ธนาคารยุค “New Normal” หรือความปกติใหม่ที่มากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของผลกระทบทางสังคม และผลกระทบทางธุรกิจ เช่น การทำงานอยู่กับบ้าน การต้องใส่แมสและพกเจลล้างมือติดตัว รวมถึงการถูกพักงานและเลิกจ้างและปัจจุบันทันด่วน แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและยากจะหลีกเลี่ยง

 

แต่ปัจจุบันยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้พูดถึง นั่นคือโควิด-19 มีผลกระทบต่อภาคการเงินอย่างไร…

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราพูดถึง เทคโนโลยีที่เข้ามา Disrupt ภาคการเงิน และสื่อหลายสำนักคาดการณ์กันว่า ธนาคารจะต้องปิดสาขา พนักงานจะตกงาน เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คน บลา บลา บลา….ท้ายที่สุดการปรับตัวของภาคการเงินก็เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ธนาคารมีการลดสาขา มีโครงการสมัครใจลาออก หรือ Early Retire  และการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายด้าน มาดูกันว่า “ผลกระทบจากการ Disruptive ภาคการเงินเมื่อผนวกกับโควิด-19 แล้ว จะเกิดซุปเปอร์ไต้ฝุ่นกับภาคการเงินหรือไม่”

ความปรกติใหม่ที่ไม่หวนคืน

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาที่ทุกคนต้อง Work From Home ได้ก่อให้เกิดความปกติใหม่นั่นคือ ทุกคนถูก Force ให้ใช้สมาร์ทโฟน ธุรกรรมทางการเงินแทบทุกอย่างที่ไม่ใช้การถอนเงินสดสามารถทำได้อย่างสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการซื้อขายกองทุน ซื้อขายหุ้น และประกัน

เมื่อทุกคนคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีแล้ว แม้โควิด-19 จะหายไป แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้วจะไม่กลับมาเหมือนเดิม นั่นจึงสะท้อนกลับมาที่ธนาคารว่า เมื่อคนลดการใช้บริการที่สาขา ธนาคารอาจจะต้องลดสาขาลงเพื่อลดต้นทุน ต้องลดพนักงานลงเพราะพนักงานก็ล้นสาขา

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุจำนวนการเปิดสาขาธนาคารพาณิชย์นับแต่ต้นเดือนมกราคม 2562 จนถึงมีมีนาคม 2563 พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบได้ปิดสาขาไปกว่า 358 สาขา (ไม่นับรวมธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ) สะท้อนถึงธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งคาดได้ว่า โควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบทำให้ธนาคารต้องพิจารณาปิดสาขาเพิ่มขึ้น

การลดสาขาและลดพนักงานของธนาคารจึงเป็นหนึ่งใน New Normal ที่จะเกิดขึ้น ในอดีตพ่อแม่มักจะสนับสนุนให้ลูกทำงานแบงก์ แต่วันนี้ไม่ใช่อีกต่อไป

ธนาคารก้าวสู่ยุค Data Analytic

เพราะรายได้หลักของธนาคารมาจากการรับฝากเงิน ปล่อยสินเชื่อ การเพิ่มประสิทธิภาพในการรับฝากและการปล่อยสินเชื่อจึงเป็นสิ่งที่ธนาคารพยายามทำให้ดีอยู่เสมอ

