ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า “บูลลี่” หรือการระราน ข่มขู่ กลั่นแกล้ง รังแก ทำให้คนอื่นอับอายในที่สาธารณะจะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย แต่หลังจากมีข่าวติด ๆ กันจากต้นปีถึงปลายปีเรื่องนักเรียนมัธยมปลายฆ่าตัวตายเพราะโดนเพื่อนล้อว่าอ้วน, นักเรียนมัธยมต้นยิงเพื่อนตายเพราะโดนเพื่อนตบหัวเยาะเย้ยว่าผิดเพศ และนักเรียนประถมปลายผูกคอตายเพราะโดนเพื่อนล้อว่ายากจน หน้าตาน่าเกลียด ฯลฯ

ไม่แปลกที่สังคมไทยจะตื่นตัว ให้ความสนใจกับเรื่อง “บูลลี่ (bully)”

ยิ่งดูสถิติเรื่องนี้จากกรมสุขภาพจิต จะยิ่งน่าตกใจว่าในปี 2561 มีนักเรียนไทยโดนบูลลี่ในโรงเรียนสูงถึง 600,000 คนหรือคิดเป็น 40% ของนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

นี่ยังไม่นับการบูลลี่ที่เกิดขึ้นกับคนโต ๆ ในสถานที่ทำงาน และการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศทุกวัยจนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ข้อเขียนวันนี้ passion gen จึงว่าด้วยเรื่อง “บูลลี่” ล้วน ๆ ตั้งแต่ที่มาของพฤติกรรม ไปจนถึงวิธีรับมือของผู้ที่โดนบูลลี่เพื่อให้สามารถลุกขึ้นยืนหยัดได้ใหม่ และ วิธีปรับพฤติกรรมของผู้ที่มักบูลลี่คนอื่น

บูลลี่คืออะไร ใครคือนักบูลลี่

บทความโดยกองบรรณาธิการ Psychology Today เมื่อต้นปี 2019 และวารสารวิชาการของ American National Association of School Psychologists อธิบายว่า บูลลี่เป็นรูปแบบพฤติกรรมซ้ำ ๆ ของการทำร้ายและทำให้คนอื่นรู้สึกอับอาย เป็นพฤติกรรมที่มุ่งกระทำต่อบุคคลที่อยู่ในสถานะ “อ่อนด้อย” กว่า ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อายุ หรือสถานภาพทางสังคม และพฤติกรรมดังกล่าวแสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา สังคม (แพร่ข่าวลือทางลบปากต่อปากหรือทางใบปลิว) และทางออนไลน์

งานวิจัยทางจิตวิทยาจำนวนมาก ระบุตรงกันว่า พฤติกรรมบูลลี่ “ไม่ใช่พฤติกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด” แต่พัฒนาขึ้นในช่วงขวบปีแรก ๆ  โดยเฉพาะระหว่างวัยทารกจนถึงวัยก่อนเข้าอนุบาลและพัฒนาอย่างรวดเร็วในวัยอนุบาล ซึ่งถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ช่วยปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม พฤติกรรมบูลลี่จะติดตัวเด็กไปจนโตเพราะเด็กเกิดการเรียนรู้ว่า บูลลี่ ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ

งานวิจัยอ้างว่า นักบูลลี่ส่วนใหญ่ไม่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (personal awareness) ไม่เข้าใจความรู้สึกตนเองอย่างถ่องแท้ ไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกหรือมุมมองของคนอื่น รู้เพียงสนองตอบความพึงพอใจฉพาะหน้าเท่านั้น และเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ (low self-esteem) หลายคนเติบโตในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ทักษะสื่อสารแบบเดียวที่รู้จักคือใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเอง พวกเธอ/เขา จึงมักมองหาคนอื่นที่ “อ่อนแอ” กว่ามากลั่นแกล้งทำร้าย เพื่อยืนยันความมั่นใจว่าพวกเธอ/เขา ยังคงเข้มแข็งและอยู่รอด

Victoria Costello นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ The Complete Idiot’s Guide to Child & Adolescent Psychology ร่วมกับ นายแพทย์ Jack C Westman เผยแพร่บทความเรื่อง How a Bully is Made ในเว็บไซต์ mentalhealthmomblog เมื่อปี 2018 อ้างอิงถึงบุตรชายของเธอ ซึ่งเคยเป็นเด็กเรียบร้อยแต่กลายเป็นนักบูลลี่เมื่ออายุ 14 ปี ว่า นอกจากวิธีเลี้ยงดู ซึ่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมบูลลี่แล้ว ยังมีสาเหตุที่ไม่ควรมองข้าม คือ ภาพยนตร์และรายการออนไลน์ต่าง ๆ ที่แสดงพฤติกรรมรุนแรงให้เด็กเลียนแบบ รวมถึงอาการเจ็บป่วยทางจิตในวัยรุ่น เช่น โรคจิตเภทสคิสโซฟรีเนีย (schizophrenia) และโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (antisocial personality disorder)  ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม

บูลลี่ในวัยผู้ใหญ่

Mary Lamia ดอกเตอร์ด้านจิตวิทยา เสนอมุมมองที่ต่างไปในบทความ “The psychology of a workplace bully” ของ “The Guardian” เมื่อปี 2018 ว่า ไม่จำเป็นเสมอไปว่านักบูลลี่จะประเมินคุณค่าตัวเองต่ำ เพราะเมื่อพวกเธอ/เขา พัฒนาพฤติกรรมบูลลี่ไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเธอ/เขา อาจรู้สึกภาคภูมิใจที่ผ่าน “ชีวิตขมขื่น” มาได้ด้วยความ “แข็งแกร่ง” ดังนั้น แม้ในทางจิตวิทยา พวกเธอ/เขา จะยังคงรู้สึกอับอายกับชีวิตที่ผ่านมา พวกเธอ/เขา ก็ต้องทำร้ายคนอื่นต่อไปเพื่อหลีกหนีความรู้สึกอับอายที่แสนเจ็บปวดนั้น

