ขยะจากอาหารยังเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ในประเทศไทยยังมีกลุ่มคนทำงานกลุ่มเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “ผัก Done” ที่มองเห็นความสำคัญและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวของเรื่องนี้ พวกเขาทำอะไรกันบ้าง ไปชมกันครับ

เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ย เพื่อผืนดินที่ยั่งยืน

การกำจัดขยะจากอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งมลภาวะทางกลิ่นจากการทับถมในหลุมฝังกลับ หรือจะกำจัดด้วยวิธีการเผาก็สร้างมลภาวะทางอากาศ และยังทำลายคุณภาพดินอีกด้วย

กลุ่มผักดันจึงคิดหาวิธีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ให้หันมากำจัดขยะอาหารภายในบ้านด้วยตัวเองด้วยการทำปุ๋ยหมัก โดยพัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “ปั้นปุ๋ย” 

จากการดำเนินงานของกลุ่มผัก Done ทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วคนเมืองมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อมีอุปกรณ์นี้จึงทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เป้าหมายหลักของ ผัก Done ไม่ใช่การขอให้คนมาช่วยลดขยะ แต่อยากให้คนเมืองกับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร อยากจะทำอย่างไรก็ได้ให้คนรู้สึกว่าการลดขยะเป็นไลฟ์สไตล์ที่เท่และทำได้ ทำแล้วเราอวดคนอื่นได้ด้วย

ทดลองปั้นปุ๋ยจากขยะสดในบ้าน

บุรินทร์เจอนี่ ลองทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารกับคุณนิต้า มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย ด้วยอุปกรณ์ “ปั้นปุ๋ย” โดยมีวัสดุตั้งต้นที่จะใช้เป็นอาหารของจุลินทรีย์ ได้แก่

  1. ปุ๋ยคอก

  2. ใบไม้แห้ง

  3. กากกาแฟ

  4. ดิน

ขั้นที่ 1 นำใบไม้ใหญ่ ๆ หรือว่าใบตองรองชั้นที่ 1 ตามด้วยวัสดุตั้งต้นที่ผสมแล้วโรยปิดตัวใบตอง

ขั้นที่ 2 นำเศษอาหารที่เราเหลือจากการใช้ในแต่ละวัน กรองเอาน้ำออก หากมีเนื้อสัตว์ให้ดับกลิ่นด้วยน้ำตาลก่อน จากนั้นตักโรยเป็นชั้นบาง ๆ (เพราะหนามากตัวจุลินทรีย์เขาจะเข้าไปไม่ถึงเดี๋ยวจะมีกลิ่นได้)

ขั้นที่ 3 โรยปิดด้วยวัสดุตั้งต้นอีกครั้ง ทำสลับชั้นไปมาได้ทุกวัน เมื่อครบ 30 วัน (โดยประมาณ) เศษอาหารที่เราหมักไว้ชั้นล่างก็จะพร้อมนำมาใช้งานได้ หรือสังเกตจากสายตาคือ เศษอาหารถูกย่อยจนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว หรือกลิ่นเป็นเหมือนดิน เหมือนไอฝนก็ใช้ได้แล้ว 

“ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารด้วยตัวเอง ช่วยโลก ได้ประโยชน์กับต้นไม้ เริ่มต้นง่าย ๆ ได้ที่บ้าน”

Passion in this story