โก่งธนูโมเดล ต้นแบบชุมชนที่อาศัยผู้นำทำก่อนจนสามารถหมุนเวียนขยะให้เกิดประโยชน์ ลดปริมาณขยะ สร้างชุมชนสะอาดได้อย่างยั่งยืน

โก่งธนู​โมเดล​ สร้างชุมชนเข้มแข็ง​ เริ่มต้นด้วยผู้นำ

โก่งธนูโมเดล มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาเรื่องขยะในชุมชน จึงเกิดแนวคิดการบริหารจัดการด้วยความรักความสามัคคี โดยอาศัยหลักการผู้นำต้องทำก่อน ทั้งยังสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในเรื่องของการดูแลความสะอาด และการแยกขยะ เพื่อดำเนินโครงการเก็บขยะมาทำให้เป็นเงิน 

หลังจากสำเร็จโครงการแรก จึงต่อยอดสู่โครงการขยะเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสวัสดิการจากเงินสะสมจากการขายขยะ

ต่อมาเมื่อแยกขยะเปียกกับขยะแห้งแล้ว สามารถต่อยอดขยะเปียกไปแปลงผักด้วยการนำไปหมักเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย จึงเกิดโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้มอบเมล็ดพันธุ์ผักให้ชาวบ้านนำไปปลูกทุกบ้านเพื่อแบ่งปัน

นอกจากการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน การนำหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา มาใช้ ทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน เช่น การเข้าถึงครัวเรือนเพื่อได้ใกล้ชิด ได้ปรับทัศนคติ สร้างตัวแทนชุมชนด้วยการให้มีจิตอาสา โดยเปิดให้สมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก เป็นต้น เมื่อทำชุมชนตัวเองเข้มแข็งแล้วสิ่งที่ท้าทายเป็นอันดับต่อไปคือ ต้องขยายผลไปสู่ที่อื่นให้ทำตาม

โก่งธนู​ ชุมชนตัวอย่าง​จัดการขยะครบวงจร

ชุมชนโก่งธนูมีการบริหารจัดการขยะได้อย่างครบวงจร เริ่มจากการแยกขยะแห้งที่สามารถนำไปขายได้ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว พลาสติก อลูมิเนียม ฯลฯ เพื่อแลกเป็นเงินสะสมเข้าบัญชีธนาคารขยะ เมื่อถึงกำหนดหรือครบตามเกณฑ์ ผู้ฝากจะได้รับสวัสดิการเพื่อนช่วยเพื่อน คือ ได้รับเงินช่วยเหลือจากส่วนกลางในกรณีที่ครอบครัวมีผู้เสียชีวิต

ส่วนขยะเปียกที่แต่ละบ้านแยกไว้ก็ยังสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อนำไปปลูกผักได้ ซึ่งหากมีมากก็ยังสามารถนำไปขายที่ตลาดเป็นรายได้ เหลือก็นำมาแจกจ่าย แลกเปลี่ยน ทำกิน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันในชุมชน

อีกหนึ่งโครงการที่ต่อยอดแล้วเข้ามาช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนได้ คือโครงการจักสานพัด ที่นำพัดซึ่งเป็นสินค้าท้องถิ่นมาทำพวงหรีดเพื่อลดการใช้ดอกไม้สด ลดขยะหลังจากจบงานศพ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย

Passion in this story