นิยามของ “ความสุข” ของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนมีความสุขที่มีเงินเก็บจำนวนมาก  บางคนมีความสุขกับการท่องเที่ยว ซื้อของแพง ๆ  หรือมีเวลาพบปะเพื่อนฝูงหลากหลายกลุ่ม และบางคนอาจมีความสุขเพียงแค่อยู่บ้าน ได้ร่วมโต๊ะอาหารกับคนที่รัก หรือใช้เวลาอยู่คนเดียว แต่ในที่สุดแล้ว ไม่มีใครตัดสินใจแทนใครได้ว่าแบบไหนเป็นความสุขที่แท้จริง หรือเหมาะสมที่สุด

สำหรับ อัทธา พงศ์สุวรรณ  หรือ ลุงโก้ เจ้าของสวน “บ้านทุ่งลุงโก้” สวนเล็ก ๆ บนเนื้อที่  4 ไร่  ใน ต.บึงทองหลาง แถวลำลูกกาคลอง 11 จ.ปทุมธานี ในวันนี้ เขาพูดให้เราฟังอย่างเต็มปากเต็มคำว่า กำลังมี “ความสุข” จากสิ่งที่ตนเองเลือกและทำด้วยการอยู่กับธรรมชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังส่งต่อความสุขนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชนในการดำเนินชีวิต ผ่านรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสวนเกษตรแบบผสมผสาน จนได้รับใบรับรองการเป็นผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ตามหลักวิชาการเกษตรและมาตรฐาน PGS หรือ (Participatory Guarantee Systems) จากเครือข่ายตลาดสีเขียว ดำเนินการโดย สสส.

คุณโก้ หรือ ลุงโก้ ชื่อที่ลูกหลานมักเรียกกันจนติดปาก เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าจะมาทำสวนผักอินทรีย์และการทำเกษตรผสมผสาน “บ้านทุ่งลุงโก้” เขาเคยรับราชการเป็นทหารเรือมานานกว่า 18 ปี และใช้ชีวิตไปกับการกิน เที่ยว และดื่ม กระทั่งวันหนึ่งเจอมรสุมชีวิตที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และเกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความสุขในชีวิตคืออะไรและมาจากไหน และเขาได้ค้นพบว่าความสุขที่แท้จริงของเขาคือ การมีชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ  ไม่ใช่การอยู่ในพื้นที่ comfort zone จากชีวิตการรับราชการ

หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในชีวิตของคุณโก้ คือ พุทธธรรม ที่เขาได้ศึกษาทั้งจากการพบเจอพูดคุยกับคนปฏิบัติธรรม อีกทั้งช่วงหนึ่งในชีวิตรับราชการซึ่งเคยเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ยังได้เชิญ พระอาจารย์ชยสาโร  ศิษย์หลวงพ่อชา มาร่วมสนทนาธรรมะในรายการตลอดเวลา 1 ปีเต็ม จนซึมซับหลักการ และคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงได้คิดว่าชีวิตผ่านการทำบาปมามากและไม่อยากอยู่ในวัฎจักรเก่า ๆ อีกต่อไป

“ธรรมะช่วยจัดสรรความคิด ให้เข้าใจว่าจะทำอะไรให้ชีวิตมีความมั่นคงภายในและภายนอกได้อย่างแท้จริง”  

เขาจึงลาออกจากราชการ หันมาบุกเบิกพื้นที่ว่างเปล่าของบิดาที่จังหวัดปทุมธานี เป้าหมายแรก คือ การปลูกผักให้ครอบครัวและคนที่รักได้บริโภคอย่างปลอดภัย จนกลายมาเป็นสวนผักอินทรีย์และเกษตรผสมผสาน “บ้านทุ่งลุงโก้” ในปัจจุบัน

“ผมโชคดีที่หาคำตอบให้ชีวิตได้เร็ว เพราะถ้าคิดช้ากว่านี้ หรือคิดตอนอายุมาก อาจทำอะไรไม่ทัน” 

คุณโก้ เล่าว่า ผักที่ปลูกใน “บ้านทุ่งลุงโก้” ล้วนเป็นผักธรรมดาโตง่าย เพื่อจะไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ซึ่งนอกจากจะทำให้คนกินมีสุขภาพดีแล้ว กรรมวิธีการปลูกก็ไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน “บ้านทุ่งลุงโก้” มีนักเรียน นักศึกษา มากมายเข้ามาดูงานการวางรูปแบบสวนเกษตรอินทรีย์ แบบผสมผสาน ไม่เว้นแต่ละวัน

หากเป้าหมายของคุณโก้มีมากกว่านั้น เพราะนอกจากศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์  คุณโก้ยังวางแผนทำให้ “บ้านทุ่งลุงโก้” แห่งนี้ เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเด็กพิการตาบอด เด็กพิเศษ และเด็กๆ ทั่วไป เพื่อช่วยสร้างความสัมพันธ์และปลูกฝังเมล็ดพันธ์แห่งความรับผิดชอบในใจเด็กและเยาวชน เช่น จัดกิจกรรมร่วมเก็บผัก-ทำอาหาร ระหว่างเด็กตาบอดและเด็กๆทั่วไปซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเพื่อนๆ ผู้พิการทางตา

รวมถึงเตรียมพัฒนา “บ้านทุ่งลุงโก้” ไปสู่การจัดระบบ  Zero Waste  หรือ ขยะเหลือศูนย์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แห่งนี้ให้เหลือน้อยที่สุด

“ผมกำลังรอเตาเผาถ่านไบโอชาร์ (Biochar) จากเชียงใหม่ เอามาใช้เผาขยะเพื่อนำขยะทั้งหมดกลับไปใช้เป็นปุ๋ยหรือใช้ประโยชน์เรื่องการหมักปุ๋ยในหลาย ๆ รูปแบบ ซึ่งหากทำได้จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายเรื่อง Zero Waste มากขึ้น”

คุณโก้ ย้ำว่าวันนี้  “บ้านทุ่งลุงโก้” เลี้ยงตัวเองได้แล้ว เพราะมีผักและวัตถุดิบดี ๆ ให้ครอบครัวบริโภคได้ตลอดรวมถึงได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การไม่ใช้สารเคมีฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ ซึ่งจะส่งเป็นกุศลไปถึงชาติหน้าด้วย

“ที่ดินผืนนี้เป็นของพ่อแม่ เหมือนเราขอยืมท่านไว้ ถ้าเราดูแลพื้นที่ให้มีแต่สิ่งดีๆ สร้างหรือทำสิ่งที่มีประโยชน์ก็เหมือนเป็นการสะสมและสร้างเสริมบุญให้แก่พวกท่านไปพร้อมกันด้วย”

คุณโก้ ย้ำว่า การพัฒนา “บ้านทุ่งลุงโก้” ในวันนี้ ยังเป็นช่วงระยะเริ่มต้น อาจยังเดินหน้าในเรื่องต่างๆ ได้ไม่สมบูรณ์ แต่อย่างน้อยที่สุด “บ้านทุ่งลุงโก้” ก็ได้ตอบโจทย์ “ความสุข” ให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแล้ว

ส่วนในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร คงต้องรอดูกันต่อไป เพราะคุณโก้เอง ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า “ความสุข” รูปแบบนี้จะยั่งยืนเพียงใด เพราะความเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรม  และมนุษย์อาจทำได้ดีที่สุด เพียงทำให้ความเปลี่ยนแปลงสมดุลกับความเป็นไปของชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง    

Category:

Passion in this story