“แอ่ด แอ่ด แอ่ด” เสียงการขยับของกลไกดังขึ้นจากหุ่นยนต์ต้นแบบ ทำให้อดนึกถึงฉากในหนังไซไฟที่มนุษย์ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไม่ได้ และดูเหมือนว่าเราจะเขยิบเข้าใกล้หนังไซไฟไปอีกขั้น เมื่อวงการสาธารณสุขบ้านเราได้คิดค้นและนำนวัตกรรมหุ่นยนต์มาใช้ในการแบ่งเบาภาระของแพทย์และพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

มีคนเคยกล่าวว่าในทุก ๆ วิกฤตจะเร่งให้เกิดการพัฒนาอะไรบางอย่าง และครั้งนี้ก็เช่นกันที่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เร่งรัดให้เกิดนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของบุคลกรทางการแพทย์และลดความเสี่ยงจากการทำงานของแพทย์และพยาบาล  เวสตี้ (Wastie) หุ่นยนต์เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลภาคสนาม และ ฟู้ดดี้ (Foodie) หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในหอพักผู้ป่วย หุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวนี้เป็นหุ่นต้นแบบจากความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมเราถึงจำเป็นจะต้องใช้หุ่นยนต์ในทางการแพทย์ด้วยล่ะ?

เรื่องนี้ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า ด้วยปริมาณขยะติดเชื้อจากหน้ากากและอุปกรณ์ในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังประสบกับปัญหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 และชุด PPE ขาดแคลน รวมไปถึงการขาดแคลนบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งทำให้ภาระงานหนักและมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 หุ่นยนต์ดังกล่าวจะสามารถรองรับงานหนักและงานที่เสี่ยงอันตราย (เช่น การเก็บขยะติดเชื้อ) ด้วยระบบการทำงานขนส่งในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ

เจ้าหุ่นยนต์ Wastie เก็บขยะติดเชื้อ ประกอบด้วย AGV แบบระบบนำทางด้วยแม่เหล็ก และแขนกล (CoBot) สำหรับยกถังขยะโหลดขึ้น การยกแต่ละครั้งได้สูงสุด 5 กิโลกรัม AGV สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 500 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที ใช้ระบบนำทางด้วยแม่เหล็ก โดยติดเทปแถบแม่เหล็กไว้ที่พื้นเป็นเส้นนำทาง


บทความที่น่าสนใจ


ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการเอจีวีแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสำหรับงานบริการในสถานประกอบการสาธารณสุข กล่าวถึงระบบการทำงานว่า หุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปตามแนวเส้นนำทาง โดยมีตัวตรวจจับทำให้การเคลื่อนที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ เมื่อถึงจุดรับขยะ หุ่นยนต์จะอ่านบาร์โค้ดแล้วยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ ซึ่งจะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาการหยุดชะงักของการบริการขนส่งจากปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะส่งผลให้การขนส่งต้องล่าช้ามากกว่า 50%

พูดง่าย ๆ ว่า Pain Point อยู่ที่ขยะติดเชื้อซึ่งมนุษย์ไม่ควรจะไปสัมผัส การใช้หุ่นยนต์จึงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการเก็บขยะติดเชื้อเหล่านี้ของบุคลากรในโรงพยาบาลนั่นเอง

ส่วนเจ้าหุ่นยนต์ Foodie ทำหน้าที่ส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย จะสามารถช่วยลดโอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง เช่น ผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 2 คนในการดูแล รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลที่แออัดและมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

หุ่นยนต์ Foodie

หุ่นยนต์ Foodie ใช้ระบบนำทางอัจฉริยะด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบ QR-Code Mapping มันสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 30-50 กิโลกรัม และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 8 เมตรต่อนาที หุ่นยนต์ประกอบด้วยชุดขับเคลื่อนที่นำทางด้วยการใช้กล้องอ่าน QR-Code บนพื้นและจะเคลื่อนที่ไปตามคำสั่งที่โปรแกรมเอาไว้ สามารถขนส่งได้ครั้งละมาก ๆ ซึ่งจะทดแทนการคนส่งด้วยมนุษย์ และกลไกที่ถูกออกแบบมาให้ส่งถาดอาหารเข้าสู่จุดหมายโดยปราศจากมนุษย์มาเกี่ยวข้อง มันสามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังห้องผู้ป่วยหรือเตียงผู้ป่วยในวอร์ดได้ประมาณ 200 คนต่อวันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ จุดเด่นของหุ่นยนต์เวสตี้ (Wastie) และหุ่นยนต์ฟู้ดดี้ (Foodie) อยู่ที่ความสามารถในการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักได้มากกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป คุ้มค่า และประหยัดเวลาในการขนส่งอาหาร ยา และอุปกรณ์ต่าง ๆในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมีความแม่นยำในการขนส่ง สามารถหยุดตามสถานี และมีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งเส้นทางใหม่

นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล หนึ่งในทีมผู้วิจัยและรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยโครงสร้างของหุ่นยนต์ที่มีความแข็งแรงและทำงานได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับลักษณะงานของโรงพยาบาล นวัตกรรมหุ่นยนต์นี้จะช่วยทดแทนแรงงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเรื่องของการขนส่งได้มากกว่า 30%

อย่างไรก็ตาม มีเสียงท้วงติงขึ้นมาว่า หุ่นยนต์เหล่านี้จะมาแทนที่บุคลากร และทำให้คนตกงานรึเปล่า?

หากดูกันดี ๆ จะพบว่าภาระงานที่ใช้หุ่นยนต์เหล่านี้มาจัดการแทนมนุษย์ ล้วนแต่เป็นงานที่มีความเสี่ยงจะเป็นอันตรายกับมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บขยะติดเชื้อหรือการขนส่งยาและอาหารให้แก่ผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง แถมยังเป็นการประหยัดบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้ไปใช้กับงานอื่นที่สำคัญและจำเป็นมากกว่าได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวลว่าคนจะตกงานเพราะหุ่นยนต์หรอกนะครับ

หุ่นยนต์ Wastie

จากภาวะวิกฤต COVID-19 โรงพยาบาลในประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการนำนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณสุขในโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการรักษาพยาบาล ความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากร ช่วยลดต้นทุน ลดงานที่ซ้ำซ้อน จัดสรรทรัพยากรและบุคลากรในเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยทุกคนได้

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการพัฒนาการแพทย์ไทย ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะเป็นแบบหุ่นยนต์เดินขวักไขว่ในโรงพยาบาลเหมือนกันหนังไซไฟที่เราดูกันเป็นประจำก็ได้ บางทีโลกแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำเหนือจินตการ อาจจะมาถึงไวกว่าที่เราคิด

 

Passion in this story