“บุรินทร์เจอนี่” ตอนนี้ จะพาทุกท่านไปชมฝีมือคนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้งานภายในห้องทดลองหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงานในการพัฒนาวัคซีน

ก่อนหน้านี้ส่วนงานดังกล่าวจะใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำงาน ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หากงานพัฒนาวัคซีนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับโรคระบาดร้ายแรง

เทคโนโลยีภายใต้ฝีมือคนไทยนี้มีชื่อว่า “AI-Immunizer” ซึ่งเป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์รูปแบบใหม่ ผสานการทำงานระหว่าง “โรโบติกส์” และ “AI” เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาวัคซีน เพราะส่วนใหญ่การทดลองโครงการแบบนี้ จะใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น การที่มีเครื่องกลหรือหุ่นยนต์มาทดแทนการทำงานตรงนี้ ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในต่างประเทศ…มีการใช้หุ่นยนต์แบบนี้อยู่บ้าง แต่ยังไม่มีทุกแล็ป ก่อนที่จะมี AI-Immunizer การวิจัยหรือการค้นคว้าในเรื่องของวัคซีนใหม่ ๆ โดยทั่วไปจะใช้เวลา 10-15 ปี เนื่องจากว่ามีกระบวนการในการทดสอบมาก บางชนิดที่มีความยากมากขึ้น ก็จะใช้ระยะเวลานานขึ้น

เมื่อมี AI-Immunizer มาแล้ว ถือว่าตอบโจทย์อย่างมาก ในแง่ของการทำงานจะต้องมีการป้องกันความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน การที่มี AI เข้ามา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานในการสัมผัสกับเชื้อ ทั้งลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน ลดเวลา เพราะว่าหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล – ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ – ผศ.ดร.นริศ หนูหอม

เป้าหมายในอนาคตของการพัฒนา AI-Immunizer อยากจะให้มันมีความแม่นยำในการทำงานมากขึ้น และอยากจะให้มีข้อผิดพลาดลดน้อยลง ปลอดภัยกับผู้ติดเชื้อมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะลดปริมาณการทำงานของผู้ปฏิบัติลงได้ แต่ว่าเราก็ยังต้องอาศัยบุคลากรในการทำงานส่วนนี้อยู่เช่นเดิม 


ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรม หุ่นยนต์เอไอ-อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer) เป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถปฏิบัติการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของไวรัส ที่เรียกว่า Neutralization Test ทดแทนมนุษย์ได้อย่างครบวงจร

 

ทำให้สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ ลดความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ลดข้อผิดพลาด และความซ้ำซ้อน โดยทีมวิจัยได้ออกแบบให้เป็นระบบปิดในการปฏิบัติการด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ  ซึ่งปลอดภัยต่อการใช้งานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “นวัตกรรมหุ่นยนต์ เอไอ-อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)” สำหรับทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีนนี้ ส่งผลดีต่อการเสริมศักยภาพการพัฒนาวัคซีนไทยอย่างยิ่ง

นวัตกรรมนี้ยังช่วยลดขั้นตอนในการทำงานของบุคลากร ส่วนซอฟต์แวร์ AI สำหรับการประมวลภาพผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน สามารถนำมาใช้งานและเกิดการต่อยอดพัฒนาวัคซีนของไทยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระของการอ่านผลทดสอบโดยคน โดยหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในงานพัฒนาวัคซีนนี้ จะเป็นนวัตกรรมสำคัญที่รองรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านวัคซีนของประเทศไทย


ผศ.ดร.นริศ หนูหอม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ กล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยอ่านผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ว่า

ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานข้อมูลด้านไวรัสและภูมิคุ้มกันของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถเป็นกำลังสำคัญให้เกิดการพัฒนาต่อยอด และช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลและประเทศไทยได้


 

Passion in this story