เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทง เรามักจะคุ้นเคยกับภาพผู้คนมากมายที่ต่างมุ่งหน้าไปยังริม 2 ฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง และตามแหล่งน้ำในสวนสาธารณะ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเป็นสุข เพื่ออธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอขมาพระแม่คงคา ก่อนจะปล่อยความทุกข์โศกโรคภัยให้ไหลลอยไปพร้อมกับกระทงตามประเพณีความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนาน

แต่… ก่อนคืนวันลอยกระทงจะผ่านพ้นไป ภาพที่น้อยคนจะได้พบเห็น ก็คือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยเกลื่อน กลายเป็นขยะและภาระให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บเป็นประจำทุกปี

เมื่อย้อนดูสถิติขยะกระทงในกรุงเทพฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า จำนวนขยะกระทงที่เก็บได้ตามแหล่งน้ำ อยู่ที่ประมาณเกือบ 1 ล้านใบ โดยล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2561) มีขยะกระทงที่เก็บได้ถึง 841,327 ใบ โดยยังมีกระทงโฟมปะปนอยู่ประมาณ 44,883 ใบ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.3 ส่วนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ มีพบอยู่ประมาณ 796,444 ใบ หรือร้อยละ 94.7

ปริมาณขยะกระทงที่มากมายมหาศาลเพียงชั่วข้ามคืนนี้ จะถูกหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเก็บให้หมดสิ้นก่อนเวลา 6 โมงเช้าของวันถัดไป

ขยะกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ง่าย จะถูกส่งเข้าไปที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (หนองแขม) ส่วนขยะกระทงโฟม จะถูกนำไปฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลาย ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 50 ปี

หลายคนอาจมีคำถามว่า ในเมื่อคนส่วนใหญ่หันมาใช้กระทงที่ทำวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ ทำไมต้องรีบเร่งจัดเก็บกันขนาดนี้ !!!

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ กระทงไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ล้วนส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ให้ข้อมูลระยะเวลาการย่อยสลายกระทงแต่ละประเภท ดังนี้
– กระทงจากมันสำปะหลัง ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– กระทงจากขนมปัง โคนไอศกรีม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน
– กระทงจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน
– กระทงจากกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือน

ซึ่งหากไม่รีบจัดเก็บให้เสร็จก่อนฟ้าสาง ภาพขยะกระทงที่ลอยเกลื่อน คงไม่ส่งผลดีต่อผู้ที่พบเห็นแน่ และหากขยะกระทงจมลงสู่เบื้องล่าง ก็จะเกิดการหมักหมมเน่าเสีย เป็นมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำได้

คำถามต่อมาคือ แล้วเราช่วยลดการสร้างขยะกระทง ในวันลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงนี้ได้อย่างไร ????

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกยุคปัจจุบัน เราสามารถลอยกระทงออนไลน์ โดยเลือกสถานที่ รูปแบบของกระทงได้ตามใจชอบ ซึ่งนอกจากจะไม่เหลือซากกระทงให้เป็นขยะให้เป็นภาระต่อผู้จัดเก็บแล้ว ยังไม่ต้องไปเบียดเสียดผู้คนจำนวนมากอีกด้วย

ส่วนใครที่ยังชอบบรรยากาศความครึกครื้นของผู้คน และดื่มด่ำไปกับแสงไฟของกระทงยามล่องลอยไปกับสายน้ำ ก็ควรเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย โดยอาจจะลดขนาดของกระทงไม่ให้ใหญ่จนเกินไป และลอยร่วมกัน เช่น ลอยเป็นคู่ (รัก) ลอยเป็นครอบครัว หรือ ลอยเป็นหมู่คณะก็ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่ดีให้คงอยู่แล้ว ยังช่วยอนุรักษ์แหล่งน้ำให้สะอาด เป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคาอย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อรักษาวัฒนธรรมและประเพณีดีๆ ให้อยู่คู่คนไทยไปตราบนานเท่านาน


Category:

Passion in this story