มีหนังสือขายดีเล่มหนึ่งในต่างประเทศขณะนี้ ซึ่งสมควรแก่การพูดถึงในวาระวันเด็กของประเทศไทยพอดี นั่นคือ “Future Proof Your Child for the 2020’s and Beyond” เขียนโดย Nikki Bush และ Graeme Codrington ซึ่งปรับปรุงมาจากฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2009 ชื่อ “Future-proof Your Child: Parenting the Weird Generation”

พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ คนเป็นพ่อแม่มักรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจลูกหรือคนรุ่นลูกอยู่เสมอ เพราะช่องว่างระหว่างวัย และตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา ต้องนับว่าเป็นยุคที่ความแตกต่างปะทะกันแรงมาก จนเด็ก ๆ รุ่นนั้น ได้ฉายาว่าเป็นพวก “ประหลาด” หรือ weird gen กันเลยทีเดียว

ปัจจุบัน ความรู้สึกแปลกประหลาดระหว่างรุ่นอาจคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงไม่ง่ายสำหรับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมือใหม่ที่จะเข้าใจลูกหลาน

แม้ครอบครัวปากกัดตีนถีบทางเศรษฐกิจอีกจำนวนมากในประเทศไทยและทั่วโลกที่บรรดาพ่อแม่ปู่ย่าตายายของครอบครัวอาจบอกว่า ไม่มีเวลานึกถึงเรื่องเข้าใจหรือไม่เข้าใจลูกหลาน ไม่มีเวลานึกถึงเรื่องการเลี้ยงลูกหลานให้ดีวิเศษตามตำราใด ๆ เพราะแค่ให้มีกินยังยาก แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การเลี้ยงหรือเตรียมตัวเด็ก ๆ ให้มีชีวิตรอดอย่างแข็งแรงทั้งทางกายทางใจย่อมเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด หรือหากพ่อแม่ตาย ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่ว่าจะยากดีมีจนอยู่แล้ว

ที่สำคัญมันยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ที่จะเอื้ออำนวยโอกาสต่าง ๆ ของชีวิตตั้งแต่สุขภาพอนามัยไปจนถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

น่าสนใจว่าวิธีการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ในหนังสือ “Future Proof Your Child for the 2020’s and Beyond” ไม่จำกัดว่าเฉพาะพ่อแม่คนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นที่จะทำได้ และไม่ได้บอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ อีกทั้งไม่ได้บอกว่า ต้องปั้นลูกเป็นอัจฉริยะ ถ้าทำไม่ได้คือพ่อแม่ด้อยความสามารถ

แก่นแกนของเนื้อหาที่หนังสือย้ำ มีเพียง ช่วยให้เด็กได้เติบโตเป็นคนเต็มคน

แน่นอนว่า พูดง่ายกว่าทำ แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ หากตั้งใจจะทำ

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ บุช และคอดริงตัน เป็นชาวแอฟริกาใต้ที่เชี่ยวชาญเรื่องเด็กและมีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งควรต้องบอกด้วยว่าขณะนี้ประเทศแอฟริกาใต้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นผลจากยุทธศาสตร์ 20 ปีของการสร้างฐานความรู้ผ่านกระบวนการศึกษา วิทยาศาสตร์และงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อต่อกรกับปัญหาความยากจน การว่างงาน โรคระบาดและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

บุชและคอดริงตันบอกว่า เมื่อเด็กทุกคนเติบโตมาถึงขั้นที่รับรู้ความหมายของ “อนาคต” พวกเขามักมีคำถามเสมอว่า พวกเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อโตขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอาจตอบง่าย ๆ เหมือนเพลง “Whatever will be, will be (Que Sera Sera) ในรุ่นทศวรรษ 50 ของดอริส เดย์ (Doris Day) ที่ยังโด่งดังต่อมาอีกนานว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อย่ากังวลไปเลย (เพราะเราก็จะผ่านมันมาได้เหมือนที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายผ่านมาแล้ว)”

แต่ยุคนี้ คำตอบอาจไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะนี่คือศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนโลกเดิมของคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายอย่างกลับหัวกลับหาง

ไม่เพียงวิธีทำงานและสถานที่ทำงานเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่อาชีพต่างๆ และอุตสาหกรรมทั้งหมดก็กำลังถูกเขย่า เราแทบไม่สามารถพูดถึงความสำเร็จและล้มเหลวในแบบเดิมๆ ได้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงอาจตอบคำถามลูกหลานไม่ได้  เพราะพ่อแม่ผุ้ปกครองเองก็ยังคาดการณ์อนาคตไม่ถูก นึกไม่ออกว่าลูกหลานต้องการอะไร อยากทำอะไรหรือควรทำอะไรในอนาคตที่จะอยู่รอด

สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การถนอมลูกหลานเป็น “ไข่ในหิน”

แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยสร้างฐานที่แข็งแรงให้กับลูกหลาน

เพื่อขยายโอกาสการประสบความสำเร็จของลูกหลาน

กฎทองที่ผู้เขียนเสนอคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมเด็ก ๆ ให้เป็นคนเต็มคน นั่นคือ ให้เข้าใจตนเอง เข้าใจจุดเด่นและความสามารถของตัวเอง (ความสามารถของคนมีมากกว่าเรียนเก่งหรือสอบเก่งในวิชาใดวิชาหนึ่ง) ให้พยายามเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ให้สามารถมองโลกตามที่เป็นจริง รับรู้ว่าโลกไม่ได้มีแต่ด้านสวยงาม แต่คนช่วยกันทำให้สวยงามได้ และให้มีทักษะต่าง ๆในการดำรงชีวิตและการทำงาน พึ่งตัวเองได้ แก้ไขปัญหาได้ ไม่สิ้นหวังท้อถอย เป็นต้น

หากทำได้เช่นนี้ ก็ไม่ต้องกังวลกับอนาคตในอีกสามสิบปีข้างหน้าว่าลูกหลานจะรับมืออย่างไร เพราะเมื่อเด็กเติบโตเป็นคนเต็มคนที่เข้าใจตนเองและโลกแล้ว ความสามารถในการปรับตัว การยืดหยุ่นทางความคิดและการกระทำอย่างมีเหตุผลเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความคิดและการกระทำที่สร้างสรรค์ ย่อมตามมา

ผู้เขียนแนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจ มองเห็น และสนับสนุนความถนัดเฉพาะตัวของลูกหลาน เพื่อช่วยให้ลูกหลานแข็งแรงในระยะยาว

ไม่จำเป็นต้องปั้นลูกหลานเป็นอัจฉริยะ เพียงเปิดโอกาสให้ลูกหลานมีความสุข เป็นตัวของตัวเอง ได้เรียนรู้และพัฒนาความสนใจ ความถนัดของตัวเองอย่างสบายใจ เมื่อเด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่ถูกบีบบังคับ สมองของเด็ก ๆ จะสามารถเติบโตและทำงานได้เต็มตามศักยภาพ

Category:

Passion in this story