ปีใหม่กำลังจะมาถึง ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ชีวิตของเราที่ดำเนินไป ล้วนแต่ต้องได้รับแรงบันดาลใจมาจากใครหรือจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรืออาจจะหลายเหตุการณ์ก็เป็นได้ ดังเช่นผู้เขียน รู้สึกดี และมีกำลังใจดำเนินชีวิต จากเรื่องราวที่ผู้หญิงทั้ง 5 คนต่อไปนี้ คิด ริเริ่ม ลงมือทำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกของเราในบริบทต่างๆ
เกรตา ธันเบิร์ก – หยุดเรียนไปประท้วงโลกร้อน
เพราะไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง No one is too small to make a difference คือ หนึ่งในถ้อยคำที่ผู้คนจดจำได้จากเธอ ผู้ริเริ่มการหยุดเรียนไปนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาของสวีเดน เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ของประเทศ ลุกขึ้นมาจริงจังกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เธอมองว่าเป็นต้นตอของหายนะภัยที่โลกกำลังเผชิญ และเป็นปัจจัยทำลายอนาคตของคนรุ่นเธอและคนรุ่นต่อๆ ไป
การหยุดเรียนเพื่อประท้วงโลกร้อน ภายใต้แคมเปญ Friday for Future สร้างความสนใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลุกขึ้นมาเรียกร้องผู้ใหญ่ในประเทศของตนให้ใส่ใจและจริงจังกับการหาหนทางแก้ไขปัญหานี้มากขึ้นด้วย เพื่อส่งมอบอนาคตที่ดีอย่างมีความรับผิดชอบต่อคนรุ่นหลัง
ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ข่าวที่เกี่ยวกับ “โลกร้อน” หรือผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่มีต่อ คน สัตว์ พืช ในระบบนิเวศต่างๆ ได้รับการเผยแพร่อยู่เนืองๆ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องจัดการกับมัน อย่างที่เธอ เยาวชน วัย 16 ปี จากสวีเดนคนนี้ ได้เปิดประเด็นให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่เราทุกคนต้องเกี่ยวข้องด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ซันนา มาริน – นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของฟินแลนด์
ความเป็นที่สุด มักเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมาใส่ใจในใครบางคน เช่นเดียวกับข่าวของเธอคนนี้ ซันนา มาริน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของฟินแลนด์ ที่มีอายุเพียงแค่ 34 ปี รั้งตำแหน่งผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดของฟินแลนด์และของโลก แต่ยิ่งไปกว่าเรื่องอายุกับการทำงานในแวดวงการเมือง ตั้งแต่การเมืองท้องถิ่น ในฐานะผู้นำสภาท้องถิ่นของเมือง ดัมเปเร บ้านเกิดของเธอ ขณะที่มีอายุเพียง 27 ปี จนก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนนาคม ก่อนได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สามของประเทศในที่สุด เธอยังมีสิ่งน่าทึ่งอีกหลายอย่างเมื่อเราได้รู้จัก….
การเติบโตมาในครอบครัวที่ต่างไปจากขนบทั่วไป การได้ร่ำเรียนในระบบการศึกษาที่ได้ชื่อว่า “ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” พร้อมกับมีโอกาสดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพที่ระบบสวัสดิการของรัฐมอบให้ การร่วมงานการเมืองกับพรรคที่มีแนวคิดส่งเสริม “สังคมแห่งความเท่าเทียม” ซึ่งเธอเองน่าจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงจากเรื่องนี้ จากสภาพครอบครัวที่ก่อนปี 2000 การพูดคุยหรือเปิดเผยเรื่องบ้านที่มีแต่แม่กับคู่รักหญิงของแม่ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะเป็นเรื่องแปลกในสายตาคนทั่วไป
การเปิดรับผู้ลี้ภัย ที่สะท้อนการให้ความช่วยเหลือที่ชาวโลกควรมีให้กัน และการใส่ใจให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก สะท้อนให้เห็นมุมมอง ทิศทางการนำพาประเทศไปสู่หนทางที่สร้างสรรค์ที่โลกต้องการ และน่าเชื่อว่า จะยังมีเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากการกระทำ หรือนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาจากรัฐบาลของเธออีกในอนาคต
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา – เมื่อเด็กเรียกร้องให้การเข้าถึงจิตแพทย์สามารถดำเนินได้โดยไม่ต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครอง
