 1 มวน คิดง่ายๆ คนไทย กำลังสูบบุหรี่ 1 มวนทุกวัน ปีละ 365 วัน ก็ 365 มวน แล้วจะไม่เป็นมะเร็งปอดกันได้อย่างไร…

 

ลองมองไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เผชิญวิกฤตฝุ่นพิษ… จีนดูจะเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุด เพราะเมืองใหญ่ของจีน เคยมีค่าฝุ่นพิษสูงมากกว่า 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 45 มวนต่อวัน

.

สาธารณรัฐประชาชนจีน เคยถูกประณามจากนานาชาติ ก่อนการจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ว่าเป็นประเทศที่มีอากาศเลวร้ายที่สุด แต่จีนมองความบกพร่องนั้นเป็นโอกาสและผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ และยังได้รับโอกาสใหม่ของประเทศ จากการเติบโตของอุตสาหกรรม รถยนต์และจักรยานยนต์ไฟฟ้า จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านนี้ แซงหน้าประเทศชั้นนำของอุตสาหกรรม

.

บุรินทร์เจอนี่ จะพาคุณไปส่องมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษของจีน  เปรียบเทียบกับประเทศไทย แล้วดูว่าเราควรแก้ไขอย่างไร…

.

จีนวิเคราะห์ าเหตุของการเกิดมลพิษและ PM2.5 มาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง และการไม่ได้มาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกิดมลพิษขึ้นจากทุกทาง ทั้งฝุ่นควันจากไอเสียจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่ความท้าทายคือต้องจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนงานโอลิมปิก 2008

.
สิ่งที่ผู้นำประเทศของจีนทำ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่าจริงจัง ออกมาตรการที่เหมาะสม และประกาศแนวทางส่งเสริมเพื่อให้เกิดการลด PM2.5

.

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเช่น  การสั่งปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้บอยเลอร์ที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน ที่ก่อให้เกิดมลพิษเป็นจำนวนมาก ทางการได้สั่งปิดโรงงานเหล่านี้และให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้มีมาตรฐานและไม่ปล่อยมลพิษ

ผลักดันให้รถสาธารณะเป็นรถไฟฟ้า โดยเฉพาะบริการรถเมล์ของจีน ภาครัฐบังคับใช้รถสาธารณะทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า

.

ขณะเดียวกันจีนได้ออกมาตรการเปลี่ยนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ให้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้า โดยใช้ทั้งมาตรการห้าม และมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ของจีน ต้องเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ทำให้มลพิษลดลงอย่างมาก

.
ส่งเสริมการใช้รถจักรยาน เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมัน จึงเกิดมาตรการส่งเสริมการใช้งานจักรยาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ได้ผลอย่างมาก ปัจจุบันจีนกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศผู้ผลิตจักรยานส่งออกตีตลาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ด้วยคุณภาพที่ดี และราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงสตาร์ทอัพจีนที่เกี่ยวข้อง เช่น แอพยืมจักรยาน ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

.

การปลูกป่าเป็นแนวกันฝุ่น เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นกับเมืองปักกิ่งที่ปลูกป่าเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร เพื่อเป็นแนวป้องกันฝุ่นที่เกิดจากลมที่พัดพาฝุ่นจากทะเลทรายเข้ามาที่เมืองทุกปี การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันฝุ่นนี้ ช่วยลดมลพิษของ PM2.5 ลงได้มาก

.

จะเห็นว่า ประเทศจีนมีมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษได้ตามเป้าหมายแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย อย่างที่ทราบว่าทุกวันนี้ จีนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดรถ EV ของโลก ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ และอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น จักรยานที่มีสินค้าออกมาตีตลาดโลกมากมาย

.

มองย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย เราคงต้องพึ่งพาตัวเอง ซื้อแมส ซื้ออากาศ ซื้อเครื่องฟอกอากาศ คนที่มีกำลังหน่อยก็ซื้อรถ EV มาตรการภาครัฐคงช่วยได้นิดหน่อยเป็นน้ำจิ้ม ให้พอรับรู้ว่าได้ทำงานแล้ว…

Passion in this story