การพลิกฟื้นชุมชนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากจะต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้แล้ว ก้าวต่อไปที่มีความสำคัญ คือ การให้ความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน รวมถึงการพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยังยืนในระยะยาว
การพัฒนาเกาะเต่าก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ที่เริ่มต้นจากการระดมทุนสาธารณะ ในรูปแบบ Crowdfunding ด้วยการรับบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ของธนาคาร เพื่อนำไปจ้างคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็ก เก็บขยะในทะเลในช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่วยให้ชุมชนมีรายได้พอประทังในระยะแรก ก่อนจะนำเงินที่ระดมทุนได้ต่อยอดในโครงการต่างๆ อีก 5 โครงการ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมเกาะเต่า ควบคู่กับการสร้างรายได้ให้ชุมชนนอกเหนือจากการรายได้จากการท่องเที่ยว เช่น การทำซั้งปลาเพื่อฟื้นฟูอาชีพกลุ่มประมงพื้นบ้าน การทำผลิตภัณฑ์ปลาตากแห้ง และการทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม
ทั้ง 5 โครงการได้ต่อยอดให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ยังขาดจิ๊กซอว์สำคัญอีกหลายตัว ที่จะสนับสนุนให้ชุมพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการให้ความรู้ทางการเงินกับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ และใช้เครื่องมือทางการเงินได้อย่างถูกต้อง ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน
โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ในปีที่สองจึงเกิดขึ้น ภายใต้เป้าหมายการต่อยอดสู่ความยั่งยืน ด้วยการใช้ศักยภาพที่มีของธนาคารกรุงไทยให้ความรู้ด้านการเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการการเงินได้อย่างแท้จริง
โดยกิจกรรมแรกนั้น ธนาคารกรุงไทย โดยทีม More Finได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตกรรมการเงินในยุคดิจิทัลกับเจ้าหน้าที่เทศทาลตำบลเกาะเต่า ให้เข้าใจถึงนวัตกรรมการเงิน ระบบการรับชำระและระบบจ่ายเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของเทศบาลง่ายขึ้น รวมถึงระบบการจัดเก็บเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และ QR Code ที่สามารถประยุกต์ใช้กับระบบการเก็บเงินค่าบำรุงเกาะได้
ส่วนในกิจกรรมที่สองนั้น ธนาคารกรุงไทย ได้ทำกิจกรรม Workshop ตรวจสุขภาพทางการเงินให้กับชาวบ้านในชุมชนเกาะเต่า ในรูปแบบกิจกรรมที่สนุกสนานแต่แฝงมุมมองทางการเงิน เพื่อให้เข้าใจระบบการเงินพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดการการเงินในครัวเรือนได้
ในกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับหลายชุมชนที่มีความเข้มแข็งและพัฒนาสู่ความยั่งยืน การจัดการความรู้ทางการเงินถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อชุมชนมีความเข้าใจบริบททางการเงินแล้ว จะเกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชน มีการสนับสนุนการเงินระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์ หรือองค์กรการเงินอื่นๆ รวมถึงการสร้างโครงการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อย่างเช่น ธนาคารปู ธนาคารปลา เป็นต้น
การจัดการความรู้ทางการเงินจึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างรายได้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนเกาะเต่าจึงเป็นอีกหนึ่งชุมชน ที่มีรูปแบบการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ทำให้เกิดกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืน เกาะเต่า จึงเป็นต้นแบบที่น่าสนใจถึงแบบอย่างการจัดการความยั่งยืนชุมชนได้เป็นอย่างดี
Category:
Tags: