การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 2 แสนคน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมราวๆ 3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม โรคอุบัติใหม่ครั้งนี้นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์มาแก้ปัญหา หนึ่งในความก้าวหน้าที่ได้เห็นกันแล้วคือ การพัฒนาหุ่นยนต์ทันสมัยขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ สามารถทำงานตามคำสั่งของแพทย์ได้อย่างแม่นยำ

ขณะนี้หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์เหล่านี้ถูกนำมาใช้งานเต็มรูปแบบแล้วในหลายๆประเทศแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ หรือแม้ประทั้งในเลบานอนก็มี หุ่นยนต์เหล่านี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามโครงการที่พัฒนาขึ้น แต่เป็นที่เข้าใจแบบรวมๆกันว่าเป็นการผสมระหว่างหุ่นยนต์และแพทย์ตัวจริง (Robot + Doctor)

สำหรับในประเทศไทยก็มีหน่วยงานต่างๆ จับมือกันพัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมาเช่นกัน หนึ่งในหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ที่ passion gen นำมาอัพเดทวันนี้คือ หุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า FACO นำทีมพัฒนาโดยหัวหน้าโครงการ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับเจ้าตัวหุ่นยนต์ FACO ตัวนี้ย่อมาจาก FIBO AGAINST COVID-19 ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้ในวอร์ดผู้ป่วย COVID-19 โดยเฉพาะ สร้างขึ้นจากความตั้งใจที่ต้องการจะช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ ในการปฏิบัติภารกิจต่อสู่กับเชื้อไวรัสตัวนี้

อาจารย์ชิต เล่าว่าการทำงานของหุ่นยนต์ FACO จะไม่ได้ไปทำการรักษาผู้ป่วย COVID-19 โดยตรง แต่จะมีหน้าที่ช่วยแพทย์เข้าถึงตัวผู้ป่วย เก็บข้อมูลผู้ป่วย โดยแพทย์จะควบคุมหุ่นยนต์จากห้องแลบแล้วสั่งการให้หุ่นยนต์ทำงานตามจุดต่างๆที่กำหนดไว้ การที่หุ่นยนต์สามารถใกล้ชิดกับผู้ป่วยทำให้ไม่เป็นอันตราย

นอกจากนี้แล้ว หุ่นยนต์ยังสามารถทำหน้าหน้าที่ไปส่งยาหรืออาหารถึงเตียงผู้ป่วยได้ด้วย แต่หากมีเคสที่จำเป็นหรืออันตราย แพทย์ก็ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองขึ้นอยุ่กับสถานการณ์ ทั้งนี้การนำหุ่นยนต์ไปใช้จริง ทีมงานจะต้องติดตั้งระบบไวไฟของตัวเองเท่านั้น เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะบางกรณีอาจจะมีการประชุมออนไลน์แบบเรียลไทม์

“การนำหุ่นยนต์นี้มาใช้ จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน จากการที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและอาจะติดเชื้อกลับมา หุ่นยนต์นี้เกิดมาเพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด” อาจารย์ชิต กล่าว

การพัฒนาหุ่นยนต์ FACO ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว จากการทุ่มเทและประสบการณ์ของทีมวิศวกรและนักวิจัย ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ฯแห่งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการใช้งานในวงการอุตสาหกรรมกว่า 300 ตัว ขณะนี้มีการใช้งานตามโรงงานต่างๆ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นหุ่นยนต์เพื่อให้เป็นผู้ช่วยแพทย์

ขณะนี้หุ่นยนต์ FACO พร้อมที่จะรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณหมอเต็มตัว และมีการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลหลายแห่งไปแล้ว เช่น รามาธิบดี ศิริราช พระมงกุฎเกล้า ในอนาคตจะส่งให้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ทั้งชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ขณะนี้กำลังฝึกให้แพทย์เรื่องการใช้งานอยู่จริงอยู่

อนาคตเมื่อมีความต้องการใช้งานระบบหุ่นยนต์ FACO มากขึ้น ฟีโบ้จึงหารือกับภาครัฐเพื่อจัดทำงบประมาณและออกมาตรการให้ผู้ประกอบการ System Integration (SI) ที่เป็นบริษัทของคนไทยหลายๆ แห่ง และรวมตัวกันอยู่แล้วภายใต้ สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics Association  : TARA) มาร่วมมือกันสร้าง ระบบหุ่นยนต์ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โดยฟีโบ้ยินดีเผยแพร่แบบพิมพ์เขียว Engineering Drawing พร้อมกับการควบคุมคุณภาพของระบบหุ่นยนต์ให้ได้ ความพยายามในขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนในการสร้าง อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศครับ ประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลเข้าใจเรื่อง government procurement และทำขบวนการเหล่านี้มานานแล้ว จนถือว่าเป็น crucial step ของการสร้างเทคโนโลยีของชาติไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์ได้ด้วยตนเองในที่สุด

การเปิดตัวหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ในประเทศไทยครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากต่างประเทศด้วย เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ NHK ของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจเข้ามาถ่ายทำรายการข่าว นำเสนอการทำงานของชุดระบบหุ่นยนต์ตัวนี้

นอกจากนี้โครงการหุ่นยนต์ FACO แล้ว ยังมีอีกโครงการที่เกิดขึ้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดตั้งโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด 19  เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาล ใช้ชื่อว่าหุ่นยนต์ Pinto

โครงการนี้ เกิดจากการทดสอบความต้องการจริงของแพทย์และโรงพยาบาลหลาย ๆ โรงพยาบาล ทีมงานนำรูปแบบหุ่นยนต์มานำเสนอหลายรูปแบบ ซึ่งพบว่าแพทย์และพยาบาลหน้างานต้องการ สิ่งที่ทำงานได้จริง ใช้ง่าย สะดวก ทำความสะอาดเชื้อได้ง่าย งบประมาณต่ำ ไม่กินพื้นที่ทำงาน ไม่เสียเวลาการติดตั้งมากนัก และควรเป็นระบบที่คุ้นเคยและเรียนรู้ได้ง่าย

จึงเกิดแนวคิดที่จะนำอุปกรณ์ที่ต้องใช้อยู่แล้วในโรงพยาบาล คือ รถเข็น ส่งอาหารผู้ป่วยมาปรับระบบการควบคุมการเคลื่อนที่ระยะไกลได้ นั่นคือที่มาของ หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต Quarantine Delivery robot พร้อมระบบสื่อสารดูแลผู้ป่วยระยะไกลกับแพทย์และพยาบาล Quarantine Tele-presence ได้ โดยเป้าผลิตจำนวน 100 ชุดเพื่อมอบให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับทีมวิจัยคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) จะช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี

โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์นี้สามารถทำงานร่วมกันได้มากกว่าหนึ่งตัวเพื่อตอบสนองคำสั่ง ในการตรวจสอบข้อมูลการทำงานในเชิงดิจิตอลในรูปแบบของการทำงานหุ่นยนต์ เช่น เวลาการบังคับของผู้ใช้งาน การระบุตำแหน่งหุ่นยนต์ที่มากกว่าหนึ่งตัวในระบบควบคุม

 

Category:

Passion in this story