World Economic Forum (WEF) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกหรือ Global Competitiveness Index: GCI เมื่อเร็วๆนี้ พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 141 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ไทยได้คะแนนมากขึ้นจาก 67.5 คะแนนในปี 2561 เป็น 68.1 คะแนนในปี 2562
ที่น่าสนใจคือ ครั้งนี้ขีดความสามารถของสิงคโปร์ผงาดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง สามารถล้มแชมป์เก่าอย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ส่วนอันดับ 3-10 เรียงตามลำดับคือ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก แน่นอนว่าประเทศไทยยังห่างไกลอันดับต้นๆเหล่านี้ หนึ่งในดรรชนีชี้วัดที่เป็นตัวฉุดขีดความสามารถของประเทศ นั่นคือศักยภาพและความสามารถของคนไทยนั่นเอง
เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกในมิติทรัพยากรมนุษย์ พบว่าตัวชี้วัดด้านทักษะของคนไทย คะแนนลดลงจาก 63 เป็น 62.3 โดยอันดับลดลงจาก 66 เป็น 73 แต่ก็ยังอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นที่น่าสงเกตว่า สาเหตุหลักที่ทำให้อันดับของประเทศไทยทางด้านทักษะลดลง อาจเกิดจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และรวมไปถึงระบบการเรียนการสอน ที่ไม่ค่อยเน้นให้คิดเชิงวิพากษ์มากนัก
แม้ว่าดรรชนีอื่น เช่น ด้านสาธารณสุขของคนไทย ได้คะแนนดีขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9 โดยอันดับขึ้นจาก 42 เป็น 38 ของโลก แต่การมีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้นเช่นนี้ กลับไม่ช่วยให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันและทักษะดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆโดยทั่วไป เมื่อระบบสุขภาพดีขึ้น ประชากรในประเทศจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สอดคล้องกับสำนักข่าว South China Morning Post ที่ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ของคนจีนในช่วงปี 2008-2018 พบว่าคนจีนทำงานมากขึ้น เช่น ปี 2008 ผู้ชายทำงานแค่ 6 ชั่วโมง 26 นาที เมื่อเทียบกับปี 2018 ทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 7 ชั่วโมง 52 นาที ขณะที่ผู้หญิงก็ทำงานเพิ่มขึ้น 1.20 ชั่วโมงในช่วงเวลาเดียวกัน
จะว่าไปแล้วสังคมคนจีนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่แตกต่างไปจากสังคมไทย คนไทยและคนจีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ผู้คนจำนวนมากมีโทรศัพท์มือใช้อย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ คนจีนใช้เวลาอ่านหนังสือหรือศึกษาหาความรู้ทางออนไลน์มากกว่าคนไทย ขณะที่คนไทยใช้เวลาเล่นโทรศัพท์มือถือเพื่อความบันเทิงมากกว่า
เมื่อ 9 ปีที่แล้วคนจีนใช้เวลาในการดูทีวีอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 6 นาที แต่ปีที่แล้วลดเหลือเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที ที่น่าสนใจคือ เวลาที่ใช้กับใช้อินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000% สะท้อนถึงขีดความสามารถในการปรับตัว และใช้เทคโนโยลีของคนจีน
ย้อนกลับมาดูคนไทยอีกครั้ง จะเห็นว่าคนไทยจำนวนมากไม่ค่อยมีการปรับตัวในเรื่องการทำงานมากนัก เห็นได้จากการปฏิเสธอาชีพบางประเภท ปล่อยให้แรงงานต่างชาติทำแทน เพราะคนไทยยังติดนิสัยชอบความสะดวกสบาย แม้ว่านักธุรกิจและนักวิชาการต่างก็ออกมาเตือนเรื่องนี้ไว้นานมากแล้วก็ตาม
มาดูกันว่า นิสัยพื้นฐานบางประการของคนไทย ที่ถูกชาวต่างชาติแสดงความเป็นห่วง เช่น คนไทยไม่ค่อยรู้จักหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม ส่งผลให้ประเทศชาติล้าหลังไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เห็นได้ชัดๆเมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่น และที่เป็นประเด็นมายาวนานคือ ระบบการศึกษายังไม่ทันสมัย หากคนไทยสามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศได้มากกว่านี้ น่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขันกับนานาชาติได้ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่สามารถส่งออกคนไปทำงานในต่างประเทศทั่วโลก เพราะมีความสามารถเรื่องภาษานั่นเอง
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อมในเวทีโลก โดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือ ในเวทีการค้าระดับโลกของเพราะเรายังขาดทักษะการทำงานเป็นระบบมาตรฐานสากล เมื่อเทียบกับประเทศเล็กๆอย่างสิงคโปร์ ซึ่งแน่นอนว่าคนสิงคโปร์คือ ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่สามารถดันประเทศ ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถทางการแข่งมากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าหากมีการพัฒนาทักษะของคนในประเทศ และลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ อาจช่วยให้อันดับการแข่งขันที่ดีขึ้นได้ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ ควรดำเนินการมานานแล้ว
Category: