เมื่อกล่าวถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายท่านมึกจะนึกถึงแต่การขึ้นเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีความกล่าวหนึ่งที่ว่า “เที่ยวทะเลหน้าหนาว สวยไม่แพ้หน้าร้อนเลย” คำกล่าวนั้นเป็นเรื่องจริง หากท่านยังไม่เคย แนะนำว่าต้องหาเวลาสักครั้ง เพื่อไปพิสูจน์คำพูดดังกล่าว …. แต่การเที่ยวทะเลก็มีสิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวัง คือ สิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ประชาชนหวาดกลัว และไม่กล้าเข้าไปใกล้หรือไปสัมผัส นั้นก็คือ “แมงกะพรุน”

แมงกะพรุน หรือ กะพรุน จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งจัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Phylum Cnidaria) และอยู่ในไฟลัมย่อยลงมาคือเมดูโซซัว (Subphylum Medusozoa) แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวโปร่งใส ร่างกายส่วนใหญ่ประกอบด้วยเจลาติน ซึ่งลำตัวโปร่งใสจนสามารถมองเห็นเข้าไปถึงอวัยวะภายในได้ แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองและหัวใจ ลำตัวด้านบนมีลักษณะคล้ายร่ม เรียกว่า เมดูซา (Medusa) ซึ่งศัพท์นี้ก็ใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของแมงกะพรุนด้วยเช่นกัน แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกกว่า 600 ล้านปี โดยถือกำเนิดก่อนไดโนเสาร์ถึง 230 ล้านปี หรือก่อนมนุษย์ราว 500,000 ปี ถือได้ว่าแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงสุด ซึ่งมีวงจรชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ

การดำรงชีวิตของแมงกะพรุนนั้น แมงกะพรุนเมื่อได้ปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นมา มีลักษณะเหมือนขนหรือหนอนตัวเล็ก ๆ มีขนละเอียดรอบตัว เรียกว่า “ซิเลีย” จากนั้นจะพัฒนาไปเป็น “พลานูลา” จะคืบคลานไปหาที่ ๆ เหมาะสมเพื่อเกาะและเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น “โพลิป” ซึ่งมีสันฐานเหมือนดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก คือ มีลำตัวที่เหมือนกับแจกันเกาะอยู่กับวัสดุต่าง ๆ ลำตัวหงายขึ้น โดยมีหนวดอยู่รอบปากด้านบน ซึ่งแตกต่างไปจากแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เมื่อโพลิปได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจำเพาะก็จะเกิดการแตกหน่อซ้อนกันเป็นชั้นๆ ซึ่งคือ แมงกะพรุนขนาดเล็กที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จะหลุดและลอยไปตามกระแสน้ำ ที่เรียกว่า “อีฟีรา” หรือ “เมดูซา” มีลักษณะเหมือนแมงกะพรุนตัวเต็มวัย คือ ลำตัวคว่ำลง หนวดอยู่ด้านล่าง หากแมงกะพรุนในขั้นนี้ได้รับอาหารที่พอเพียง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะเจริญเติบโตกลายเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ต่อไปก็จะเข้าสู่วงจรเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียพบว่า แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีการนอนหลับพักผ่อนเช่นเดียวกับสัตว์ชั้นสูงหรือสัตว์ที่มีโคร่งร่างซับซ้อนชนิดอื่น ๆ ด้วย ทั้งที่เป็นสัตว์ที่ไม่มีสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง แต่มีการพัฒนาของเซลล์ประสาท

โดยทั่วไปแมงกะพรุนที่พบในปัจจุบันมีประมาณ 250 ชนิด แต่ละชนิดจะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 2-200 เซนติเมตร ซึ่งพวกที่มีขนาดเล็กมักจะมีสีสดและเข้ม เช่น สีชมพู ม่วง เขียว หรือใสไม่มีสี ส่วนพวกที่มีขนาดใหญ่มักจะมีสีฟ้า น้ำตาล หรือขาวขุ่น บางชนิดสามารถเรืองแสงได้ในที่มืด ชนิดที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนหอม แมงกะพรุนลอดช่อง พบในประเทศไทย และเขตน้ำตื้นเขตร้อนทั่วไป ชนิดที่มีพิษร้ายแรง เช่น แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนสาหร่าย เป็นต้นแมงกะพรุนไฟสายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก มีชื่อว่า “Portuguese man-of-war” มีลักษณะเด่นคือ มีร่มที่มีลักษณะคล้ายหมวกของทหารเรือปอร์ตุเกสลอยอยู่บนน้ำ มีหนวดเป็นสายยาว ส่วนอีกชนิดที่มีอันตรายมาก เรียกว่า “Box Jellyfish” หรือ แมงกะพรุนกล่อง แมงกะพรุนชนิดนี้จะมีหนวดอยู่ตามมุมทั้งสี่ พิษของแมงกะพรุนทั้ง ๒ ชนิดหลังนี้มีพิษที่ร้ายแรงมากสามารถทำให้ผู้ถูกพิษหรือสัมผัสกับแมงกะพรุน 2 ชนิดนี้นั้น เสียชีวิตได้ ซึ่งแมงกะพรุนสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ แมงกะพรุนที่ใช้บริโภคและแมงกะพรุนที่เป็นพิษ

