เครือข่ายโกลบอลคอมแพคแห่งประเทศไทย หนึ่งในหน่วยของสหประชาชาติ (UN Global Compact Thailand) จับมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และชิ๊ฟท์ (Shift) องค์กรจากประเทศฟินแลนด์ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Valuing Respect Multi-Stakeholder Expert Consultation ที่กรุงเทพ มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอแพลทฟอร์มทางธุรกิจที่มีความเป็นสากล ให้แก่หน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจและ NGO ในประเทศไทย พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากภาคส่วนต่างๆในไทย เพื่อนำไปปรับปรุงแพลทฟอร์มดังกล่าวก่อนที่ประกาศใช้ต่อไป โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆดังกล่าวเข้าร่วมมากกว่า 50 คน

มาร์ค ฮอดจ์ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชิ๊ฟท์ และคณะ ได้นำเสนอแนวคิดการทำธุรกิจด้วยหลักสิทธิมนุษยชน โดยใช้ ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย หรอืประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังมีการระดมความคิดเห็นแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผล หลักการผู้นำ ความโปร่งใส วัฒนธรรม และความเสี่ยงทางด้านมนุษยชนอันเกิดจากการทำธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสังคม ซึ่งในต่างประเทศเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น Red flag ซึ่งหมายถึงการประกอบการธุรกิจใดๆต้องไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชน

การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยูเอ็นและพันธมิตร ในการส่งเสริมธุรกิจที่มีหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้เริ่มทำงานศึกษาวิจัยและสร้างตัวแบบทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแล้วในปี 2561 ที่ผ่านมา ในปี 2562 นี้เป็นปีแห่งการทดสอบตัวแบบและประมวลผล ซึ่งคาดว่าตัวแบบดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ในปี 2563

ทั้งนี้ ยูเอ็นได้เริ่มโครงการเครือข่าย Global Compact เมือ 19 ปีที่แล้ว โดยผนึกกำลังให้บริษัทต่างๆวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานให้สอดคล้องกับหลักสากลของยูเอ็น ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญคือ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายมากกว่า 9,500 รายในรูปบริษัท มีองค์กรเข้าร่วมกว่า 3,000 องค์กรจาก 160 ประเทศทั่วโลก

ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพครั้งนี้ องค์กรธุรกิจและภาคราชการของไทย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการทำธุรกิจและกรณีศึกษาผลกระทบเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น อินเดีย ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สปป.ลาว และประเทศอื่นๆ

เพื่อรับมือปัญหาการทำธุรกิจด้อยสิทธิมนุษยชน มาร์คและทีมงาน ได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากผู้เชี่ยวชาญภาครัฐและภาคธุรกิจในไทย ตัวอย่างข้อเสนอบางส่วน เช่น การใช้เวลามากเกินไปสำหรับการเก็บข้อมูล แต่กลับไม่ได้นำผลที่ได้ไปปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร ในบางกรณีปัญหาเชิงมนุษยชนอาจเกิดจากการกำหนดนโยบายการทำงานแบบครอบครัวตามสไตล์คนเอเชีย ซึ่งมักจะออกคำสั่งจากเจ้าของหรือผู้บริหารมากกว่าการระดมความเห็นของลูกจ้างเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ ยังพบว่าการจ้างแรงงานแบบรายวันทำให้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ การอนุมัติงานภาครัฐให้เอกชนเพียงเจ้าเดียว อาจเท่ากับเป็นการตัดสิทธิ์โอกาสทางธุรกิจผู้ประกอบการรายอื่นๆ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพื่อให้ได้ซื้อสินค้าราคาถูกถูกมองเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม และการทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและรีสอร์ท ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรส่วนรวม เช่น ทะเลหรือชายหาด แต่กลับเป็นตัวสร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และน้ำ เป็นต้น


Category:

Passion in this story