เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเราจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ให้ได้ใช้กัน กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ได้มีมติเห็นชอบ พรฎ.เวนคืนที่ดิน และหลังจากนี้การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อปักหมุดแนวเวนคืนที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ในปี 2563 และเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และเปิดให้บริการในปี 2569

โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เริ่มต้นจากสถานีเตาปูนต่อจากสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ ลดระดับเป็นทางวิ่งใต้ดินเข้าสู่ถนนสามเสนผ่านสถานีรัฐสภา หอสมุดแห่งชาติ เลี้ยวเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศ แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรค์ เข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ จากนั้นเปลี่ยนเส้นจากใต้ดินเป็นยกระดับผ่านแยกจอมทอง ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ผ่านแยกพระประแดง สิ้นสุดเส้นทางที่ครุใน

รวมแล้วมีระยะทางกว่า 23.6 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร 10 สถานี ทางวิ่งยกระดับ 11 กิโลเมตร 7 สถานี ประกอบไปด้วย 1. รัฐสภา 2. ศรีย่าน 3. สามเสน 4. หอสมุดแห่งชาติ 5. บางขุนพรหม6. ผ่านฟ้า (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม) 7. สามยอด (เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) 8. สะพานพุทธ 9. วงเวียนใหญ่ (ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีแดง) 10. สำเหร 11. จอมทอง 12. ดาวคะนอง 13. บางปะกอก 14. ประชาอุทิศ 15. ราษฎร์บูรณะ 16. พระประเเดง และ 17. ครุใน

ทั้งนี้ยังมีอาคารจอดรถสองจุด 1.อาคารจอดรถสถานีบางปะกอก สูง 10 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 1,700 คัน และ 2.อาคารจอดรถสถานีราษฎร์บูรณะ มีสองอาคาร อาคารที่ 1 สูง 8 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 800 คัน อาคารที่ 2 สูง 10 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 900 คัน

นอกจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่เราจะได้เฮโลกันนั่งแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ซึ่งครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว ทั้งนี้รฟม. น่าจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลและลงนามสัญญาได้ ภายในเดือนตุลาคมนี้และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2563 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนี้ จะเริ่มต้นจากบางขุนนนท์ จุดตัด ถ.จรัญสนิทวงศ์ ผ่านโรงพยาบาล
ศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ ถ.ราชดำเนิน ถ.หลานหลวง ยมราช ถ.เพชรบุรี ถ.ราชปรารภ ถึงดินแดงเลี้ยวไปตาม ถ.วิภาวดีรังสิต ผ่าน กทม. 2 (ดินแดง) ไปเชื่อมสายสีน้ำเงินที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยมีระยะทางกว่า 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี และเป็นสถานีใต้ดินตลอดทั้งสาย

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เอกชนรายใดบ้างที่จะเข้าร่วมการประมูลสัญญารถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการนี้

 

หนึ่งในเอกชนที่จับตามองคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถึงความพร้อมในการเข้าร่วมยื่นซองประมูลและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งเห็นได้จากความพร้อมในการให้บริการ MRT ที่ผ่านมา

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่าบริษัทเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะได้งานระบบ ขบวนรถไฟฟ้า บริหารเดินรถและซ่อมบำรุงทั้งสายทาง ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นอกจากนี้ยังสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงเดิมช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ที่บริษัทดำเนินการอยู่

ข่าวเกี่ยวกับ “สมบัติ กิจจาลักษณ์”

ประสบการณ์การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน การขุดเจาะอุโมงค์ รวมถึงการบริหารงานเดินรถ และจากที่บริษัทสามารถใช้ศูนย์ซ่อมร่วมกับบริเวณศูนย์ซ่อมสายสีน้ำเงินทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำ BEM พร้อมมากในการเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 โครงการ หากรัฐบาลเปิดให้เอกชนร่วมประมูล และเมื่อเปิดให้บริการจะสามารถทำให้ปริมาณผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าเติบโตถึง 10-20% ต่อปีได้ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ BEM ยังมั่นใจถึงพร้อมของบริษัทในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT หลังจากภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้ทุกเที่ยวของการเดินทางใน MRT ปลอดภัยห่างไกลจากโควิด

BEM ยังคงให้ความร่วมมือภาครัฐดำเนินตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสและรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมเพิ่มมาตรการการดูแลด้านสุขอนามัย จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดสำหรับผู้โดยสาร มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในขบวนรถช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น เพิ่มรอบทำความสะอาดเช็ดถูพื้นผิวสัมผัส ร่วมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง และได้มีการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีการรักษาระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing ) บริเวณสถานีและในรถไฟฟ้า โดยเพิ่มขบวนรถเสริมเป็น 49 ขบวนและเพิ่มความถี่ในการเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น เพื่อลดความแออัดในขบวนรถไฟฟ้าและเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและส่วนรวม

ทั้งนี้ดร.สมบัติ ได้กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้าง ล่าช้าบ้างก็ต้องขออภัยและขอความเห็นใจ ซึ่งที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณผู้โดยสารที่ให้ความร่วมมือเต็มที่ อดทนและเข้าใจถึงความจำเป็นในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ รวมทั้งดูแลตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคน

 

อ้างอิง

Render Thailand

https://www.thebangkokinsight.com/299053/

https://mgronline.com/business/detail/9630000046108

https://www.bkkcitismart.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/03-feb-2020/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%81-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5-%E0%B8%A1%E0%B8%B4.%E0%B8%A2.%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B5-69

 

Passion in this story