1.แมงกะพรุนที่ใช้บริโภค

  •  แมงกะพรุนลอดช่อง (LOBONEMASMITHII) ลำตัวใส สีฟ้า ขาว ชมพู หรือ ม่วงคราม ผิวนอกของร่มมีรยางค์คล้ายวุ้น เป็นเส้นตรงเหมือนเส้นลอดช่องสิงคโปร์ รยางค์ที่อยู่ตรงกลางใต้ร่มมีขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางร่ม ที่พบว่านำมาใช้ทำแมงกะพรุนแห้งอยู่ระหว่าง ๒๐-๕๐ เซนติเมตร
  •  แมงกะพรุนหนัง (RHOPILOMAHISPIDUM) หรือแมงกะพรุนส้มโอ ลำตัวสีขาว หรืออาจมีจุดประสีน้ำตาล ผิวหยาบขรุขระค่อนข้างแข็งคล้ายเปลือกส้มโอ
  • แมงกะพรุนหอม (MASTIGIAS SP.) ลำตัวสีน้ำตาลไหม้ ผิวนอกของร่มเป็นปุ่มนูนยาวคล้ายผิวมะกรูด

2. แมงกะพรุนที่เป็นพิษ

ในอ่าวไทยยังไม่มีการจำแนกชนิดที่แน่นอน แต่ที่รู้จักกันดี คือ แมงกะพรุนไฟ มีรูปร่างคล้ายแมงกะพรุนหนังแต่มีขนาดเล็กกว่า มีร่างกายส่วนที่เป็นร่มค่อนข้างแบนบริเวณขอบร่มบาง ส่วนที่คล้ายด้ามร่มเป็นสายพันกันไปมา และบางส่วนพองเป็นถุง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของร่มประมาณ 30 เซนติเมตร และมีสีน้ำตาลอมม่วง นอกจากนี้มีแมงกะพรุนสาหร่าย และแมงกะพรุนหวี ลักษณะที่คล้ายกันของพิษ คือ มีหนวดเป็นสายยาวต่อจากลำตัวหลายเส้น แต่ละเส้นยาวประมาณ 1.50 เมตร ถ้าหนวดนี้ขาดหลุดออกไปก็สามารถทำอันตรายกับผู้ที่ถูกสายนี้ได้ อีกทั้งเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2560 มีการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังแมงกระพรุนไฟที่มีการแพร่กระจายบริเวณชายทะเลจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้หากผู้ใดสัมผัสโดนพิษของแมงกระพรุนไฟ จะทำให้เกิดอาการแสบร้อน และเป็นผื่น ได้แต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต วิธีบรรเทาอาการก็เพียงแค่ใช้น้ำส้มสายชูราดลงบริเวณที่โดนก็จะดีขึ้น

ทั้งนี้ประโยชน์ของแมงกะพรุนจากการศึกษาของนักสมุทรศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยี แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของแมงกะพรุน พบว่า รูปร่างทรงร่มของแมงกะพรุน มีบทบาทสำคัญในการผสมผสาน ปั่นกวนทั้งความร้อน สารอาหาร และสารเคมีให้แพร่กระจาย รักษาสิ่งแวดล้อมของมหาสมุทร และยังมีอิทธิพลกับการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างหนัก อีกทั้งนักวิจัยได้ รายงานในวารสารวิชาการ “ธรรมชาติ” ของสหรัฐอเมริกาว่า สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะมีขนาดและรูปทรงอย่างใด ล้วนแต่มีส่วนช่วยในการปั่นกวนมหาสมุทรด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ เห็นว่า แม้ว่าลมและกระแสน้ำ จะมีส่วนอยู่ในระดับใหญ่ ในการปั่นกวนน้ำทะเล แต่ก็ยังพบว่าบทบาทของสิ่งมีชีวิต อาจจะมีความสำคัญมากกว่า เพราะผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะสัตว์เล็กใหญ่ขนาดไหน ล้วนแต่มีส่วนร่วมกับการปั่นกวนมวลน้ำทั้งสิ้น อย่างเช่น แมงกะพรุน ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 1-10 ซม. เมื่อมันเคลื่อนตัวไป มันก็ได้ช่วยดึงให้น้ำรอบๆตัวตามมันไปด้วย เป็นต้น อีกทั้งแมงกะพรุนยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชายฝั่งทะเล จากการจับแมงกะพรุนไปขายเพื่อนำไปประกอบอาหาร ซึ่งแมงกะพรุนดังกล่าวนี้จะถูกส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ต่อไป

รวมไปถึงแมงกะพรุนยังก่อให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อาทิ เทศกาลชมแมงกะพรุนหลากสี ของจังหวัดตราด ซึ่งเป็นแหล่งการกระจายแมงกะพรุนถ้วยจำนวนมากมายและหลากสีสัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี โดยจะมีแมงกะพรุนถ้วยนับพันตัว หลากสีสัน ลอยอยู่ในทะเลบริเวณหาดราชการุณย์และบริเวณหาดต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ โดยชาวบ้านจะนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมความงามของแมงกะพรุนที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกบริเวณของทะเล โดยมีค่าใช้จ่ายท่านละ 100 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น แมงกะพรุนไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่แมงกะพรุนบางชนิดยังเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของระบบนิเวศทางทะเล รวมไปถึงสามารถก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนริมชายฝั่งทะเลจากการท่องเที่ยวหรือจากการนำมาจำหน่ายเพื่อนำไปประกอบอาหาร เกิดเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนคนไทยต่อองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแมงกะพรุนย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ อีกทั้งไม่ทำร้ายแมงกะพรุนเพียงแค่มนุษย์เห็นว่าเป็นอันตราย แต่ถ้ามนุษย์เรียนรู้และเข้าใจ เชื่อได้ว่าเราจะรักและเข้าใจวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมโลกที่เราเรียกสิ่งมีชีวิตนี้ว่า “แมงกะพรุน”

Passion in this story