จากความพยายามผลักดันเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม ให้กลุ่ม LGBT หรือกลุ่มคนเพศทางเลือกมานานกว่า 6 ปี ในที่สุดร่างพรบ.คู่ชีวิต ฉบับแรกของประเทศ ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมไทยเลยก็ว่าได้”

จากนี้ไป ก็จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ หากร่างพรบ.นี้ได้รับการอนุมัติ ก็จะเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสิทธิและความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเพศทางเลือก จะเป็นเส้นทางที่โรยด้วยดอกกุหลาบ เพราะยังมีความท้าทายและอุปสรรคอีกหลายอย่างรออยู่เบื้องหน้า

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม

passion gen ติดตามเรื่องนี้กับ นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม  

ผอ.นรีลักษณ์ กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่าสังคมไทยเปิดกว้างในเรื่องเพศสภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในอีกหลาย ๆ มุม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ส่วนประเด็นหลัก ๆ ที่ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วในร่างพรบ.คู่ชีวิต แบ่งได้ 4 หมวด รวมทั้งหมด 46 มาตรา คือ

– หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนสมรส คู่รักสามารถจดทะเบียนกันได้ทั้งในและต่างประเทศ

– เรื่องความสัมพันธ์ของคู่รัก รวมถึงข้อตกลงในการดูแลซึ่งกันและกัน

– การเลี้ยงดูบุตรและสิทธิต่าง ๆ

– เรื่องการจัดการมรดกของคู่รัก

แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็ยังต้องดูรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เพราะต้องปรับจูนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย เช่น เรื่องงบประมาณ บุคลากร สวัสดิการต่าง ๆ และเรื่องที่เป็นมิติทางศาสนา เป็นต้น

เรียกได้ว่าทุกเส้นทางที่จะเดินไปสู่การได้สิทธิและความเท่าเทียมอย่างแท้จริงของกลุ่ม LGBT ยังมีอุปสรรคตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางเลยทีเดียว

พูดง่าย ๆ คือ อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องราว 20 ฉบับ

          “แต่เราก็คาดหวังว่า จะสามารถสร้างความสมบูรณ์แบบให้กับสิทธิและความเท่าเทียมให้กับเพศทางเลือกได้ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า”

ความจริงแล้ว การเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมในไทย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกกำลังเรียกร้องกันอยู่ แต่กรณีศึกษาที่พบ บางประเทศใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ เช่น ที่อังกฤษ

แต่กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ก็ได้ศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หากมีการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด อาจจะถูกต่อต้านได้

ส่วนกรณีของไต้หวัน แม้เขาเลือกใช้วิธีทางลัดประกาศใช้กฏหมายภายในระยะไม่กี่ปี แม้จะสร้างความยินดีให้กลุ่มเพศทางเลือก แต่ก็ยังมีการต่อต้านอยู่ดี

แต่ก็น่าแปลกใจเหมือนกัน ในบางประเทศที่มีกฎหมายเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์แบบ กลับพบว่ามีคู่รักเพศทางเลือก รวมถึงคู่รักปกติชายหญิงมากมาย เลือกที่จะจดทะเบียนแบบคู่ชีวิต มากกว่าการสะสมรสแบบคู่สมรสซะอีก

ส่วนบริบทของสังคมไทยก็คงต้องค่อย ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแบบต่อเนื่อง  

จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในคนทุกกลุ่มในสังคมก่อน

การสร้างตัวตนให้กับกลุ่มเพศทางเลือกให้มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะขณะนี้ยังมีการต่อต้านอยู่ ไม่เฉพาะในโลกออนไลน์ ในสังคมทั่ว ๆ ไปก็ยังมีอยู่

“เรากำลังสร้าง Roadmap เพื่อนำไปสู่การมีสิทธิและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง และมีการสมรสที่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้น” ผอ.นรีลักษณ์กล่าว

หากย้อนไปช่วงก่อนที่จะมี Roadmap เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นเกิดจากมีคู่รักชายรักชายคู่หนึ่ง ต้องการจดทะเบียนสมรสที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2556 แต่ถูกปฏิเสธ จึงร้องเรียนไปยังสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การศึกษา และเกิดร่างพรบ.นี้ขึ้นมา

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต หากมีการประกาศใช้พรบ.ฉบับนี้จริง

ภายใต้พื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพของคน การมีพรบ.คู่ชีวิตสำหรับเพศทางเลือก ถือเป็นการสร้างความสุขให้กับคนในสังคมอีกทางหนึ่ง

เมื่อคนมีความสุขแล้ว ก็จะมีพลังในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพการงานได้ดี ส่งผลให้สังคมในภาพรวมดีขึ้นตามไปด้วย


Passion in this story