ในทัศนะของดอกเตอร์ลาเมีย เมื่อรับมือความรู้สึกอับอาย คนทั่วไปมักแสดงออกใน 4 รูปแบบ คือ ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง หลีกเลี่ยงการรับรู้ และ ถอนตัวจากสถานการณ์ นักบูลลี่ ใช้วิธีแรก และสำหรับนักบูลลี่ผู้รู้สึกว่ากำลังมีการแข่งขันในที่ทำงานแล้วเธอ/เขา ต้องเป็นฝ่ายแพ้ ก็จะเริ่มกลั่นแกล้งคนที่เธอ/เขา เห็นว่าเป็นคู่แข่ง

ส่วนคนที่โดนบูลลี่นั้น ดอกเตอร์ลาเมียชี้ว่า มักมีแนวโน้มจัดการกับความรู้สึกอับอายด้วยการทำร้ายตัวเอง ซึ่งยิ่งทำให้ตกเป็นเหยื่อของนักบูลลี่ เช่นเดียวกับคนประเภทถอนตัวออกจากสถานการณ์ซึ่งมักโดนนักบูลลี่แบล็กเมล์ได้ง่ายเช่นกัน

ในทางจิตวิทยา นักบูลลี่สร้างความอับอายให้คนอื่น ๆ ด้วยการขุดคุ้ยโจมตีจุดอ่อนโดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้คนนั้น ๆ รู้สึกอับอายอย่างมาก เช่น เรื่องทางเพศ หน้าตา รูปร่าง และฐานะทางเศรษฐกิจ

รับมือและปรับพฤติกรรมบูลลี่

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหลายคนเห็นตรงกันว่า พ่อแม่ โรงเรียน และสถานที่ทำงาน ช่วยแก้ปัญหาบูลลี่ได้ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการบูลลี่ เช่น

  • สร้างบรรยากาศความเข้าใจในชุมชนเรื่องการบูลลี่ ให้เกิดความรับรู้ว่าการบูลลี่ไม่ใช่เรื่องปกติ และ “ผิดกฎหมาย”
  • สร้างบรรยากาศให้ทุกคนในชุมชนสามารถใช้ชีวิตด้วยความ “มั่นใจ” กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งที่ไม่ทำร้ายผู้อื่น กล้าแสดงความไม่พอใจต่อนักบูลลี่ รู้ว่า “ความแตกต่าง” ของตัวเองทุกเรื่อง “ไม่ใช่ปัญหาน่าอาย” ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านเพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่าง หน้าตา หรือฐานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความคิดของผู้กระทำคือนักบูลลี่ ซึ่งไม่มีความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ และไม่จำเป็นที่เราจะต้องเสียใจหรืออับอายเพราะการกระทำของนักบูลลี่ซึ่งยังคงต้องเรียนรู้และปรับปรุงตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่า ใครที่โดนบูลลี่ ต้องอย่าปล่อยตัวเองให้เครียด จงพยายามวิธีจัดการกับความเครียด เช่น บอกเล่าปัญหากับผู้ที่ไว้ใจได้ หรือดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรงเข้าไว้ หรือมองตัวอย่างบุคคลที่เคยโดนกลั่นแกล้งแต่กลับประสบความสำเร็จ เป็นต้น

ส่วนวิธีไม่ยุ่งเกี่ยวกับบูลลี่ที่ดีที่สุด คือ “หลีกเลี่ยง” ไว้ก่อน ซึ่งต้องถือเป็น “ความฉลาด” หรือ “ปัญญา” ไม่ใช่ “ความอ่อนแอ” เพราะเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับเรื่องไร้สาระประเภททะเลาะกับอันธพาล ถัดมาคือ “หาเพื่อน” เพราะมีสถิติชี้ชัดว่านักบูลลี่จะไม่ยุ่งกับคนมีเพื่อนหรือคนที่ไปไหนมาไหนกับเพื่อนเป็นกลุ่ม

นักจิตวิทยาเสนอว่า การ “รวมกลุ่ม” สู้กับนักบูลลี่ด้วยการเปิดโปงพฤติกรรมของนักบูลลี่ ไม่ว่าในโรงเรียนหรือสถานที่ทำงาน นอกจากช่วยให้คนโดนบูลลี่ปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้นักบูลลี่เติบโตในทางที่ดี เพราะได้เรียนรู้ความผิดหวังว่าเธอ/เขาไม่สามารถกลั่นแกล้งทำร้ายคนอื่นได้เสมอไป ได้เรียนรู้ว่าคนอื่น ๆ ก็แข็งแรงและมีอำนาจ และได้เรียนรู้ ซึ่งด้านหนึ่งอาจหมายถึงได้ทบทวนประสบการณ์ว่า การถูกกีดกันเป็น “ขยะสังคม” ให้ต้องอยู่โดดเดี่ยวนั้นเจ็บปวดเพียงใด และการทำตัวเองให้ตกอยู่ในสภาพนั้น หรือทำร้ายคนอื่นให้ตกอยู่ในสภาพนั้น ไม่ช่วยแก้ปัญหาใด ๆ

บางที เมื่อเจอเข้าจัง ๆ กับตัวเอง นักบูลลี่อาจตระหนักรู้ความผิดพลาด และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด

ปีใหม่นี้ขอให้ทุกคนแคล้วคลาดจากบูลลี่ มีชีวิตสดใสดีงามตามปรารถนา 


Category:

Passion in this story