อาจารย์วิศวฯ ผนึกความร่วมมือแพทย์จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คว้ารางวัลรองชนะเลิศ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 เริ่มปฏิบัติงานแล้วในโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตใหม่ อนาคตวางแผนให้ผู้ป่วยยืมหุ่นยนต์ไปใช้ที่บ้าน
ไทยเจ๋ง...พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วย
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีการเกิดโรคสูงมากในประเทศไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่กว่า 3 แสนคน และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 5 แสนคน มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องการการฟื้นฟูหลังจากรักษาโรคหลอดเลือดสมองแล้ว นับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้รวมกว่า 20,000 ล้านต่อปี ในประเทศไทยยังมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องการการฟื้นฟูสมรรถนะอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการการรักษาและการฟื้นฟู เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางด้านการฟื้นฟู การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟูที่มีค่อนข้างจำกัดและมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อยกระดับการให้บริการการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์เป็นความพยายามลดปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้ได้ในระดับหนึ่ง
โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชาย สาเหตุเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพออย่างเฉียบพลันเนื่องจากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือด ในสมองผิดปกติ
รศ.นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯกล่าวถึงอาการของโรคหลอดเลือดสมองว่า “อาการที่ที่บ่อยที่สุดคืออ่อนแรงแขนขาครึ่งซีกหรือที่เรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว เดินเซ พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เป็นต้น”
โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายจากโรคนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ตำแหน่งของเส้นเลือดที่แตกหรืออุดตัน ว่าอยู่บริเวณใดของสมอง ขนาดของรอยโรคใหญ่หรือเล็ก ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูหรือไม่ เช่น โรคหัวใจ ความจำเสื่อม เป็นต้น รวมถึงระยะเวลาในการมาเข้ารับการฟื้นฟูว่าช้าหรือเร็ว ทั้งนี้ ช่วง 6 เดือนแรกภายหลังการเกิดโรคเป็น “เวลาทอง” ของการฟื้นตัวของสมองและอวัยวะต่างๆ การเข้ารับการฟื้นฟูในช่วงดังกล่าวจะได้ผลดีที่สุด
HAXTER Robotics พัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือด
หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ศ.ดร.วิบูลย์ หัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ จุฬาฯ กล่าวถึงเทคโนโลยีนี้ในต่างประเทศว่ามีการนำหุ่นยนต์มาใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยมานานแล้ว แต่การจะนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงหลาย สิบล้านบาท ขึ้นอยู่กับประเภทของหุ่นยนต์ การพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ที่ช่วยในการฟื้นฟูเองได้ ในประเทศ โดยมีมาตรฐานในระดับเดียวกันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาหุ่นยนต์ให้ต่ำลงถึง 7-10 เท่า เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูได้เท่าเทียมกัน โดยหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในระดับใกล้เคียงกับแบบที่พัฒนาในประเทศที่มีความก้าวหน้า หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้นั้นเราเน้นให้เหมาะสำหรับแนวทางการฟื้นฟูที่ได้มาตรฐานและมีความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญคือค่าการบำรุงรักษาหุ่นยนต์สามารถทำตามมาตรฐานได้ในราคาที่ย่อมเยากว่า และขณะนี้ได้เราพัฒนาโรงงานผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟูตามมาตรฐานการผลิต ISO13485 ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในหุ่นยนต์ทางการแพทย์ของคนไทยที่พัฒนาขึ้น
“หัวใจสำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์อยู่ที่การออกแบบโครงสร้างของหุ่นยนต์และการออกแบบระบบควบคุมทางพลศาสตร์ของหุ่นยนต์ที่มีความปลอดภัยสูง เราตั้งใจออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายง่าย เราพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นเพื่อคนไทยด้วยเทคโนโลยีของเราเอง 100% การพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้หุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบเพื่อใช้ในการฟื้นฟูจึงทำได้ง่าย”
“สถานที่ผลิตชิ้นงานอยู่ที่ห้องแลปวิจัยตึกโคลัมโบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และมีโรงงานผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ชื่อ Haxter Robotics ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 อยู่ที่อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ ซึ่งก่อตั้งโดยทีมสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) ส่วนผู้ที่มาเป็นนักวิจัยทั้งในแลปและโรงงานก็คือนักวิจัยที่ได้รับการบ่มเพาะการทำงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์จากศูนย์เทคโนโลยีหุ่นยนต์ รวมทั้งนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอกที่มีความสนใจในงานวิจัยทางด้านนี้ เราต้องการสร้างให้ทีมงานวิจัยและพัฒนามีความยั่งยืนและสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง” ศ.ดร.วิบูลย์ กล่าวด้วยความภูมิใจ
ปัจจุบันได้มีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและศูนย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ที่สวางคนิวาส จ.สมุทรปราการ นอกจากนี้ยังนำไปติดตั้งใช้งานในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลหาดใหญ่ ฯลฯ รวมทั้งได้มอบให้ผู้สูงอายุในโครงการ Chula Ari โครงการบูรณาการสหศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับสังคมไทย ที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย
Category:
Tags: