ปัจจุบันเราเคยชินกับการใช้พลาสติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากตัวเลขของกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยทั่วประเทศ 27.06 ล้านตัน คิคง่ายๆ เราสร้างขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็น 74,130 ตันต่อวัน โดยมีการกำจัดอย่างถูกวิธี 9.57 ล้านตัน หรือ 35.4% กำจัดไม่ถูกวิธี 11.40 ล้านตัน หรือ 42.1% มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 5.81 ล้านตัน หรือ 21.5% ที่เหลือเป็นขยะที่ตกค้างสะสม 9.96 ล้านตัน

ที่น่าสนใจคือ ขยะบกที่ตกค้าง จะเริ่มลงสู่ทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น ขยะที่เกิดจากกิจกรรมชายฝั่งและการผักผ่อน คิดเป็น 41% และขยะที่มาจากกิจกรรมทางน้ำ คิดเป็น 8%  

มลภาวะจากพลาสติก

“พลาสติก” คือ วัสดุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นจากธาตุพื้นฐาน 2 ชนิด คือ คาร์บอน และไฮโดรเจน ซึ่งเมื่อเติมสารบางอย่างลงไปจะทำให้พลาสติกมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันไปตามสัดส่วนและกรรมวิธี โดยสังเคราะห์จากโพลีเมอร์อินทรีย์ที่ได้จากการสกัดน้ำมันและแก๊ส

“พลาสติก” สามารถสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมได้ เพราะหากกระบวนการจัดการพลาสติกใช้แล้ว เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกวิธี รวมถึงการทิ้งขยะอย่างไร้ความรับผิดชอบลงแหล่งน้ำต่างๆ เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และทำให้เกิดมลพิษ

นอกจากนี้เมื่อพลาสติกผ่านการรีไซเคิลคุณภาพจะด้อยลง จึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ เช่น โฟมบรรจุอาหารจะถูกรีไซเคิลกลายเป็นโฟมกันกระแทก (ไม่ควรนำกลับมาใส่อาหารอีก)

น้ำดื่มทุกวันนี้ มีพลาสติกจิ๋วแฝงอยู่

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องน่ากังวลมากขึ้น เมื่อผลวิจัยในโครงการของ ออร์บ มีเดีย (Orb Media) โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของ State University of New York Fredonia พบการปนเปื้อนของ ไมโครพลาสติก (Microplastic) ในน้ำดื่มบรรจุขวดจากการสุ่มตัวอย่างน้ำ 11 ยี่ห้อที่มาจาก 9 ประเทศและมีชื่อประเทศไทยอยู่ในนั้นด้วย

“คุณภาพของน้ำ” มีอิทธิพลอย่างมากต่อมนุษย์ เพราะน้ำไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มคลายกระหาย แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของเรา ไม่ว่าจะใช้ดื่มกิน ทำอาหาร ทำความสะอาด หรือเพาะปลูกพืช

พลาสติกจิ๋วเหล่านี้ อยู่ในน้ำดื่มเราได้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติก “เชอร์รี่ เมสัน” เผย อนุภาคพลาสติกที่พบกว่า 65% มีลักษณะเป็นเศษพลาสติกไม่ใช่เส้นใยพลาสติก จึงเชื่อว่าอนุภาคเหล่านี้อาจปนเปื้อนในขั้นตอนการบรรจุขวด หรือหลุดมาจากตัวขวดน้ำดื่มหรือจากการเปิดฝาขวด โดยน้ำดื่ม 1 ลิตร จะพบไมโครพลาสติก เฉลี่ย 10.4 ชิ้น และเชื่อว่าอนุภาคพลาสติกมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิด ปัญหาจำนวนอสุจิลดลง โรคสมาธิสั้น และโรคออทิสติก

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำประปาได้อย่างไรยังคงเป็นปริศนา แต่เป็นไปได้ว่าการปนเปื้อนนี้มาจากสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ รวมทั้งจากเสื้อผ้า โดยอาจปนเปื้อนผ่านน้ำที่ปล่อยมาจากเครื่องซักผ้า ก่อนระบายลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือมาจากเครื่องอบผ้าที่ปล่อยใยพลาสติกลอยปนเปื้อนในอากาศ

แล้ว…เราจะดื่มน้ำจากที่ไหนดี

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่า “น้ำดื่มบรรจุขวดในประเทศไทยยังคงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค”

ขณะที่ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงงานวิจัยของ German Institute for Risk Assessment (BfR) ซึ่งทำการทดลองโดยให้หนูกินไมโครพลาสติกขนาดต่างๆ จำนวนมาก ติดต่อกัน 28 วัน ก็ยังไม่พบผลกระทบในเชิงลบ แต่การประเมินผลที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ในระยะยาวนั้นยังต้องศึกษากันอีกมาก

แม้ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันชัดว่าการปนเปื้อนดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อจิตใจคนอ่านไม่มากก็น้อย

วันนี้ไมโครพลาสติกย้อนกลับมาหาเราผ่านแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวที่คาดไม่ถึงแต่เราสามารถหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกเหล่านี้ได้

เริ่มจากการสำรวจของใช้ใกล้ตัวเรามีผลิตภัณฑ์จากพลาสติกอยู่กี่ชิ้น ชิ้นไหนพอจะเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ค่อยๆปรับวันละนิด ลดการใช้ ลดการทิ้งขยะพลาสติกอย่างมักง่ายทั้งบนบก และชายฝั่งทะเลปกป้องแหล่งน้ำใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดูแลท้องทะเล และชายฝั่งทะเล เพื่อทุกชีวิตที่ปลอดภัย

ร่วมรักษาท้องทะเลและชายฝั่งของเราไปพร้อมกับ Blue Carbon Society เพื่อท้องทะเลสีน้ำเงินของพวกเรากันเถอะ คลิกเลยที่ www.bluecarbonsociety.org

ที่มา

Passion in this story