“ผ้าไหมไทย” ที่คนไทยไม่กล้าใส่ แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วถือเป็นอีกสัญลักษณ์ของประเทศไทย ยิ่งถูกประยุกต์ให้เข้ากับสมัย บวกดีไซน์ที่โดดเด่น ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมไทย แต่นอกจากเรื่องธุรกิจ Khwanta Handicraft แบรนด์ไทยแท้ยังสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอีกด้วย จะมีด้านใดบ้าง ไปชมกันครับ

ไขความลับ ขวัญตา ผ้าไทยใส่ไม่แก่

      แบรนด์ Khwanta Handicraft (ขวัญตา) ก่อตั้งโดยคุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ (พี่อ๋อย) ซึ่งนำชื่อของคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณแม่เย็บผ้าและก็ทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก พอโตมาก็ได้มีโอกาสมาเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี ด้านผ้าและเครื่องแต่งกาย และมีความชอบในการคิดตกแต่งเสื้อผ้าให้มีความแตกต่างสวยงาม ทำให้คนที่เห็นสะดุดตาและแนะนำให้สร้างแบรนด์ของตัวเอง ในปี พ.ศ.2546 กรมการพัฒนาชุมชนเชิญชวนให้จดทะเบียนเป็น OTOP จึงได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนและทำสินค้าออกขาย

    โดยรวบรวมชาวบ้านผู้สูงอายุมาช่วยกันทำ ใช้ภูมิปัญญาความรู้ที่มีให้เกิดประโยชน์ และทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง เมื่อผู้สูงอายุนำงานกลับไปทำที่บ้าน ลูกหลานได้เห็นก็เกิดความสนใจ บอกต่อกันไป บ้างก็ช่วยกันทำเป็นครอบครัว ทำให้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางครอบครัวไปด้วย  

    Khwanta Handicraft ตั้งใจลบล้างคำว่า “ผ้าไทยใส่แล้วแก่” ด้วยการพัฒนารูปแบบให้ดูทันสมัย อีกทั้งยังต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ขวัญตา โดยหวังให้เด็กรุ่นหลังได้ซึมซับในเรื่องของผ้าไทย ในเรื่องของการทอ และอนุรักษ์ในสิ่งที่ไม่สามารถประเมินราคาได้ต่อไป

บุกโรงย้อมสีผ้าไทยจากวัสดุธรรมชาติ ขวัญตา

       Khwanta Handicraft มองถึงเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการย้อมเส้นไหม จึงหันมาย้อมธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาวตามท้องไร่ท้องนา ฝักคูณที่หล่นตามพื้นดินและมองว่าไม่มีประโยชน์ ซึ่งกระบวนการหลังจากย้อมก็จะมีบ่อบำบัดน้ำที่ใช้ต้นกกช่วยกรอง และเมื่อต้นกกโต ก็ยังสามารถนำมาทอเสื่อได้อีก

     แม้แต่การทอผ้าก็ยังนำลายบนภาชนะดินเผามาใส่ บางลายก็แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และแสดงถึงเอกลักษณ์ของคนไทย ความงดงามนี้ไปไกลถึงเวที London Fashion Week ด้วย

Passion in this story