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สังคมสมัยนี้ ไม่ว่าจะในประเทศไทยของเรา หรือประเทศอื่นๆ รอบๆ เรา ผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่น ล้วนแต่เผชิญกับแรงกดดันในชีวิต ทำให้สะสมความเครียดไว้มาก ทุกข์กับชีวิตของตน และต้องการทางออกที่ดี จิตแพทย์ คือ หนึ่งในบุคลากรที่สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ แต่การเข้าถึง ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของผู้ใหญ่ ที่หลายคนอาจไม่ได้มองว่าสิ่งที่เด็กเผชิญคืออาการป่วยลักษณะหนึ่ง ไม่ยอมรับ ฯลฯ ทำให้อาการและปัญหาในใจของวัยรุ่นเลวร้าย บาดลึกลงกว่าที่ควรจะเป็น
จึงเป็นที่มา ทำให้เด็กคนนี้ ปราชญา แกนนำเยาวชน เลิฟแคร์คลับ และประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิ ลุกขึ้นมา เรียกร้อง รณรงค์ ให้เกิดการแก้ไขมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง มาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากรับรู้ปัญหาของเพื่อนที่มีสาเหตุมาจากพ่อแม่ของเพื่อนนั่นเอง
ปีนี้ นับเป็นปีที่สองที่มีการยื่นหนังสือรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเนื้อหาหนังสือที่ยื่นต่อ นายสาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข และน.พ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิตร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยบริการและบุคลากรในสถานพยาบาลตีความกฎหมายดังกล่าวไม่ตรงกัน จึงไม่ให้บริการตรวจและรักษาผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หากไม่มีผู้ปกครองยินยอม ขณะที่เครือข่ายฯมองว่าเจตนารมย์ของพรบ.สุขภาพจิต เปิดช่องให้บุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำและจ่ายยาแก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้ปกครอง ยกเว้นจะเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น
ทั้งนี้ ความสับสนในการตีความกฎหมาย ทำให้วัยรุ่นจำนวนมากที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตขาดโอกาสการรักษา หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้มีอาการรุนแรงจนทำร้ายร่างกายตนเองในที่สุด เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้กรมสุขภาพจิตทำหนังสือเวียนถึงโรงพยาบาลเพื่อชี้แจงแนวปฎิบัติให้ชัดเจน รวมถึงเรียกร้องให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลและขอให้มีตัวแทนเด็กและเยาชนในคณะกรรมการด้านสุขภาพจิต
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีกำลังเกิดขึ้น ดังที่ น.พ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิตร อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายหลังได้รับจดหมายจากเครือข่ายฯ ว่า เยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี สามารถเข้ารับการรักษาด้านจิตเวชได้เลยโดยไม่ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง ส่วนการให้ยารักษานั้น จะเร่งทบทวน พ.ร.บ. สุขภาพจิตฯ ต่อไป
ยูมิ อิชิคาวะ – แฮชแท็ก KuToo สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเพื่อผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่น
นานๆ ครั้งที่เราจะได้ยินเสียงเรียกร้องสิทธิจากผู้หญิงญี่ปุ่น และเมื่อมันเกิดขึ้นก็สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไม่น้อย ยูมิ อิชิคาวะ นักแสดงและนักเขียนอิสระ คือผู้ริเริ่มการรณรงค์ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานในสังคมที่บังคับให้ผู้หญิงต้องสวมใส่รองเท้าส้นสูงตลอดเวลาการทำงาน ภายใต้แคมเปญ #KuToo ที่เป็นการเล่นคำภาษาญี่ปุ่นระหว่างคำว่า kutsu ที่แปลว่า รองเท้า และคำว่า kutsuu ที่แปลว่า เจ็บ และยังล้อกับคำว่า MeToo ซึ่งเป็นแคมเปญแรกๆ ที่ผู้หญิงญี่ปุ่นออกมาบอกให้สังคมรับรู้กรณีถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
