ในช่วงที่ผ่านมา “โลจิสติกส์” ถูกหยิบยกให้เป็นประเด็นสำคัญในระดับชาติ และถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ บุรินทร์เจอนี่จะพาไปทำความรู้จักความหมายที่แท้จริงของโลจิสติกส์กันให้มากขึ้น รวมถึงผู้ช่วยคนสำคัญของผู้ประกอบการอย่าง “กองโลจิสติกส์” กับบทบาทพี่เลี้ยงที่จะพาอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
กองโลจิสติกส์ กับบทบาทเสริมความแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย
กองโลจิสติกส์ เป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตามราชกิจจานุเบกษาเรื่องกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 2 ตุลาคม 2560 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในประเทศ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมของไทย
ดังนั้น บทบาทของกองโลจิสติกส์ คือการรับหน้าที่สำคัญในการ “พัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในประเทศ” ด้วยการ
เสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมที่ สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ
ศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงตลอดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมาย
ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นศูนย์กลางข้อมูลโลจิสติกส์อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
เป็นฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม โดยทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรมของประเทศ และยกระดับความสามารถของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศ
รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปติดตามในรายการบุรินทร์เจอนี่ครับ
กองโลจิสติกส์หนุนผู้ประกอบการ ลดเงินทุน เพิ่มกำไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกภาคส่วน เนื่องจากกิจกรรมโลจิสติกส์ครอบคลุมกระบวนงานที่กว้างขวางตลอดห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่เฉพาะแค่การขนส่งสินค้าหรือการบริหารสินค้าคงคลังเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงกระบวนการวางแผน การจัดการและควบคุมการไหลของวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป ข้อมูล การเงิน ตลอดจนสารสนเทศที่เกี่ยวข้องตั้งแต่จุดจัดเก็บ จุดผลิต ไปจนถึงจุดที่มีการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยความถูกต้อง ทั้งเวลา คุณภาพ ปริมาณ สถานที่ และต้นทุน
ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่เหมาะสมจึงเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ซึ่งการบริหารจัดการโลจิสติกส์ก็คือการบริหารกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง
ผู้ประกอบการธุรกิจอาจเคยตั้งข้อสงสัยว่า สินค้าและบริการที่ทำอยู่ ขายดีเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ทำไมผลกำไรกลับไม่สูงตามยอดขาย ในขณะที่สถานประกอบการคู่แข่งที่ขายสินค้าและบริการได้น้อยกว่า กลับมีผลประกอบการและผลกำไรสูงกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานประกอบการคู่แข่ง มีการวางแผนการดำเนินธุรกิจที่ดี และให้ความสำคัญกับ “การบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน”
การวางแผนการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ดีและเหมาะสมกับสถานประกอบการ ช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนดำเนินธุรกิจและสร้างผลกำไร
ซึ่งการทำธุรกิจในทุกวันนี้ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องนำหลักแนวคิดของโลจิสติกส์มาใช้ เพราะกิจกรรมที่ได้กล่าวมาเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ถ้าอยากให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจในเรื่องของโลจิสติกส์ เพราะการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการประสบความสำเร็จได้
ทั้งนี้การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้สถานประกอบการมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นใน 3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ
ไปชมตัวอย่าง Success Case ในรายการบุรินทร์เจอนี่ครับ
“เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน เปลี่ยนต้นทุนเป็นกำไร”
Category:
Tags: