“คนไทย” หากจะกล่าวถึงเรื่องของวิถีชีวิต เราๆ ท่านๆ ต่างรู้กันดีว่ามีความผูกพันกับแหล่งน้ำมาช้านาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งความผูกพันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยมีแหล่งน้ำไหลผ่านในแต่ละพื้นที่ หรือ เพราะมีพื้นที่ติดทะเล แต่เป็นการผูกพันที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่จะมากับสายน้ำ เกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนการทำการค้าภายในประเทศและการค้ากับต่างประเทศ

คนไทยส่วนใหญ่มีความผูกพันกับสายน้ำด้วยทำเลที่ตั้งและภูมิประเทศของประเทศไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและทรัพยากรในด้านต่างๆทำให้คนไทยใช้ชีวิตคู่กับสายน้ำมาโดยตลอด อาทิ การตั้งถิ่นฐานของคนไทยในอดีตนิยมปลูกบ้านพักที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ริมน้ำเพื่อใช้ในการสัญจรและทำการเกษตร อีกทั้งยังมีการตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเล หรือที่เรียกชุมชนกลุ่มนี้ว่า “ชุมชนชายฝั่ง” ซึ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ได้ให้คำจำกัดความของชุมชนชายฝั่งไว้ว่า ชุมชนชายฝั่ง หมายความว่า ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลหรือเกาะ

ทั้งนี้ชุมชนชายฝั่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางด้านประมงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง ปัจจุบันมีบางชุมชนเริ่มหันมาทำการท่องเที่ยวประกอบกับการทำประมงควบคู่กันไป ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและก่อให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประมงชายฝั่ง (Inshore Fisheries) หรือ ประมงพื้นบ้าน (Artisanal Fisheries) คือ การประมงเพื่อยังชีพหรือประมงขนาดเล็ก โดยทั่วไปใช้เรือขนาดเล็ก เช่น เรือพื้นบ้าน

ส่วนใหญ่จะติดเครื่องยนต์เข้าไปด้วยและทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงจำพวก แห หรือ เบ็ดแบบง่ายๆ ประมงพื้นบ้านเป็นการประมงเพื่อยังชีพ หาอาหาร สร้างรายได้ และก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น ควบคู่กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำทดแทนสัตว์ทะเลที่สามารถจับได้ตามธรรมชาติ และสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในแถบชายฝั่งทะเลได้เป็นอย่างดี บางชุมชนชายฝั่งทะเลเริ่มมีการปรับตัวในการนำทรัพยากรทางทะเลในท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อประกอบเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งปัจจุบันเรื่องของการท่องเที่ยวเริ่มมีความนิยมแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น

ด้วยความได้เปรียบทางธรรมชาติและความได้เปรียบทางศักยภาพของทรัพยากรทางทะเลของชุมชน หลายพื้นที่ชาวบ้านได้เล็งเห็นศักยภาพของทรัพยากรและคุณค่าของทรัพยากร จึงได้มีการพัฒนาชุมชนเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวพื้นบ้าน ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกิดดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่ ป่าชายเลน และสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนในการร่วมดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของตน ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น โดยการพัฒนาไม่เพียงแต่รับจากปัจจัยภายนอกเพียงด้านเดียว แต่เป็นพัฒนาศักยภาพจากชุมชนเองด้วย โดยการบริหารจัดการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคนในชุมชนเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่าทรัพยากรก่อให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เมื่อคนในชุมชนชายฝั่งทะเลมีอาชีพ อาชีพก็จะก่อให้เกิดรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีพและเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว ตลอดจนก่อให้เกิดรายได้เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเศรษฐกิจชุมชนชายฝั่งนั่นคือ เศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในชุมชน ทุกคนสามารถรับประโยชน์ได้จากระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสังคม ทุกคนสามารถแบ่งปันให้แต่ละคนยืนอยู่ได้บนห่วงโซ่เศรษฐกิจได้ จนกลายเป็นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นการที่คนไทยหรือคนในชุมชน จะอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการบังคับใช้ทางด้านกฎหมายเพียงด้านเดียว แต่อีกด้านหนึ่ง เช่น การสร้างการรับรู้ สร้างการเรียนรู้ จัดกิจกรรมหรือประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร ตลอดจนการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรโดยการแปลงค่าทรัพยากรธรรมชาติออกมาเป็นอาชีพ และอาชีพก็แปลงค่าออกมาเป็นตัวเงินหรือแปลงทรัพยากรออกมาเป็นรายได้ เมื่อคนในชุมชนมีรายได้และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรชุมชนก็จะการอนุรักษ์และหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า

ทรัพยากรสามารถตีมูลค่าได้ ไม่ใช่เพื่อการค้าแต่เพื่อการอนุรักษ์และก่อให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 

ที่มา

- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สถาบันวิจัยข้อมูลทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพือ่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนองค์การมหาชน  
- เครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย (TCCN) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

Passion in this story