จากจุดเริ่มต้นที่เธอสงสัยเองว่า น่าจะเลือกรองเท้าได้ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือปวดเท้าเมื่อต้องใส่รองเท้าส้นสูงในเวลาทำงาน แต่แล้วเธอก็ตระหนักในภายหลังว่า เพื่อนร่วมงานชายสามารถสุขสบายไม่ทุกข์ระทมอะไรกับการสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย หรือพื้นแบบราบ ทำไมพวกผู้หญิงอย่างเธอต้องทนเขย่ง เกร็งเท้าตลอดทั้งวันแบบนั้น นี่คือหนึ่งในความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่เกิดขึ้นและเธอต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เธอได้ยื่นเอกสารพร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนราว 1.9 หมื่นรายที่ลงชื่อสนับสนุนแนวคิดของเธอผ่านเว็บไซต์ Change.org แก่กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนค่านิยมดังกล่าวในสังคม ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ ก็มีข้อมูลระบุว่า การสวมใส่รองเท้าส้นสูง ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงจากการลื่นล้ม ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นอันตราย ต่อ เท้า ขา และหลัง
การรณรงค์ที่เริ่มต้นเมื่อราวกลางปีนี้ เริ่มเป็นผลนำสู่การเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว เมื่อ ธนาคาร Sumitomo Mitsui ยกเลิก Dress codes ดังกล่าวแล้ว พร้อมกับเสียงขานรับจากผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่น ที่บอกว่า บริษัทหัวเก่าทั้งหลายอาจยังต้องการให้ผู้หญิงสวมใส่รองเท้าส้นสูงต่อไป แต่สำหรับบริษัทหัวก้าวหน้าและสมัยใหม่ มันจะไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน
โซซิบินี ทุนซี – สวยจากวิธีคิดและการอุทิศตน
เธอคือสาวงามจากแอฟริกาใต้คนที่สามที่คว้า ตำแหน่ง Miss Universe ได้สำเร็จในปีนี้ และทำให้ความงามแบบสาวผิวสีได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากเวทีดังกล่าวห่างหายนิยามความงามลักษณะนี้ไปนับจากปี 2011 แต่จุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ในการเข้าประกวดความงามของเธอผู้มีดีกรีจบการศึกษาด้านประชาสัมพันธ์และการจัดการภาพลักษณ์ รวมถึงเคยเข้าร่วมงานกับบริษัทสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่าง โอกิลวี่ เคป ทาวน์ คือ ใช้พื้นที่ดังกล่าวส่งต่อแรงบันดาลใจที่เธอเคยได้รับจากนางงามรุ่นพี่ ในการ “ทำ” เพื่อคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่สมควรได้รับเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เธอมองว่า เวทีประกวดและการได้รับตำแหน่งนางงามนี้จะทำให้เธอสามารถลดอัตตาของตนเอง และสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้ดีขึ้น สิ่งนี้ทำให้เธอผู้มาจากครอบครัวที่คุณแม่ใส่ใจสั่งสอนเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน และเคารพผู้อื่น ขณะที่คุณพ่อเป็นแบบอย่างเรื่องด้านการศึกษา การทำงานหนัก และความมีวินัย เป็นสาวสวยที่เราชื่นชมได้อย่างเต็มที่
sources - เปิดประวัติ เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยมหัศจรรย์ผู้เปลี่ยนโลกในวัย 16 ปี - Workpointnews.com 29 กันยายน 2562 - Greta Thunberg : Sweden climate change activist - bbc.com - สาวฟินแลนด์ วัย 34 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก - posttoday.com 10 ธันวาคม 2562 - รมต.สาววัย 34 ปี จ่อนั่งเก้าอี้ผู้นำฟินแลนด์ เป็นนายกฯ อายุน้อยสุดในโลก - thairath.co.th 10 ธันวาคม 2562 - ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เด็กสาวอายุ 14 ปี ผู้ยื่นขอแก้กฎหมายเพื่อเพื่อนที่มีอาการซึมเศร้า - thepeople.co 29 พฤศจิกายน 2562 - เด็กหญิงวัย 15 ปี เรียกร้องทบทวนพรบ.สุขภาพจิตฯ ช่วยเด็กซึมเศร้า - bbc.com 10 ตุลาคม 2019 - Women in Japan fight expectation to wear high heels with #KuToo movement - cbsnews.com 9 November 2019 - An interview with #KuToo founder Yumi Ishikawa - japantoday.com 5 August 2019 - Thousands back Japan high heels campaign - bbc.com 3 June 2019 - เปิดประวัตินางงามจักรวาล โซซิบินิ ทุนซี สาวผิวสีจากแอฟริกาใต้ - komchadluek.net 9 ธันวาคม 2562 - โซซิบินี ทุนซี นางงามจักรวาลที่ไม่เคยคิดว่าตนเองสวย - mgronline.com 9 ธันวาคม 2562
Category: