“เป็นไปได้หรือไม่…ว่าน้ำจะท่วมโลก?” นี่คือคำถามที่มักเกิดขึ้นในใจเราเสมอเวลาที่เราออกมาจากโรงภาพยนตร์หลังสนุกสนานกับเนื้อเรื่องของการผจญภัยของพระเอก-นางเอกที่ต้องเอาชีวิตรอดจากมหันตภัยน้ำท่วมโลกดังกล่าวซึ่งบนพื้นฐานความเป็นจริง…ปริมาณน้ำของโลกที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งบนพื้นดินและการขยายตัวของผิวน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น
เป็นผลกระทบของภาวะโลกร้อน (Global Warming)
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น แรงโน้มถ่วงการยกตัว และทรุดตัวของแผ่นดินข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของโลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 10-25 เซนติเมตร และคาดการณ์กันว่าอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 50 เซนติเมตรในปี พ.ศ. 2643
ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมใกล้ชายฝั่ง หรือเกิดพายุรุนแรงจากสภาพอากาศแปรปรวน จนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่มีคุณค่าอย่างป่าชายเลน หมู่ปะการัง และหญ้าทะเล ส่วนชายฝั่งก็ถูกกัดเซาะมากขึ้น
จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้โลกร้อนไปกว่านี้ ?
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เกิดจากมีก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากเกินไปโดยก๊าซเรือนกระจกตัวหนึ่งที่สำคัญ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ และวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ คือ การสร้างพื้นที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การปลูกป่าชายเลน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนกระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเริ่มสำรวจพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 โดยพบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,299,3752 ไร่ แต่ในปี พ.ศ. 2539 เหลือพื้นที่ป่าชายเลนเพียง 1,047,390 ไร่เท่านั้น
หลังจากปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลจึงมีนโยบายการฟื้นฟูป่าชายเลน ในปี พ.ศ. 2543 ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นเป็น 1,525,997.67 ไร่ แต่การสำรวจล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีรายงานในแผนแม่บทจัดการป่าชายเลนประเทศไทยของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพื้นที่ป่าชายเลนเริ่มลดลงอีกครั้งโดยเหลืออยู่เพียง 1,460,621.86 ไร่
ป่าชายเลนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริงหรือ ?
แน่นอน! เพราะป่าชายเลนเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีมาก รายงานในนิตยสาร Nature Geo-science เมื่อปี พ.ศ. 2544 ของคณะนักวิจัยจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาป่าชายเลน 25 แห่ง บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ระบุว่า ป่าชายเลนคือป่าไม้ที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ดีที่สุดในโลกโดยคาร์บอนส่วนใหญ่จะถูกกักเก็บไว้ใต้ดินในรากของต้นโกงกาง
ป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าไม้เขตหนาวหรือป่าฝนเขตร้อนชื้น 3-4 เท่า เมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่เท่า ๆ กัน ต้นไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงจึงช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับโลกช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนได้
- ป่าชายเลน เป็นทั้งแหล่งอาหารแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์บางชนิด และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์พืชในป่าชายเลนหลายชนิดสามารถนำมาประกอบอาหารเป็นยา และใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มากมาย
- ป่าชายเลน ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง
- ป่าชายเลน ช่วยลดความรุนแรงของคลื่น และลมที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งรากของต้นไม้ในป่าชายเลนช่วยป้องกันน้ำกัดเซาะชายฝั่งช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ และทำหน้าที่เป็นตะแกรงธรรมชาติ คอยกรองสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ จากบนบกไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Blue Carbon Society ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ง่ายๆ เพียงคลิก www.bluecarbonsociety.org
ที่มา : - Green Peace - องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) - สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง