บุรินทร์เจอนี่จะพาไปเรียนรู้เรื่องแมวที่ ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ จังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์น้องแมวสายพันธุ์ไทย 100%

ทาสแมวรู้ไหม ทำไมต้องอนุรักษ์แมวไทย?

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นศูนย์อนุรักษ์มานาน 22 ปีแล้ว ก่อตั้งโดยนายปรีชา พุคคะบุตร ซึ่งมีความหลงใหลแมวสายพันธุ์วิเชียรมาศอย่างมาก จึงศึกษา คิดค้น ทดลองผสมพันธุ์แมวไทยโบราณเพื่อให้ได้แมวสายพันธุ์บริสุทธิ์

ปัจจุบันแมวไทยพันธุ์แท้เหลือน้อยลงทุกที จึงควรหาทางอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติไทยสืบไป ปัจจุบันประสบความสำเร็จไปแล้ว 3 สายพันธุ์ และสามารถทำการทดลองผสมพันธุ์แมวจนค้นพบแมวสายพันธุ์โกญจาที่สูญหายไป หากต้องรอให้ผ่านไปถึงสามชั่วรุ่นแมวหรือ 6 ปี จึงจะแน่ใจได้ว่าได้สายพันธุ์บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพื่อจะได้ผลักดันสู่การจดทะเบียนเป็นพันธุ์แท้ของโลก โดยคนไทยเป็นครั้งแรก

ปัจจุบันศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณมีครบ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ศุภลักษณ์ สายพันธุ์วิเชียรมาศ สายพันธุ์สีสวาด สายพันธุ์โกญจา และสายพันธุ์ขาวมณี ซึ่งทั้ง 5 สายพันธุ์ เป็นแมวมงคลด้วย

ศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณมีรายได้มาจากยอดบริจาค และการแบ่งจำหน่ายลูกแมว โดยการผสมพันธุ์จะมาจากความต้องการของลูกค้าเท่านั้น ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน  ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น  หรือบริจาคสมทบทุนให้น้องแมวได้ที่  ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นางนันธญา พุคคะบุตร เลขบัญชี 709-0-30364-0

แมวไทย 5 สายพันธุ์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

สีสวาด หมายถึง ความรัก มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างพ.ศ.1893-2310 กล่าวถึงแมวให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย มีชื่อแมวโคราชรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในปีพ.ศ.2552

ลักษณะ : รูปร่างปานกลางค่อนข้างกลม หูใหญ่ตั้งสูงเด่น ดวงตาใหญ่สีเหลืองสดหรือสีเหลืองอมเขียว ขนเรียบสั้นถึงยาวปานกลางเป็นมันเงา โคนขนมีสีขุ่นเทา ปลายสีเงินหรือสีเหมือนดอกเลา (silver blue) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า แมวโคราช แมวมาเลศ หรือ แมวดอกเลา เชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์ เป็นมงคลแก่เจ้าของ

ศุภลักษณ์ ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวทองแดง (Copper) หมายถึง ลักษณะที่ดีงาม เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสรเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร

ลักษณะ : มีรูปร่างขนาดกลาง สง่า ขายาวเรียวฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง สีทองแดงหรือน้ำตาลแดงหรือสีสนิมเข้มทั่วตัว ตาสีเหลืองอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง ฉลาด เปี่ยมล้นไปด้วยพลัง กระตือรือร้น ขี้เล่น และ ติดเจ้าของ เชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จะได้ยศถา ลาภยศ และ เจริญรุ่งเรือง

วิเชียรมาศ หมายถึง เพชรแห่งดวงจันทร์ (Moon Diamond) ปรากฏหลักฐานในสมุดข่อยโบราณของไทย บางตำราเรียก ‘แมวแก้ว’ เป็นแมวไทยโบราณ มักเลี้ยงไว้ในพระราชสำนักตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะถือว่าเป็นแมวนำโชคลาภ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้เลี้ยง เนื่องจากมีมูลค่าสูง

ลักษณะ : รูปร่างปราดเปรียว สง่างาม หน้าผากมีรอยหยักทำให้เป็นรูปหัวใจ ดวงตาสีฟ้าสดใส ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปากสีเงิน หรือม่วงอ่อน ขนสั้นแน่นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวเพศผู้และแมวเพศเมีย) รวม 9 แห่ง แต่ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกันกับแมวเก้าแต้ม เชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จะมีทรัพย์สมบัติเพิ่มพูน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ขาวมณี หรือ แมวขาวปลอด หมายถึง แมวที่มีผิวกายขาวสะอาด สันนิษฐานว่าเกิดในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณที่รวบรวมลักษณะแมวมงคล 17 ชนิด มีหลักฐานอยู่บ้างก็ตามจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆในเขตธนบุรี เช่น ในอุโบสถ์วัดทองนพคุณ ถึงแม้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ แต่ในปัจจุบันแมวขาวมณี หรือแมวขาวปลอดเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก เนื่องจากมีความเชื่องมาก เหมาะกับการเลี้ยงไว้ดูเล่น

ลักษณะ : รูปร่างลำตัวยาวขาเรียว สีขนและผิวกายขาวสะอาด หัวทรงสามเหลี่ยมคล้ายหัวใจ จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ ขนสั้นนุ่มเนียนสนิท นัยน์ตาสีฟ้า สีเหลืองอำพัน หรือ ตาสองสี (Odd eyes) เชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จำค้ำคูณเจ้าของและนำโชคลาภมาให้

โกญจา หรือ โกนจา หมายถึง นกกระเรียน / เสียงดังกังวาน เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งที่ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ

ลักษณะ : ลักษณะท่าทางสง่าเหมือนสิงโต แต่นิสัยขี้อ้อน มีปากเรียวแหลม ดวงตาเป็นประกายสีเหลืองอมเขียว ขนเส้นเล็กสั้นละเอียดนุ่มและเรียบตรงดำสนิทตลอดทั้งตัว จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ดำปลอด เชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ เสริมอำนาจวาสนา

Passion in this story