ภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งที่บริเวณทวีปแอนตาร์กติกาเกิดการละลาย และแตกตัวออก ก่อให้เกิดความกังวลว่าหากกระบวนการดังกล่าวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นมากจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน และเมืองที่อยู่ตามชายฝั่งของทวีปต่างๆ
ในเดือนมกราคม 2563 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ที่คอยเฝ้าระวัง และติดตามความเปลี่ยนแปลงของทวีปแอนตาร์กติกา ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เจาะสำรวจ ณ บริเวณธารน้ำแข็งทเวทส์ (Thwaites Glacier) ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการละลายของน้ำแข็งสูง โดยที่ความลึกมากกว่า 2,000 ฟุต (ประมาณ 610 เมตร) พวกเขาก็ต้องตกใจ เพราะข้างใต้ธารน้ำแข็งนั้นกลับมีน้ำอุณภูมิสูงกว่า 2 องศาเซลเซียลไหลอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายว่าการละลายของธารน้ำแข็งทเวตซ์นั้นกำลังละลายในอัตราที่เร็ว และอาจจะมาถึงจุดที่ไม่อาจย้อนกลับได้แล้ว โดยก่อนหน้าไม่นานก็เพิ่งมีข่าวการค้นพบโพรงขนาดใหญ่ ซึ่งกว้างประมาณ 2 ใน 3 ของเกาะแมนฮัตตัน (ประมาณ 40 ตร.กม.) และมีความสูงมากกว่า 300 เมตร อยู่ใต้ธารน้ำแข็งทเวทส์เช่นกัน
ข้อมูลจาก International Thwaites Glacier Collaboration ระบุว่า ปริมาณของน้ำแข็งที่แตกตัวออกจาก ธารน้ำแข็งทเวทส์ และธารน้ำแข็งใกล้เคียง เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งทเวทส์ที่มีพื้นที่กว้างถึง 74,000 ตารางไมล์ ละลายลงทั้งหมด ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นถึงมากกว่า 0.6-0.9 เมตร และภายใน 100 ปีหลังจากนี้ หากแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกด้านตะวันตก (West Antarctica Ice Sheet) พังทลายลงทั้งหมด ระดับน้ำทะเลทั่วโลกก็จะสูงขึ้นประมาณ 3 เมตร
ข้อมูลจาก MSM CBSNEWS