ผ่านไปแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ระยะ 1 หรือเฟส 1 ของรัฐบาลไทยยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลระบุว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยจ่ายเงินให้ประชาชนที่มาใช้สิทธิลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละ 1,000 บาท ไป “ชิม” “ช้อป” และ “ใช้” ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งต้องไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน

เป้าหมายคือดึงคนให้หันมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น ให้เงินกระจายไปตามภูมิภาคและเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ในนัยที่ว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

เฟส 1  มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 10 ล้านราย มียอดใช้จ่ายสะพัดกว่า 8,000 ล้านบาท ใน 19 วันแรกของโครงการ เฉพาะที่จังหวัดชลบุรี มีร้านอาหาร ที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2,700 แห่ง ทำให้ยอดการใช้จ่ายในพื้นที่ นับจากวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม อยู่ที่ 81 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานครซึ่งมียอดใช้จ่าย 164 ล้านบาท และอันดับ 3 คือจังหวัดสมุทรปราการ 54 ล้านบาท

เฟส 2  รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดและเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงปลายปี จากเดิมที่ให้สิทธิคนละ 1,000 บาท เปลี่ยนเป็นการคืนเงินให้ผู้ที่ใช้จ่ายถึงอัตราที่กำหนดแทน ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะสามารถชักชวนประชาชนให้ควักเงินจากกระเป๋าตัวเองมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น

หากขั้นตอนก่อนจะมาเป็น “ชิม ช้อป ใช้”  ซึ่งไม่ใช่ “ยุคโบราณ” ประเภทเกณฑ์ประชาชนมาเข้าแถวรับเงินที่ควบคุมระเบียบยากและตรวจสอบยาก แต่เป็น “สมัยใหม่” ที่ประชาชนต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆในการรับสิทธิ รับเงินและใช้จ่าย

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยี และ องค์การสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดทำระบบให้บริการ “ชิม ช้อป ใช้”  ก็คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นั่นเอง

ธนาคารกรุงไทย วางระบบการทำธุรกรรมและสนับสนุนหลากหลายโครงการของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นับแต่โครงการ “บัตรคนจน” ไปจนถึง ระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตุง” “เป๋าตัง”, พัฒนาและดูแลแพลตฟอร์มบัตรแมงมุม, M-Pass  ตลอดจนวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการ “ชิม ช้อป ใช้”  เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น คือการวางรากฐานเทคโนโลยีและดิจิทัลอีโคโนมีให้สังคมไทย เริ่มจากสร้างความเคยชินเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัลเพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสดยุคดิจิทัล 5.0  เตรียมคนไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการรับมือกับยุคทำลายล้างด้วยเทคโนโลยี (Disruption) และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับตัวเองได้ในอนาคต

เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำธุรกรรมทางการเงิน ผลคือรัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและไปถึงมือประชาชนในกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านมือตัวกลางหลายซับหลายซ้อนเหมือนอดีต ซึ่งเงินอาจรั่วไหลระหว่างทางจนไม่เหลือถึงมือประชาชน

ระบบเทคโนโลยีที่มีการสแกนหน้ายืนยันตัวตน รวมถึงร้านค้าที่ต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ช่วยป้องกันการสวมสิทธิหรือการทุจริตได้ค่อนข้างแน่นอนกว่า

สำหรับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” นี้ ทำให้ธนาคารกรุงไทยได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ล้านคน ซึ่งธนาคารสามารถนำ ของลูกค้าและร้านค้าที่เข้าร่วมกับโครงการไปต่อยอดการบริการได้อีกมากมายในอนาคต เพื่อพัฒนาการบริการให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคเป็นรายบุคคล

ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน IT (IT Structure) และโครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (Data Structure) คือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Open Banking ระดับคุณภาพ

การเป็น Open Banking ซึ่งหมายถึงการที่ธนาคารเปิดระบบให้ภาคธุรกิจอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อบริการทางการเงินและสร้างการทำงานแบบอัตโนมัติกับธนาคารได้ เข้าถึงข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าธนาคารภายใต้การยินยอมของลูกค้าได้ และนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแบบรายบุคคลได้

คือโอกาสก้าวสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของภาคธุรกิจการเงิน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

สำหรับโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” นั้น แม้มีความขลุกขลักและอุปสรรคอยู่บ้างในโครงการ ถ้าฟังจากเสียงสะท้อนของประชาชนที่บ่นกันระงม เช่น ลงทะเบียนไม่ได้ แอปพลิเคชันมีปัญหา ไม่สะดวกสำหรับประชาชน และ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการถอนตัวกระทันหัน

ก็ต้องนับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับสังคมไทยไปสู่สังคมดิจิทัล ทำให้เราเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศ

ตอนหน้าเราจะพาท่านผู้อ่านไปดูความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทย ว่ากรุงไทยได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการธุรกรรมทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างไร กรุงไทยและพันธมิตรร่วมมือกันอย่างไร เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และรับมือกับการทำลายล้างของเทคโนโลยีในยุค Digital Disruption


Category:

Passion in this story