เห็นได้ชัดว่าวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้เราควรตระหนักถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และควรเริ่มรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย และเก็บออมมากขึ้นนั่นเอง
หากพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2563 นี้ คงหนีไม่พ้นต้นตออย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างแน่นอน ซึ่งทำเอารัฐบาลในแต่ละประเทศต้องงัดมาตรการ Lock Down ปิดเมือง ปิดประเทศ สั่งหยุดกิจการบางประเภทไปตาม ๆ กัน เล่นเอาธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ก็ยังหัวหมุน ล้มระเนระนาดกันเป็นแถบ ๆ เพราะกิจกรรมทางธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ ธุรกิจขาดรายรับ ส่งผล Cash Flow สะดุดในขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิม เป็นที่มาของแผน Zero OT, Leave without Pay หรือแม้แต่การ Lay Off พนักงาน พูดง่าย ๆ ว่าล้มกันเป็นโดมิโนเลยทีเดียว
แม้แต่ ฟิลิป โธมัส ศาสตราจารย์ด้านบริหารความเสี่ยงจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ก็ได้ออกมานำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า “วิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลพวงมาจาก COVID-19 นั้น อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโรค COVID-19 เสียอีก” ซึ่งก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีคนฆ่าตัวตายรายวันเพราะไร้ทางออกเรื่องปากท้องในภาวะ Economic Shutdown เช่นนี้
เห็นได้ชัดว่าวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้เราควรตระหนักถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และควรเริ่มรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย และเก็บออมมากขึ้นนั่นเอง ในวันนี้เราจะมาแนะนำการบริหารเงินที่ทำให้คุณมีสุขภาพทางการเงินที่ดี พร้อมรับมือกับทุกความไม่แน่นอนในชีวิตกัน
วิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลพวงมาจาก COVID-19 นั้น อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโรค COVID-19 เสียอีก
วางแผนให้รอบคอบ
เราควรวางแผนทางการเงินให้ครอบคลุมทั้งด้านค่าใช้จ่ายและด้านหนี้สิน ดังนี้
- บริหารค่าใช้จ่ายด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญ เพราะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือน เราจ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง และสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนใด เพื่อนำไปเก็บออมได้บ้าง อีกทั้งในปัจจุบันการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ยังสามารถทำได้อย่างง่ายดายโดยผ่านสมาร์ตโฟนอีกด้วย หรือแม้แต่การตั้งค่าเตือนหากเราใช้เงินเกินตัวก็ย่อมทำได้เช่นกัน ถือว่าตอบโจทย์การวางแผนได้ดีสุด ๆ
- เปอร์เซ็นต์ของการผ่อนชำระยิ่งน้อยยิ่งดี รู้หรือไม่ว่าเปอร์เซ็นต์ของการผ่อนชำระนั้นไม่ควรเกิน 30-40% ของรายได้ต่อเดือน เนื่องจากหากมีจำนวนหนี้สินผ่อนชำระต่อเดือนมากและเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านต้องสูญเสียรายได้ การนำเงินส่วนอื่นหรือเงินสำรองฉุกเฉินมาทดแทนก่อน อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นไม่พอเพียงได้
- วางแผนประกันสุขภาพ เพราะเรื่องสุขภาพไม่เข้าใครออกใคร รวมถึง COVID-19 ระลอกใหม่จะกลับมาอีกตอนไหนก็ไม่รู้ ดังนั้นเราจึงควรวางแผนประกันสุขภาพไว้ เพื่อใช้เงินส่วนน้อยในการปกป้องเงินส่วนมากหรือเงินสำรองฉุกเฉินของเรานั่นเอง ซึ่งในขณะนี้ก็มีประกันสุขภาพให้เลือกมากมาย ยอมจ่ายเพียงหลักพัน เพื่อรับการปกป้องครอบคลุมหลักแสน ดีกว่าเจอค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่แบบหัวหดที่จะสร้างภาระในระยะยาว
มีช่องทางรายได้มากกว่า 1 ทาง
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในอนาคตบ้าง ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่าไหมถ้าคุณมีรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง !?
เราสามารถสร้างรายได้จากการนำเอาความสามารถหรืองานอดิเรกที่ชอบทำเป็นประจำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น การจัดดอกไม้ การวาดรูป การเขียนคอนเทนต์ การใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ การเขียนโปรแกรม เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้เองมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ มากมายในการหางานฟรีแลนซ์เป็นอาชีพเสริมแบบนี้ หรือถ้าหากคุณยังไม่มีทักษะนั้น ๆ หรือต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ก็สามารถที่จะเรียนออนไลน์ได้อีกด้วย โดยมีคลาสเรียนออนไลน์เยอะแยะมากมายให้คุณเลือกสรร ไม่ว่าจะการใช้ Excel การตัดผม หรือแม้กระทั่งการอาบน้ำน้องสุนัขและน้องแมว
จริง ๆ แล้วการหารายได้เสริมนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คุณคิด เพียงเปิดใจและเพิ่มทักษะให้กับตัวคุณเอง คุณก็จะสามารถมีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับคุณมหาศาลได้ไม่แพ้กับอาชีพหลักเลย
เตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ในยามวิกฤต
เงินสำรองฉุกเฉินก็ถือว่าเป็นเงินออมประเภทหนึ่ง ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเงินก้อน เพื่อเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น การเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ขาดรายได้หรือรายได้ลดลง หรือแม้แต่การเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน เป็นการป้องกันการเกิดหนี้สินก้อนโต โดยที่เงินสำรองฉุกเฉินนี้ควรเป็นเงินออมก้อนแรก ก่อนที่จะเริ่มลงทุนอย่างอื่น และเงินออมฉุกเฉินนั้นควรมีให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายของตนเองอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี ซึ่งเงินออมฉุกเฉินควรเก็บไว้ในรูปแบบที่สามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน อาทิเช่น บัญชีออมทรัพย์ เงินฝากระยะสั้น 3-6 เดือน หรือแม้แต่กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น
วิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ นอกจากจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิดแล้ว การดูแลสุขภาพทางการเงินนั้นก็สำคัญเช่นกัน เพื่อไม่ให้การเจ็บช้ำจากการบริหารการเงินเกิดขึ้นอีก จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อน ๆ จัดสรรการบริหารการเงินให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ และส่งต่อวิธีการบริหารการเงินนี้ไปยังคนรอบข้าง เพื่อผ่านวิกฤตการณ์เหล่านี้ไปด้วยกันนะคะ
Category:
Tags: