Vollebak บริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังจากกรุงลอนดอน เป็นข่าวให้คนทั่วโลกตื่นเต้นอีกแล้ว เมื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุด เสื้อยืด “The Plant and Algae T- Shirt” ทำจากเยื่อไม้ (wood pulp) และสาหร่าย (algae) ซึ่งย่อยสลายได้เมื่อนำไปฝังดิน

เสื้อยืดที่ว่านี้ทอจากเส้นด้ายที่ผลิตจากเยื่อไม้ของต้นยูคาลิปตัส (eucalyptus) ต้นบีช (beech) และต้นสปรูซ (spruce trees) ส่วนสีเสื้อผลิตจากสาหร่าย (algae) ซึ่งบริษัทปลูกไว้ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor)

ภาพจาก : www.vollebak.com

“เราใช้วิธีส่งน้ำจากเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพผ่านตัวกรอง (filter) ซึ่งจะกรองแยกสาหร่ายออกมาเป็น สาหร่ายเข้มข้น (algae paste) ที่มีลักษณะเหมือนซุป จากนั้นก็นำไปตากแดดให้แห้งจนได้ออกมาเป็นผงละเอียด แล้วนำผงเหล่านั้นไปผสมกับสารยึดเกาะประเภทของเหลว (water-based binder) เพื่อผลิตเป็นน้ำหมึกสาหร่าย (algae ink)” เว็บไซต์ของ Vollebak รายงาน

สำหรับสีจากน้ำหมึกสาหร่ายนี้ จะค่อยๆ จางและเปลี่ยนสีไปตามกาลเวลาซึ่งนักออกแบบของบริษัท Vollebak บอกว่า สีบนเสื้อยืดทุกตัวจะแตกต่างกันไป หลังจากผ่านการซักหลายๆ ครั้ง

ภาพจาก : www.vollebak.com

เว็บไซต์ของบริษัทยืนยันว่า เมื่อใส่เสื้อ “The Plant and Algae T-Shirt” ผู้สวมใส่จะรู้สึกเหมือนใส่เสื้อยืดทั่วๆ ไป และไม่ต้องกังวลว่ากระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของเสื้อจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะกระบวนการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยเชื้อรา แบคทีเรีย และความร้อนจากพื้นดิน ถ้าต้องการให้เสื้อย่อยสลาย จะต้องนำมันไปฝังกลบไว้ในดินเท่านั้น

 

เสื้อยืด “The Plant and Algae T-Shirt” ซึ่งสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ภายใน 8-12 สัปดาห์นี้ เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อหวังจะใช้ควบคุม และลดปริมาณขยะสิ่งทอ (extile waste) ซึ่งตามรายงานของ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency: EPA) เผยว่าในปี ค.ศ. 2015 มีขยะสิ่งทอประมาณ 10.5 ล้านตันหรือ 7.6 % ของขยะที่ถูกฝังกลบใต้พื้นดินทั้งหมด ส่วนรายงานด้านความยั่งยืนของ มูลนิธิเอลเลน แมคอาร์เทอร์ (Ellen MacArthur foundation) บอกว่าการย้อมสีผ้าขนาดเพียง 2ปอนด์ต้องใช้น้ำมากถึง 25-40 แกลลอน ซึ่งทำให้ในละปีอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องใช้น้ำมากเกือบ 25 ล้านแกลลอน

ภาพจาก : www.vollebak.com
ภาพจาก : www.vollebak.com

แม้ปัจจุบันเสื้อ “The Plant and Algae T-Shirt” จะวางจำหน่ายในราคาสูงลิบลิ่วถึง 110 ดอลลาร์ แต่ทีมงานที่คิดเสื้อขึ้นมาก็เชื่อว่า แนวคิดนี้จะก่อให้เกิดกระแสการผลิตเครื่องนุ่มห่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

รายละเอียดในเว็บไซต์อธิบายเพิ่มว่า ไม้ถูกแปลงรูปเป็นเยื่อกระดาษและเส้นใยผ้าโดยกระบวนการผลิตแบบปิด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่า น้ำ และตัวทำละลายมากกว่า 99% จะถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ

ภาพจาก : www.vollebak.com

นอกจากนี้ เมื่อวัดด้วย The Higg Materials Sustainability Index (Higg MSI) หรือระบบตรวดวัดผลกระทบของการผลิตเส้นใยชนิดต่างๆ ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อภาวะโลกร้อน  ปรากฎว่าเส้นใยชนิดใหม่ได้ 10 คะแนน ดีกว่าผ้าฝ้าย (cotton) ที่ได้ไป 60 คะแนน ซึ่งในอนาคตทีมงานตั้งเป้าจะให้เหลือ 0 คะแนน

ก่อนหน้านี้ Vollebak ผลิตเสื้อยืดและเสื้อแจคเก็ตพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเรืองแสงได้ในที่มืดหลังจากนำไปตากรับพลังงานจากแสงแดด โดยเสื้อดังกล่าวยังสามารถกันน้ำ ถ่ายเทอากาศได้ดี และม้วนเก็บพกพาไปไหนมาไหนได้ง่ายอีกด้วย จนได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIME ว่าเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดของปี ค.ศ. 2018

ภาพจาก : www.vollebak.com
แปล และเรียบเรียงจาก
goodnewsnetwork
vollebak

…………………………………..

Category:

Passion in this story