วันนี้ธนาคารแทบทุกแห่ง มีเครื่องรับฝากเงิน (CDM)ให้บริการกับลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของสาขา และเครื่องรับฝากเงินนี้เป็นช่องทางใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านการปล่อยสินเชื่อที่เคยเป็นจุดแข็งของธนาคาร แต่วันนี้ธนาคารกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากคู่แข่งที่ไม่ใช่ธนาคารด้วยกัน โมเดลธุรกิจของ แจ๊ค หม่า แห่ง Alibaba เจ้าพ่อ eCommerce รายใหญ่ของโลก ที่นอกจากจะเป็นช่องทางการค้าแล้ว ยังนำข้อมูลสถานะการเงินของผู้ค้ามาวิเคราะห์เพื่อให้สินเชื่อกับธุรกิจ โดย Alibaba รู้ว่า ผู้ค้าแต่ละรายควรได้รับสินเชื่อหรือไม่ มีความสามารถชำระหนี้ได้เท่าไร ควรได้รับสินเชื่อเท่าไร เรียกว่ารู้จักลูกค้าได้ดีกว่าลูกค้ารู้จักตัวเอง และ Alibaba ใช้ AI วิเคราะห์ เสนอสินเชื่อให้ลูกค้า อนุมัติและโอนเงินได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ธนาคารร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน ธนาคารทุกแห่งล้วนกลัว Alibaba เข้ามา Disrupt ธุรกิจ แม้กระทั่งแบงก์ชาติเองก็ยังไม่กล้าปล่อยให้ Alibaba ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่เรียกว่า Micro Finance ได้อย่างเสรี


บทความที่น่าสนใจ


อย่างไรก็ตาม ธนาคารหลายแห่งพยายามพัฒนาระบบให้ดีขึ้น เข้าใจลูกค้าให้ได้มากขึ้น เร็วขึ้น….โครงการ “ชิม ช๊อป ใช้” และ “เราไม่ทิ้งกัน” เป็น 2 โครงการสำคัญของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นโครงการที่เก็บ Data ของประชาชนครั้งใหญ่กว่า 30 ล้านคน โดยทั้ง 2 โครงการนี้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาระบบหลักในการจัดเก็บข้อมูล

ธนาคารกรุงไทยจึงถือแต้มต่อในการจัดเก็บข้อมูลประชาชนไว้ในมือ หากธนาคารนำมาต่อยอดเป็นกลไกในการปล่อยสินเชื่อจะเกิดอะไรขึ้น…

แน่นอนธนาคารจะก้าวสู่ยุค Data Analytic เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้า จะดีแค่ไหน ถ้าวันนี้คุณเดินเข้าไปที่สาขาแล้ว พนักงานสามารถเรียกชื่อเราได้อย่างสนิทสนม รู้ว่าวันนี้เรามาทำธุรกรรมอะไร และพร้อมเสนอสินเชื่อให้เราได้ทันที ธนาคารยุคดิจิทัลกำลังจะเบ่งบาน

ธนาคารยุคใหม่เคียงคู่ลูกค้า

อีกหนึ่งมิติของธนาคารที่เปลี่ยนแปลงสู่ New Normal นั่นคือ มุมมองของธนาคตารต่อลูกค้ากำลังเปลี่ยนไป….

เพราะธนาคารเป็นผู้ให้สินเชื่อ ธนาคารในยุคเก่าจึงกำหนดบทบาทตัวเองเป็น “เจ้าหนี้” ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อเป็น “ลูกหนี้” เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระธนาคารมีหน้าที่ในการ “ทวงเงิน” คืนกลับมาให้ได้ โดยที่ไม่สนใจว่า สถานะลูกหนี้จะเป็นอย่างไร

แต่ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มุมมองของธนาคารกับลูกค้าเปลี่ยนไป ธนาคารพยายามเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ยืดหยุ่นการชำระหนี้ให้ลูกค้ามากขึ้น ภาพของธนาคารยุคใหม่ที่จับมือเดินเคียงคู่กับลูกค้ากำลังเกิดขึ้น….New Normal ใหม่ของธนาคาร หากจำเป็นธนาคารพร้อมจะเสียบางอย่าง เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าเดินหน้าได้……

ธนาคารกำลังจะเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ กรอบความคิดใหม่ การทำงานรูปแบบใหม่ การปรับตัวตอบสนองต่อ Disruptive การลดคน-ลดสาขา เป็นความเจ็บปวดที่ธนาคารต้องก้าวผ่าน ก่อนจะเข้าสู่ธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มตัว

 

Passion in this story