ปัญหาอย่างหนึ่งของคนทำงานเป็นลูกจ้างหรือผู้บริหารคือ “ความสมดุลของชีวิตและเรื่องงาน” (Work-Life Balance) หลายคนชีวิตต้องพังเพราะหาความสมดุลตรงนี้ไม่เจอ หลายคนเครียด  เกลียดงาน กลายเป็นคนซึมเศร้า มีโรคประจำตัว เพราะชีวิตยุ่งเหยิง จับต้นชนปลายไม่ถูก

เรื่องนี้จะว่าไปแล้วเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่เหมือนบริษัทแต่ละที่จะมีคำพูดสวยๆ คำนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของพนักงาน แต่ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ว่าพนักงานจะหาสมดุลตรงนี้เจอได้อย่างไร จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในฐานะลูกจ้างมืออาชีพและผู้บริหาร ผมมีข้อคิดในเรื่องนี้ที่อยากแนะนำตามนี้ครับ

1. Set Goal

ชีวิตที่ไม่มีเป้าหมายจะเหมือนเรือที่เดินทางโดยไม่มีเข็มทิศ ลอยเคว้งคว้างไปมา เริ่มต้นโดยกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจนและให้สมดุลทั้งเรื่องงาน ครอบครัว ความรัก การเงิน สุขภาพ และจิตวิญญาณ ยิ่งเป้าหมายชัดเจนเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างกำลังใจให้เราอยากเดินเข้าถึงเป้าหมายให้เร็วขึ้นเท่านั้น

2. Prioritize

หัดจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆในชีวิต อย่าพยายามทำทุกเรื่อง เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ รู้ว่าเรื่องอะไรสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องรีบทำก่อน ยิ่งคนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

3. Learn to say “No”

เรียนรู้ที่จะปฏิเสธบ้าง โดยเฉพาะเรื่องที่เรากลั่นกรองแล้วว่าไม่สำคัญหรือยังไม่มีผลกับเป้าหมายที่เราวางไว้ บางคนปฏิเสธไม่เป็น รับทุกอย่างเข้ามาหมดและทำออกมาไม่ดีสักเรื่อง เรียนรู้ที่จะปฏิเสธอย่างสุภาพ ให้ทางเลือกหรือข้อแนะนำว่าจะทำเรื่องนั้นให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ในฐานะผู้บริหารผมกลับชอบพนักงานที่รู้จักปฏิเสธ แต่ให้มุมมองที่แตกต่าง

4. Work Smart

เรียนรู้ที่จะทำงานให้สมาร์ทขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมแนะนำให้สรุป To Do List ของงาน 3 สิ่งที่จะต้องทำให้เสร็จในอาทิตย์นั้นและโฟกัสความตั้งใจทุกอย่างที่จะทำงานนั้นให้บรรลุเป้าหมาย ผมไม่แนะนำให้มี To Do List มากเกิน 3 เรื่อง เพราะถ้ามากกว่านั้นแสดงว่าเรายังอาจจัดความสำคัญของงานไม่ดีพอ

5. Play your Role

เล่นให้สมบทบาทตีบทให้แตก ในที่นี้หมายถึงว่ารู้ตัวเสมอว่าสวมหมวกใบไหนอยู่ เช่น เมื่ออยู่ที่ทำงาน ก็ทำงานเต็มที่บนเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นเจ้านายที่เต็มที่กับลูกน้อง เมื่อกลับบ้านในบทสามีและผู้นำครอบครัวก็ต้องเต็มที่ในการดูแลความเป็นอยู่ของทุกคนในครอบครัว ในบทของลูกก็เต็มที่ในการดูแลพ่อแม่ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนหนึ่งคนสามารถมีหลายบทบาท แต่ไม่ควรเล่นหลายบทบาทในเวลาเดียวกัน รู้จัก focus พลังงานและความตั้งใจให้กับคนที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น

6. Nobody is perfect

อย่ายึดติดในความสมบูรณ์แบบ อย่าเปรียบเทียบความสุขของเรากับใคร หัดสร้างความพอใจในแบบฉบับของตนเอง เมื่อเราทำทุกเรื่องเต็มกำลังความสามารถของเรา ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าดีที่สุดแล้ว ยิ่งคนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะรู้เลยว่าทุกความก้าวหน้าคือการเข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปทุกที จะมีความพอใจและรักตัวเองมากขึ้น

7. Reward yourself

ลงทุนลงเวลากับคนรอบข้างไปแล้ว ต้องรู้จักลงทุนลงเวลากับตัวเองบ้าง เพราะเราอาจเป็นสามีคนเดียว ภรรยาคนเดียว หรือลูกคนเดียว ของคนในครอบครัวที่ไม่สามารถหาใครมาแทนได้ รู้จักแบ่งเวลามาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ และให้รางวัลตัวเองบ้าง เมื่อเรามีความสุข ความสุขของเราจะล้นไปถึงคนรอบข้างจนสามารถสัมผัสได้

ผมไม่แน่ใจว่าแนวคิดข้างต้นจะใช้ได้กับทุกคนหรือเปล่า แต่เป็นแนวคิดที่ผมใช้มาตลอดการทำงานในบทบาทลูกจ้างมืออาชีพและผู้บริหารที่ทำให้ผมสามารถจัดการเรื่อง Work-Life Balance ได้อย่างสมดุลระดับหนึ่ง หวังว่าข้อคิดข้างต้นจะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆ บ้างนะครับ

 

About the Author
ณรงค์ สีตลายน
อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติที่เรียกตัวเองว่าเป็น Think Tank หรือ
นักคิด นักวางแผน ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรในระดับ Big Chance 
ปัจจุบัน ณรงค์เป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาที่เป็น Think Tank ให้กับหลายธุรกิจ
ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับ Transformation

Category:

Passion in this story