ปัจจุบัน… ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นและแสดงถึงความเป็นไทย คือ การท่องเที่ยว และเมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักนึกถึง “ทะเลไทย” ซึ่งมีทั้งความสวยงามและความหลากหลายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นในมาตุภูมิที่กล่าวขานเรียกผืนดินผืนนี้ว่า “ขวานทอง”
ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีความยั่งยืนและอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งทางด้านทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรชายฝั่งทะเล จากทำเลที่ตั้งที่เป็นเสมือนแหล่งทองคำทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรจวบจนมาถึงปัจจุบัน เมื่อศึกษาถึงทำเลที่ตั้งของประเทศไทยพบว่าประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน (Indochina) ทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังอยู่บนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นความได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัดของประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรองมาจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศเมียนมาร์
ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กว่า 350,000 ตารางกิโลเมตร มากกว่า 2 ใน 3 ของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร ความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้นครอบคลุม 23 จังหวัด
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันประกอบไปด้วยความหลากหลายของทรัพยากรทางทะเลความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งส่งผลดีต่อคนไทยทั้งทางด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์การคมนาคม ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหาร อีกทั้งยุทธสาสตร์ทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายพันล้านบาท รวมไปถึงข้อได้เปรียบอื่น ๆ อีกหลายประการที่ส่งผลดีต่อประเทศไทยอันเนื่องมาจากทำเลที่ตั้งอีกทั้งผลดีทางด้านทำเลที่ตั้งของประเทศไทยยังส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเล
คลิกเลย! แนะนำบทความน่าอ่าน
- ลดปริมาณ “ขยะทะเล” – เพิ่มพื้นที่ BLUE CARBON
- “ป่าของไทย” ความหลากหลาย – ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
- อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล – ด้วยการทำประมงอย่างยั่งยืน
- “สังคมยุคใหม่ ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม”
- ปรับพฤติกรรมลดโลกร้อน “รักษ์ทะเล” ไม่ทิ้งขยะลงทะเล
ประเทศไทยมีความหลากหลายและมีความอุดมสมบูรณ์ เช่น
- ป่าชายเลน ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของทั้งชนิดพันธุ์พืชและชนิดพันธุ์สัตว์อีกทั้งมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการประมง ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและสัตว์อื่น ๆ รวมไปถึงตัวอ่อนของสัตว์น้ำที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน อันได้แก่ กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว และปลาอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยในการป้องกันการพังทลายชายฝั่งทะเล ลดความรุนแรงของคลื่น ชะลอความเร็วของลมพายุ ช่วยเพิ่มพื้นที่ตามชายฝั่ง ช่วยกรองของเสียที่เกิดจากแหล่งกำเนิดบริเวณชายฝั่งมิให้ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งของเสียเหล่านั้นจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง
- ปะการัง แนวปะการังของประเทศไทยมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังอันดับต้นของโลก แนวปะการังของไทยมีจำนวนชนิดของปะการังและกลุ่มสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังมากกว่าหลายแห่งในโลก อีกทั้งแนวปะการังเป็นระบบนิเวศหนึ่งที่มีคุณประโยชน์นานัปการ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนับพันชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งทำการประมงทำให้ประชาชนมีแหล่งอาหารและมีรายได้ ตลอดจนเป็นปราการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากแรงคลื่นและกระแสน้ำ และที่สำคัญยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้และสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทย
- หญ้าทะเล มีบทบาทที่สำคัญที่สุดของระบบนิเวศ กล่าวคือ การเป็นผู้ผลิต (Producer) ในห่วงโซ่อาหาร หญ้าทะเลจะปล่อยอินทรียสารที่ละลายน้ำได้สู่มวลน้ำและถูกถ่ายเทออกไปยังนอกเขตฝั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการหมุนเวียนของคาร์บอนในแหล่งน้ำ รวมไปถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากการทำการประมงในแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้แล้วหญ้าทะเลบางชนิดเช่น ผลของหญ้าทะเลบางชนิด (หญ้าชะเงาใบยาว) สามารถนำมาบริโภคได้ ตลอดจนกระทั่งนำมาเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ด้วย
