อย่างที่จั่วหัวไว้เลย ที่อเมริกา บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ อย่าง JL Buchanan เลือกนำแนวคิด ROWE ซึ่งย่อมาจากคำว่า Results – only work environment หรือ การให้ความสำคัญต่อผลที่เกิดขึ้นและการทำงานของพนักงาน มากกว่า จะเพ่งมองว่า พนักงานทำงานที่ไหน และตอนไหน มาใช้ในองค์กร

Susan Hoaby ซีอีโอ ของ JL Buchanan บอกว่า เธอไม่แปลกใจหากไล่หน้าฟีดในอินสตาแกรมแล้วเจอพนักงานโพสต์ว่า “ตอนนี้ ฉันอยู่ที่ปารีส” เธอบอกว่า หลักการบริหารจัดการ ROWE ที่บริษัทนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2009 มุ่งให้ความสำคัญกับ “การเชื่อใจกัน” เธอสามารถวางใจได้ว่า แม้พนักงานจะไปเที่ยว แต่จะมีงานส่งกลับให้เธอแน่นอน

ขณะที่ Jody Thompson เจ้าของแนวคิด ROWE ก็บอกว่า ภายใต้หลักคิดนี้ พนักงานแต่ละคนจะได้รับความไว้วางใจจากองค์กรแบบเต็มร้อยเปอร์เซนต์ รวมถึงมีอำนาจการตัดสินใจเต็มเปี่ยม ในการจัดการงานของตัวเองให้เสร็จเรียบร้อย แม้ว่า สำนักงานที่เป็นกายภาพจะยังต้องมีอยู่ แต่อันที่จริง ความต้องการพื้นที่สำนักงานในลักษณะนี้ ก็ลดน้อยลงทุกขณะ

ผู้เขียนก็เห็นว่าจริง คนทำงานสมัยนี้ สามารถทำงานได้ทุกที่ ขอแค่มีสัญญาณไวไฟ เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ อย่างที่เราเห็น โค-เวิร์กกิ้งสเปซ ผุดขึ้นในที่ต่างๆ หรือในร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่มีเน็ตแรงๆ ให้ใช้ก็ดึงดูดคนเข้าไปนั่งทำงานไม่น้อย ที่สำคัญ เจ้าของ ผู้ประกอบการ ก็ลดภาระค่าใช้จ่าย “สำนักงาน” ไปได้ไม่น้อยเลย และพนักงานยังไม่ต้องวุ่นวายใจกับการที่ต้องพาตัวไป “สำนักงาน” เพื่อทำงาน ทำให้สามารถเพ่งความสนใจและทุ่มเทกับการสร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้น ในสภาพพื้นที่ทำงานที่เลือกได้หลากหลายไม่จำเจ

ผลที่เกิดจากการนำแนวคิด ROWE มาใช้ ที่ JL Buchanan คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานดีขึ้น ตลอดจนผลิตผลการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานก็ล้วนแต่เพิ่มขึ้น และแน่นอน…. ผลกำไรและยอดขายขององค์กรก็ขยับดีขึ้นด้วยเช่นกัน

การจะนำแนวคิดนี้มาใช้ให้เกิดผล อย่างแรกต้องทลายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า พนักงานที่ดี คือ คนที่มักนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะทำงานออกไปก่อน แบบนี้ จะทำให้คนทำงานที่บางครั้งอาจมีภาระต้องไปจัดการเรื่องลูกๆ ที่โรงเรียนในช่วงเที่ยงวัน หรืออยากจะขอไปออกกำลังกายสักหน่อยตอนหลังพักเที่ยงก็จะไม่รู้สึกผิด รวมถึงยังยุติคำถามที่มักเกิดขึ้นเวลาใครหายไปจากสำนักงาน ซึ่งมักเป็นคำถามที่มีน้ำเสียงแห่งความตำหนิอยู่ในที ที่พีกสุดๆ คือ พนักงานสามารถหยุดพักร้อนได้ไม่จำกัดวัน และไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ถือเป็นการให้อำนาจเต็มแก่พนักงาน

แล้วถ้าทำแบบนี้ เรายังจะคาดหวัง เก็บรักษาพนักงานคุณภาพไว้กับองค์กรได้หรือไม่ ข้อนี้ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะ Greg Watt แห่ง WATT Global Media บริษัทที่ให้บริการด้านการตลาดและข้อมูลในอุตสาหกรรมการเกษตร และนำหลักคิด ROWE มาใช้ตั้งแต่ปี 2012 บอกว่า เดิมทีเขาก็เคยกังวลเรื่องนี้ แต่ปรากฎว่า ไม่เพียงแต่อัตราการเก็บรักษาพนักงานคุณภาพไว้กับองค์กรจะดีขึ้น แต่สิ่งนี้ ยังกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรับคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานด้วย (แน่นอน เป็นเราก็อยากทำงานกับองค์กรที่ดูแต่ผลของงาน ไม่ดูว่า เราต้องปรากฎตัวในสำนักงาน แต่สมองว่างเปล่า เท่านั้น)

Watt ย้ำว่า การที่นั่งก้นติดเก้าอี้ตลอดเวลาไม่ได้แปลว่า จะทำงานได้ดี มันเป็นแค่ความเข้าใจว่า จะเป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับเจ้าของแนวคิด ROWE Thompson ที่บอกว่า พนักงานจะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและวิธีการวัดผลที่ชัดเจน และทุกคนต้องรู้ว่า จะได้รับการตอบแทนจากผลการทำงานตามเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร รวมถึงในองค์กรทุกคนจะถูกตัดสินด้วยเกณฑ์เดียวกัน เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นลูกรัก ลูกชัง ดูกันที่ตัวเนื้องานอย่างเดียวเท่านั้น จริงๆ

องค์กรที่มีระบบบริหารจัดการภายใต้หลักคิดนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดเป้าหมายเสียใหม่ จากเดิม เป็นการกำหนดโดยคนระดับบนในองค์กร ก็เปลี่ยนเป็นคนระดับล่างสามารถส่งเสียงสะท้อนไปถึงระดับบนในองค์กรและร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ขณะที่บทบาทของ ผู้จัดการ ก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม มาเน้นเรื่องการทำอย่างไรให้พนักงานแต่ละคนสามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จะช่วยจัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้การทำงานราบรื่นที่สุด นั่นก็คือ ผู้จัดการ ทำหน้าที่เหมือนกับ โค๊ช ที่ชี้แนะหนทางสร้างงานให้ประสบความสำเร็จต่อพนักงานแต่ละคน

รูปแบบการทำงานภายใต้หลักคิดนี้ ไม่เพียงช่วยจัดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว แต่ยังเป็นการผนวกรวมชีวิตและงานให้เดินไปด้วยกันได้อย่างดี อิสระที่พนักงานได้รับ ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะทำงานได้น้อยลง แต่ทุกๆ ชิ้นงาน จะเปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้นต่างหาก

และนี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์การทำงานที่กำลังเกิดขึ้น ไม่แน่ว่า เราจะได้เห็นในบ้านเราบ้างในอนาคตอันใกล้


Source
These employees don't care when or where you work : cnn.com : October 18, 2019

Category:

Passion in this story