- ชายฝั่งและชายหาด หาดทรายและชายฝั่งทะเลเป็นระบบนิเวศหนึ่งที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมาย ต่อระบบนิเวศอีกทั้งมีคุณประโยชน์ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย นอกจากความสวยงามของหาดทรายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้วนั้น หาดทราย ยังมีบทบาทและความสำคัญต่อระบบนิเวศ ทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต แหล่งอาศัยและแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะการวางไข่ของเต่าทะเล เป็นแหล่งอาศัยของนกทะเล แหล่งอาหารและแหล่งกิจกรรมทางด้านประมง อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญรวมไปถึงเป็นแนวป้องกันพายุและคลื่นลม เป็นต้น
- ทรัพยากรทางด้านประมง ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทย ซึ่งบริเวณอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปมีความลึกเฉลี่ย 45 เมตร มีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่อ่าวไทยพัดพาเอาตะกอนและสารอาหารจำนวนมากไหลลงสู่ทะเล ซึ่งในบริเวณอ่าวไทยตอนบนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตสูงมากแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งเป็นบริเวณที่มีแพลงก์ตอนอาศัยอยู่มาก กล่าวคือบริเวณปากแม่น้ำสายหลักทั้ง 4 สาย และบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกตอนบนของอ่าวไทย ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เป็นแหล่งหากินของสัตว์น้ำและยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาหลากหลายชนิด อีกทั้งการหมุนเวียนของน้ำจากชั้นล่างขึ้นสู่ผิวน้ำที่บริเวณนอกฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณนอกฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ทำให้ปริมาณธาตุอาหารมีมากขึ้น เป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณดังกล่าวจึงเป็นที่วางไข่และเพาะเลี้ยงลูกปลาทูตามธรรมชาติ
แต่ปัจจุบันพบว่าทรัพยากรทางทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถูกรบกวนและถูกทำลายลงด้วยฝีมือของมนุษย์จากการเจริญเติบโตของกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณชายฝั่ง อีกทั้งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ขาดความระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับจนก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมลงของทรัพยากร อีกทั้งการแปรสภาพป่าชายเลนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำบ่อปลา และการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย มักจะได้รับการพิจารณาว่ามีคุณค่าและได้รับการสนับสนุนให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนที่มากเกินไป ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับชุมชนชายฝั่งทะเล
ความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลมีสาเหตุอันเนื่องมาจากกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น สภาพพื้นท้องทะเลไม่เหมาะสม กระแสน้ำและคลื่นลมแรง การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เป็นต้น และสิ่งสำคัญของสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล คือ การกระทำของมนุษย์ การทำประมงในแหล่งหญ้าทะเล การเก็บเกี่ยวหญ้าทะเลเพื่อการค้าและการพาณิชย์ กิจกรรมที่ทำให้คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลเสื่อมโทรม เช่น การทำเหมือง การตัดถนน การขุดลอกร่องน้ำ การถมทะเล การก่อสร้าง น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และนากุ้ง เป็นต้น
แนวคิดผู้นำเพื่อความสำเร็จ
ฉะนั้น เราคนไทยทุกคนต้องช่วยกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยและเล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตลอนจนสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา อีกทั้งธำรงไว้ซึ่งคุณค่าเพื่อให้คงอยู่คู่กับคนไทย เปรียบเสมือนเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่ให้ความเจริญและให้ชีวิตตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ส่งต่อมายังรุ่นพ่อแม่ของเรา จวบจนสืบทอดมาถึงพวกเราและสามารถส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และทรงคุณค่าให้แก่รุ่นลูก รุ่นหลานของเราต่อไป
ที่มา : - https://th.wikipedia.org - http://www.dmcr.go.th - https://web.ku.ac.th - https://www.gotoknow.org - https://pixabay.com
Category: